
พ่อแม่ต้องอ่าน ! ปฐมวัย 5 ปีแรกคือปีทองของชีวิต
ร่างกายของมนุษย์เจริญเติบโตตั้งแต่ครรภ์มารดาจนกระทั่งเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
ปัจจุบันสังคมของเราแคบลง เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงข่าวสารและพูดคุยกับผู้อื่นที่อยู่อีกซีกโลกได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส แต่ในขณะที่โลกแคบลง ใจของเรากลับแคบลงไปด้วยหรือเปล่า ?
‘ความแตกต่าง’ ในสังคมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ได้หมายถึงแค่รูปลักษณ์ภายนอกหรือภาษา แต่ยังรวมถึงความเชื่อ ทัศนคติ การให้คุณค่า วิถีชีวิต ซึ่งล้วนเป็นผลจาก ‘พันธุกรรม’ และ ‘สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู’
ในเมื่อพันธุกรรมเป็นปัจจัยทางชีวภาพที่เราเปลี่ยนไม่ได้ แต่การเลี้ยงดูคือปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ บางคนอาจคิดว่า “ไม่จริง เพราะตอนเด็กเราเลือกพ่อแม่ไม่ได้” นั่นอาจเป็นเรื่องเศร้าของหลายคน
แต่วันนี้เราเป็นผู้ใหญ่ เมื่อย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้ เราควรยอมรับและเดินหน้าต่อไป ที่สำคัญ สำหรับใครที่ได้มีโอกาสเป็นพ่อแม่ในวันนี้ เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อลูกของเราไหม ?
● บทความที่เกี่ยวข้อง : เลี้ยงลูกให้โอบรับความแตกต่าง
❶. พ่อแม่ที่ให้ความรักและยอมรับลูกโดยปราศจากเงื่อนไข
ความรักไม่ใช่การตามใจ แต่คือการมีเวลาคุณภาพให้ลูก เช่น อ่านนิทาน กล่อมเขานอน เล่นกับเขา กอดเขา สอนเขาทำงานบ้าน การยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็นตราบที่ไม่ทำให้ตัวเขาหรือผู้อื่นเดือดร้อน พ่อแม่ควรให้การสนับสนุนและอยู่เคียงข้างลูกเสมอ
❷. พ่อแม่ที่สอนให้ลูกช่วยเหลือตัวเองและเปิดโอกาสให้เขาทำอะไรได้ด้วยตนเอง
เมื่อเด็กโตพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ พ่อแม่ควรให้โอกาสเขาทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง โดยไม่คาดหวังผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบ แต่คาดหวังให้เขาเรียนรู้กระบวนการทำสิ่งต่าง ๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญ
❸. พ่อแม่ที่สอนให้ลูกเคารพกฎ 3 ข้อ
“ไม่ทำร้ายตัวเอง” “ไม่ทำร้ายผู้อื่น” และ “ไม่ทำลายข้าวของ” เป็นกฎพื้นฐานที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้การเคารพตนเองและผู้อื่น
❹. พ่อแม่ที่สอนให้ลูกรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองเมื่อเขาทำผิด
เมื่อเด็กทำผิด เราไม่ควรทำให้เขากลัวด้วยการลงโทษรุนแรงหรือตวาด แต่ควรพาเขากลับมารับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น สอนและจับมือเขาแก้ไข รวมทั้งสอนให้เขารู้จักขอโทษ เพื่อให้เรียนรู้การรับผิดชอบ แทนที่จะหนีปัญหาเพราะกลัวการลงโทษ
❺. พ่อแม่ที่ปกป้องสิทธิของลูกและสอนให้ลูกเคารพสิทธิของผู้อื่น
เมื่อมีคนมาละเมิดสิทธิของลูก พ่อแม่ควรปกป้องสิทธิให้เขา เช่น เมื่อลูกไม่ชอบให้คนอื่นสัมผัสตัว พ่อแม่ควรปฏิเสธแทนลูก และสอนให้ลูกปกป้องสิทธิของตัวเอง พร้อมทั้งสอนลูกไม่ให้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นด้วย
แม้ว่าจะมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อคนคนหนึ่ง แต่ ‘การเลี้ยงดู’ มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเติบโตของเด็กในสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง หากเราสามารถเลี้ยงเด็กให้ยอมรับและเข้าใจความแตกต่าง ไม่ดูถูกผู้อื่น และพร้อมยืนหยัดในคุณค่าที่ตนเองเชื่อโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ในวันที่ลูกคิดเห็นต่างจากเรา เราควรรับฟังเขาก่อน อย่าตั้งกำแพงใส่กัน
‘การยอมรับ’ จึงควรมาก่อน ‘ความเข้าใจ’ เพราะหากไม่มีการยอมรับ เราจะมองหาแต่ข้อผิดพลาดในตัวคนอื่นจนไม่อาจเปิดใจยอมรับเขาได้ หากเราพยายามยอมรับก่อน แม้จะไม่ถูกใจทั้งหมด แต่ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งได้ เพราะเราจะตั้งใจฟังเขา และยอมรับเขาอย่างแท้จริง
พ่อแม่ที่ให้การยอมรับลูกในสิ่งที่เขาเป็น พร้อมสนับสนุนและอยู่เคียงข้าง โดยมีเงื่อนไขเดียวคือสิ่งนั้นต้องไม่ทำให้เขาหรือใครเดือดร้อน ลูกก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยอมรับตัวเองและผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
✱ ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official ✱