
ยาลดความอ้วนที่ชื่อว่า ‘ธรรมชาติ’
จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม... แต่ปัญหาโรคอ้วนในเด็กส่วนใหญ่นั้น
ปัจจุบันนี้ หากมองในแง่มุมของทางการแพทย์จะพบว่า การแพทย์ในปัจจุบันก้าวหน้าขึ้นมากในแง่ของความเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข วัคซีน การวินิจฉัยและการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากการเกิดและการเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคมะเร็งในเด็ก รวมถึงโรคติดเชื้อหลายชนิด เป็นต้น
ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของผู้คน การใช้ชีวิต และสิ่งแวดล้อมก็ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพกายของเด็กอีกมากมายที่คุณพ่อคุณแม่อาจมองข้ามไป เพราะสุขภาพกายเป็นพื้นฐานของการพัฒนาของสมอง เพื่อให้มีความพร้อมที่จะเล่นและเรียนรู้เพื่อมีพัฒนาการตามวัยที่ดีนั่นเอง ดังนั้นผู้เขียนจะมาเน้นย้ำถึง ’ปัญหาสุขภาพในเด็กปัจจุบัน’ ที่พ่อแม่อาจมองข้ามไป
ในปัจจุบัน สามารถกล่าวได้เต็มปากว่า เราไม่ขาดแคลนอาหารเช่นในอดีต คุณพ่อคุณแม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ง่าย แต่เราพบว่าเด็กไทยยังคงขาดสารอาหารในอัตราที่สูง โดย 3 อันดับแรกของสารอาหารที่เด็กไทยขาดมากที่สุด ได้แก่ ธาตุเหล็ก วิตามิน D และสังกะสี
สารอาหารทั้งสามชนิดส่งผลต่อการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสมองในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว พ่อหมอเป็นหมอโรคเลือดเด็ก จึงเน้นย้ำความสำคัญของธาตุเหล็กมาโดยตลอด สำหรับทุกคนในครอบครัว เพราะมิใช่เพียงเด็กเล็กที่ขาด แต่เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ก็ขาดเช่นกัน มิใช่แค่ธาตุเหล็กเท่านั้น แต่ตามข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ทุกช่วงอายุของคนไทยขาดสารอาหาร 3 ชนิดนี้เป็นอันดับต้น ๆ
⎯ ธาตุเหล็ก : เนื้อแดง เลือด ตับ ผักใบเขียวเข้ม
"ธาตุเหล็ก" ใช้ในการสร้างเม็ดเลือด รวมถึงกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกาย พบว่าเด็กไทยขาดธาตุเหล็กจนเกิดภาวะซีด 10 - 25% ขึ้นอยู่กับแหล่งข้อมูล ทั้งที่อาหารมีความสมบูรณ์มากขึ้น นัยหนึ่งคือ มีกลุ่มที่ไม่กินเนื้อสัตว์ กินยาก หรือเริ่มให้เด็กกินเนื้อสัตว์ช้า เมื่อเกิดภาวะซีด เด็กจะรู้สึกอ่อนเพลีย ส่งผลต่อการเรียนรู้ หากปล่อยไว้นานอาจกระทบต่อไอคิว ความฉลาด และความสามารถในการเรียนรู้
จึงเน้นย้ำให้พาลูกไปตรวจเลือดคัดกรองภาวะซีดตามวัยก่อนอายุ 1 ขวบเสมอ ซึ่งเป็นมาตรฐานของทั้งไทยและสากล ในขณะเดียวกันก็ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงให้เพียงพอด้วย
⎯ วิตามิน D : ตับ ไข่แดง ปลาที่มีไขมันสูง
ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามิน D ได้เองที่ผิวหนังจากการสัมผัสรังสียูวีจากแสงแดด แต่สิ่งที่ย้อนแย้งคือ ประเทศไทยมีแสงแดดจัด แต่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไทยยังขาดวิตามิน D กันมาก อาจเป็นเพราะเราสัมผัสแดดน้อยลง เช่น เดินออกไปนอกบ้านต้องกางร่ม ทาครีมกันแดด
ในขณะเดียวกัน เราก็บริโภคอาหารที่มีวิตามิน D สูงไม่เพียงพอ วิตามิน D มีความสำคัญต่อสุขภาพกระดูก ช่วยกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ และทำงานร่วมกับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid Hormone) เพื่อรักษาสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย นอกจากนี้ยังมีการค้นพบว่าวิตามิน D อาจส่งผลต่ออารมณ์อีกด้วย
สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ ในนมวัวมีแคลเซียมสูง แต่ไม่มีวิตามิน D สูง ดังนั้นทุกคนในครอบครัวควรได้รับแสงแดดที่เพียงพอ โดยเฉพาะแสงแดดอ่อน ๆ ตอนเช้าเป็นประจำ
⎯ สังกะสี : เนื้อสัตว์หลายชนิด อาหารทะเล
"สังกะสี" มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย ตั้งแต่กระบวนการเจริญเติบโตไปจนถึงระบบภูมิคุ้มกัน การขาดสังกะสีอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะผิวแห้ง ผื่นอักเสบ เบื่ออาหาร ท้องเสียรุนแรง และภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
เด็กที่ไม่ยอมรับประทานเนื้อสัตว์ต้องระมัดระวังภาวะขาดสังกะสีเป็นพิเศษ จากการศึกษาพบว่า เด็กไทยประมาณ 1 ใน 4 ขาดธาตุสังกะสี
การบริโภคอาหารที่มากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะอาหารจำพวกหวาน-มัน-เค็ม เช่น อาหารจานด่วนชนิดต่าง ๆ รวมถึงขนมหวาน ร่วมกับพฤติกรรมการนั่งนิ่ง ๆ กิน ๆ นอน ๆ ไม่ออกกำลังกาย ทำให้คนไทยประสบกับภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์จนถึงเป็นโรคอ้วนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด ‘โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง’ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น โรคเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ไม่เพียงเฉพาะในผู้สูงอายุ แต่โรคอ้วนในเด็กก็เป็นปัญหาสำคัญเช่นกัน
สาเหตุเกิดจากวิถีชีวิตในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต พื้นที่สำหรับให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรมลดลง โดยเฉพาะในเขตเมือง เวลาของพ่อแม่ก็ลดลงเนื่องจากภาระหน้าที่การงาน ปัญหาจราจร และภาวะเศรษฐกิจ ทำให้เด็ก ๆ ใช้ชีวิตนอกบ้านและเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต นอกจากนี้ ‘หน้าจอ’ ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน ทีวี วิดีโอเกม หรือสื่อสังคมออนไลน์ ล้วนทำให้เด็กใช้เวลานั่งนิ่งมากขึ้น ประกอบกับอาหารจานด่วนที่เข้าถึงได้ง่าย มีบริการส่งถึงบ้าน ร้านสะดวกซื้อที่พบได้ทุกมุมถนน และร้านขนมหน้าโรงเรียน ส่งผลให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีแนวโน้มน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
ดังนั้น พ่อแม่ควรใส่ใจกับอาหารที่ลูกรับประทานอยู่เสมอ สัดส่วนของผักและผลไม้ควรได้รับอย่างเหมาะสม ปริมาณน้ำมันที่บริโภคต่อวันไม่ควรเกิน 3 ช้อนชา ในเด็กอายุ 1-3 ขวบ และไม่เกิน 4 ช้อนชา ในเด็กอายุ 4-5 ขวบ (ตามคำแนะนำของกรมอนามัย) หลังอายุ 5 ขวบขึ้นไป ควรปรับสัดส่วนอาหารให้มีผักครึ่งหนึ่งของมื้ออาหาร เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์
ในขณะเดียวกัน ควรจัดบ้านให้ไม่มีขนมขบเคี้ยวที่เข้าถึงได้ง่ายเกินไป และพ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
● บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคกลัวอ้วนไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ
อุบัติเหตุ โดยเฉพาะการจมน้ำ ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของเด็กไทย โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมใหญ่ (ฤดูร้อน) สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การสอดส่องดูแลจากผู้ใหญ่ ไม่อนุญาตให้เด็กลงเล่นน้ำในที่ต่าง ๆ หากไม่มีผู้ใหญ่กำกับดูแล
พบว่า "เด็กเล็ก" มักจมน้ำในแหล่งน้ำที่อยู่ในบ้านและรอบบ้าน เช่น ถังน้ำ อ่างบัว ตุ่มน้ำ ร่องน้ำ หนอง คลอง และบึงที่อยู่ใกล้บ้าน ในช่วงเวลาที่ผู้ใหญ่เผลอ ผู้ปกครองต้องเน้นย้ำไม่ให้เด็กลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาดหากไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย และควรป้องกันไม่ให้เด็กเข้าถึงแหล่งน้ำได้ด้วยตัวเอง
ส่วน "เด็กโต" มักจมน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติจากการลงเล่นน้ำ ซึ่ง “การว่ายน้ำเป็น” ไม่ได้รับรองว่าจะปลอดภัย แต่การเรียนว่ายน้ำเพื่อให้เด็กสามารถดูแลตัวเองได้ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ หากเป็นไปได้ ควรมีอุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น ห่วงยาง เสื้อชูชีพ ที่พร้อมใช้งานไว้ใกล้ตัวเสมอ
รองลงมาคือ อุบัติเหตุทางจราจร หากขับขี่รถจักรยานยนต์ ควรสวมหมวกกันน็อกที่มีมาตรฐาน หากโดยสารรถยนต์ เด็กเล็กควรนั่ง คาร์ซีต (ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก) อย่างเหมาะสมเสมอ และปรับเปลี่ยนเป็น เบาะรองนั่ง (Booster Seat) เมื่อถึงวัยที่เหมาะสม แนะนำให้นั่งเบาะหลังเป็นหลัก และสามารถย้ายมานั่งเบาะหน้าข้างคนขับได้เมื่ออายุ เกิน 13 ปีขึ้นไป ที่สำคัญ เด็กไม่ควรขับขี่จักรยานยนต์ก่อนวัยอันควร กล่าวคือ ต้องมีใบขับขี่ก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัย
สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะสุขภาพกายของเด็กนั้นสำคัญมากต่อการเจริญเติบโต
✱ ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official ✱