184
“ฮีทสโตรก” ภัยหน้าร้อนที่ต้องระวัง

“ฮีทสโตรก” ภัยหน้าร้อนที่ต้องระวัง

โพสต์เมื่อวันที่ : March 31, 2023

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยสิ้นสุดฤดูหนาวและจะเริ่มเข้าฤดูร้อนในวันที่ 5 มีนาคม 2566 พื้นที่ประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิวัดได้ตั้งแต่ 35 องศาขึ้นไป โดยปีนี้อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.5 องศา ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว

 

จากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงนี้ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาโดยเฉพาะโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงและได้รับความร้อนมากเกินไปทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง

 

กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังอย่างยิ่งคือเด็กและผู้สูงอายุ เพราะร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน รวมถึงผู้ที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน

 

🌟 อาการที่เข้าข่ายภาวะ "ฮีทสโตรก" 🌟

  • อุณหภูมิร่างกายสูง 40 องศา
  • ผิวแห้งและร้อน แต่ไม่มีเหงื่อออก
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • เป็นผื่นแดงตามร่างกาย
  • อาจมีอาการสับสน กระวนกระวาย เพ้อ และชักหรือหมดสติได้

หากมีอาการรเหล่านี้ควรรีบพาเด็กเข้าในร่ม ที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ถอดเสื้อผ้าและคลายเครื่องแต่งกายที่รัดแน่นจนเกินไป ให้เด็กนอนหงายและเช็ดตัวเพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงเร็วขึ้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

 

วิธีป้องกันง่าย ๆ เพียงแค่ในวันที่อากาศร้อนมาก ควรให้เด็กสวมเสื้อผ้าโปร่งที่ระบายลมได้ดี ดื่มน้ำบ่อย ๆ และพยายามอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ที่สำคัญอย่างยิ่ง อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้ง ความร้อนภายในรถจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสูงมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตหากอยู่ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน