312
รับมือ "ลูกติดแม่" อย่างไรดี ?

รับมือ "ลูกติดแม่" อย่างไรดี ?

โพสต์เมื่อวันที่ : July 16, 2023

 

ครั้งก่อนผู้เขียนกล่าวถึงว่า “ทำไมลูกถึงติดแม่” เป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจว่าทำไมเด็กคนหนึ่งจึงติดแม่มาก ห่างไม่ได้เลย ต้องอุ้ม ต้องอยู่ในสายตา

 

หากกล่าวโดยสรุปก็คือ มันคือเรื่องปกติที่เด็กในวัยที่เขายังพึ่งตัวเองไม่ได้จะต้องการใครสักคนที่ทำให้เขารู้สึกปลอดภัยทั้งกายและใจนั่นเอง บ้างต้องการมาก บ้างต้องการน้อย ขึ้นกับอายุ บุคคล สถานการณ์ และสถานที่นั่นเอง แล้วเมื่อลูกติดแม่ เราจะมีวิธีทำอย่างไรได้บ้าง 

 

หากลูกติดแม่มากและแสดงออกมาด้วยการร้องไห้มาก หงุดหงิด ไม่กล้าที่จะห่างแม่เลย นั่นคือ พฤติกรรมของลูกที่กำลัง ‘สื่อสาร’ กับพ่อแม่ว่าเขา ‘รู้สึก’ ไม่ปลอดภัย ดังนั้นการบังคับให้เขาห่างจากเราด้วยการทอดทิ้ง หรือบังคับให้เขาไปทำในสิ่งที่เราอยากให้ทำจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

 

 

ยกตัวอย่างเช่น พาไปเล่นกิจกรรมตามสนามเด็กเล่นหรือกิจกรรมกลุ่มตามที่ต่าง ๆ แล้วพบว่าลูกกอดขาเราแน่น ไม่อยากไป ร้องไห้ แสดงความกังวลอย่างมาก เราก็ไม่ควรที่จะบังคับให้เขาเข้าไปร่วมกิจกรรมให้ได้อย่างที่ใจเราต้องการ เพราะนั่นจะยิ่งสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับลูกมากขึ้นและยิ่งติดแม่เข้าไปกันใหญ่ หากแต่ต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกับสิ่งที่ลูกรู้สึกจะดีกว่า ให้เวลา ไม่บังคับ และย้ำว่า “แม่อยู่ตรงนี้” เสมอ

 

 

ในกรณีที่ต้องแยกจากลูก เช่น คุณแม่ต้องไปทำงาน ลูกต้องไปโรงเรียนหรือเนอร์สเซอรี่ ก็ควรสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ไปลามาบอกแต่ควรเน้นเรื่องความรู้สึกของลูกด้วย อย่างการบอกว่า “แม่เข้าใจว่าหนูอยากให้แม่อยู่ด้วยตลอด แม่เข้าใจว่าหนูเสียใจที่แม่ต้องไปทำงาน เดี๋ยวแม่กลับมารับนะ แม่จะมาให้ตรงเวลา แม่รักหนูนะลูก”

 

ย้ำอีกครั้ง ไปลามาบอกและตรงเวลา ทำให้สม่ำเสมอจนลูกคาดเดาได้ว่า เดี๋ยวแม่ก็มา อย่าหนีหายไปเลยหรือหลอกลูกซ้ำ ๆ นั่นจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัยและติดแม่หนึบกว่าเดิม หากทำได้ กิจกรรมใดที่มีตารางอยู่แล้ว ก็คุยเรื่อง 'ตารางเวลา' วางแผนกับลูกล่วงหน้าให้เขารู้ว่าเขาจะต้องทำอะไร ? เจอใคร ? ที่ไหน ? อย่างไร ? เหล่านี้จะช่วยทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น มีเวลาทำใจรับมือ และคาดเดาได้

 

ในขณะเดียวกันเราเองก็ต้องไม่รู้สึกตื่นเต้น วุ่นวาย และยืดเยื้อจนเกินไปเมื่อต้องรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวกับลูก (หรือในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตให้เป็นเยี่ยงอย่างให้ลูกเห็น) ส่งลูกไปโรงเรียนก็บอกลา ส่งลูก หันหลังกลับแล้วมารับตรงเวลา ไม่ใช่ยืดเยื้อเรื้อรัง รำพึงรำพันกันอยู่ที่หน้าโรงเรียน ยิ่งยืดเยื้อ ยิ่งดรามามาก ยิ่งเกิดปัญหา ยิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัย 

 

 

อย่าลืมใช้ 'เวลาคุณภาพ' กับลูกให้ดีที่สุด เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีและความรู้สึกปลอดภัยให้กับลูก เพราะการให้เวลาที่ดีให้ลูกคือการสร้างความมั่นใจ ความปลอดภัย ให้ลูกกล้าที่จะออกไปเผชิญโลกและพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้นอยู่แล้วครับ อย่างน้อยในเด็กวัยอนุบาล อย่าลืมหาเวลาที่เราจะได้เล่นกับลูกอย่างมีความสุขสัก 30 นาทีต่อวัน (มากกว่านั้นได้ยิ่งดี) 

 

 

นอกจากนั้นลองสอนให้ลูกเล่นคนเดียวหรือทำกิจกรรมคนเดียวได้บ้างโดยที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ใกล้มาก ก็เป็นเรื่องที่ดี เพื่อส่งเสริมการพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น อาจจะเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการนั่งเล่นกับลูกสักช่วงหนึ่ง แล้วเราค่อย ๆ ลดการเล่นร่วม หรือเราขอเดินไปทำธุระสั้น ๆ แต่ยังอยู่ในสายตาของลูกอยู่ และหากเป็นพื้นที่ปลอดภัย เราอาจลองแยกไปทำงานอื่นของเราบ้างก็ได้โดยอาจกำหนดเวลาว่าอีกกี่นาทีเดี๋ยวแม่กลับมาเล่นด้วย (แต่เน้นย้ำว่า เด็กเล็กต้องอยู่ในสายตาเสมอ เพราะอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันได้) ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่จะส่งเสริมให้ลูกอยู่คนเดียวได้มากขึ้น

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง