218
ทำไมลูกถึงติดแม่หนักมาก

ทำไมลูกถึงติดแม่หนักมาก

โพสต์เมื่อวันที่ : May 16, 2023

 

คำตอบที่สั้นที่สุดก็คือ “เรื่องปกติ” แต่หากว่าคำตอบนี้ยังรู้สึกว่าสั้นไป มีคำอธิบายมากกว่านี้อีกไหมในประเด็นว่า “ทำไมลูกถึงติดแม่มาก” มาสิครับ เดี๋ยวจะมาอธิบายให้ฟัง 

 

ทารกทุกคนเกิดมาพร้อมกับ ‘ความต้องการการสัมผัสโอบอุ้ม’ จากใครสักคนอยู่แล้วตั้งแต่นแรกเกิด นี่คือสัญชาตญาณที่ฝังมาในดีเอ็นเอของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว เพราะการได้สัมผัสใกล้ชิด อบอุ่นในอ้อมกอด ได้กลิ่นกายกันและกัน จะกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนอ็อกซิโทซินหรือฮอร์โมนแห่งความรักของทั้งแม่และลูก

 

สำหรับแม่ฮอร์โมนนี้จะช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำนมออกมาจากต่อมน้ำนมทำให้ลูกได้รับน้ำนมที่เพียงพอในแต่ละมื้อ นอกจากนั้นการใกล้ชิดเนื้อแนบเนื้อยังทำให้รู้สึกสงบ ปลอดภัย และสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกันได้ดี ในแง่ของร่างกาย เราพบว่าการได้กอดกันนั้นช่วยลดความเครียด ลดอัตราชีพจร ลดความดันโลหิต และปรับคลื่นสมองให้ผ่อนคลายขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์อีกด้วย 

 

 

"แรกเกิด" สายสัมพันธ์เริ่มสร้างขึ้น

จากนั้นเมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้ ‘สายสัมพันธ์’ ที่เกิดขึ้นระหว่างเขากับพ่อแม่ (โดยเฉพาะแม่ที่ให้เวลาและอาหารกับเขา) สายสัมพันธ์นี้ยังคงให้ความรู้สึกสงบ ปลอดภัยกับลูกเสมอ อาจไม่ได้จำเป็นต้องกอดอีกต่อไป แต่แค่มองเห็นพ่อแม่อยู่ในสายตาก็รู้สึกถึงความรัก ความสงบและความปลอดภัยแล้ว โดยเมื่อเด็กรู้สึกปลอดภัยและความรักจากพ่อแม่เพียงพอ เด็กจะเริ่มเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบตัว เติบโตและพัฒนาตัวตนขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ เรียนรู้ที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง และพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น 

 

 

ดังนั้นเด็กติดแม่จึงเป็นเรื่องปกติ เพราะเขายังต้องการความรักและความปลอดภัยจากเรา แต่เราก็พบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าจะติดแม่มากเป็นพิเศษ นั่นอาจเป็นเพราะ...

 

  •  ความกังวลในการพลัดพราก (Separation Anxiety) มักเกิดในเด็กตั้งแต่อายุ 6-9 เดือนเป็นตันไป เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มจดจำพ่อแม่ได้แล้ว และยังไม่สามารถแยกตัวออกจากพ่อแม่ได้ในเชิงพัฒนาการ ดังนั้นเมื่อไม่เห็นหน้ากัน ต้องแยกจากกัน เด็กจะรู้สึกไม่ปลอดภัย จึงเป็นสาเหตุที่ว่า เด็กในวัยนี้อาจจะต้องการเห็นพ่อแม่ตลอดเวลา บางคนอยากให้พ่อแม่อุ้มตลอดเวลาก็ได้ นี่คือ เรื่องปกติ โดยเมื่อสายสัมพันธ์มั่นคงพอ ความกังวลการพลัดพรากนี้จะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนดีขึ้นหายไปในวันที่เด็กเข้าสู่วัยเรียนนั่นเอง 

 

 

  • การเปลี่ยนแปลงในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใหม่ ๆ สถานที่ใหม่ ๆ (อย่างโรงเรียน) หรือกำลังเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นช่วงเวลาที่เด็กกำลังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เด็กจะต้องการความรักและความรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เด็กจะติดพ่อแม่มากขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ 

 

  • พื้นอารมณ์ (Temperament) เด็กหลายคนเกิดมาพร้อมพื้นอารมณ์ ‘ง่าย’ ปรับตัวง่าย อารมณ์ดี กินก็ง่าย นอนก็ง่าย แต่เด็กอีกหลายคนเกิดมาพร้อมพื้นอารมณ์ ‘ยาก’ บางคนยากหมดทุกเรื่อง บางคนยากเพียงบางเรื่อง บางคนแสดงออกทางอารมณ์รุนแรง ร้องไห้หนัก โกรธง่าย และรู้สึกไม่ปลอดภัย บางคนปรับตัวกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นกลุ่มเด็กเหล่านี้จะต้องการพ่อแม่มาก เพราะเขาต้องการความรู้สึกที่ปลอดภัย คาดเดาได้จากพ่อแม่เพื่อรับมือกับสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่อย่างยากลำบากตรงหน้านั่นเอง

 

 

สรุปก็คือ เด็กติดแม่ก็คือเด็กปกติคนหนึ่ง ที่ต้องการพ่อแม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเขาในวันที่เขายังโตไม่พอที่จะพึ่งตัวเองได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจนั่นเอง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง