17
Digital Citizenship : 8 ทักษะพลเมืองดิจิทัล พลังสำคัญที่เด็กไทยยุคใหม่ต้องมี

Digital Citizenship : 8 ทักษะพลเมืองดิจิทัล พลังสำคัญที่เด็กไทยยุคใหม่ต้องมี

โพสต์เมื่อวันที่ : May 1, 2025

 

ในยุคที่โลกเสมือนและโลกจริงผสานกัน เด็กไทยต้องมี 8 ทักษะพลเมืองดิจิทัล เพื่ออยู่รอดอย่างปลอดภัย มีวิจารณญาณ และสร้างสังคมออนไลน์ที่ดีร่วมกัน

 

เมื่อโลกแห่งความจริงและโลกออนไลน์หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว การเป็น "พลเมืองยุคดิจิทัล" จึงไม่ใช่แค่รู้จักเทคโนโลยี แต่ต้องมีทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และใช้สื่ออย่างมีความรับผิดชอบ 8 ทักษะสำคัญของการเป็นพลเมืองดิจิทัล ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ควรเรียนรู้ เพื่อสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย มีคุณภาพ และเปี่ยมด้วยความเห็นอกเห็นใจ

 

①. ทักษะการรักษาตัวตนในโลกดิจิทัล

โลกออนไลน์ไม่ใช่พื้นที่แยกขาดจากโลกจริงอีกต่อไป เราจึงควรรักษาความเป็นตัวตนให้สอดคล้องทั้งในชีวิตจริงและออนไลน์ ไม่หลงกลกับการสร้างตัวตนปลอมที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาว

 

 

②. ทักษะการปกป้องข้อมูลส่วนตัว

ในยุคที่ทุกอย่างออนไลน์ได้เพียงคลิกเดียว ข้อมูลของเราจึงกลายเป็นเป้าหมายของผู้ไม่หวังดี เราต้องมีดุลยพินิจ รู้ว่าอะไรควรเปิดเผย อะไรควรรักษาไว้ และมีวิธีป้องกันการถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

 

 

● รับชมรายการ Hook Learning : เด็กวันนี้ ไม่เหมือนเด็กยุคเรา: ความท้าทายของครอบครัวยุคดิจิทัล

 

 

③. ทักษะการคิดวิเคราะห์และมีวิจารณญาณ

ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ในวันนี้ เด็กจึงต้องเรียนรู้ที่จะคิดอย่างมีเหตุผล แยกแยะข้อมูลจริง-เท็จ และเลือกเสพหรือแชร์เนื้อหาอย่างมีสติ โดยเฉพาะในยุค AI ที่ภาพและข้อมูลปลอมสามารถดู “จริง” ได้ไม่ต่างจากของแท้

 

 

④. ทักษะการจัดสรรเวลาในการใช้หน้าจอ

หน้าจอไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่การใช้อย่างไม่มีขอบเขตอาจกระทบพัฒนาการของเด็ก การแบ่งเวลาให้เหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหว พูดคุย และใช้ชีวิตในโลกจริงควบคู่กัน

 

 

⑤. ทักษะรับมือกับการคุกคามออนไลน์ (Cyberbullying)

ภัยเงียบที่มักเกิดจาก "แอคหลุม" หรือผู้ใช้นิรนาม บางครั้งการกลั่นแกล้งหรือพูดทำร้ายในโลกออนไลน์อาจทิ้งบาดแผลลึกจนถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า หรือร้ายแรงถึงขั้นจบชีวิต ผู้ใหญ่ต้องใส่ใจ เรียนรู้ และอยู่เคียงข้างเด็กเสมอ

 

 

● บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กยุคดิจิทัล โตมากับหน้าจอ : พ่อแม่ต้องปรับตัว - เข้าใจ และพร้อมเติบโตไปด้วยกัน

 

 

⑥. ทักษะการจัดการร่องรอยดิจิทัล (Digital Footprint)

ทุกการโพสต์คือการทิ้งรอย ทุกข้อความสามารถถูกบันทึกไว้ แม้จะลบไปแล้วก็ตาม เด็กควรเรียนรู้ว่า “โลกออนไลน์ไม่มีปุ่มลบจริง ๆ” และทุกสิ่งที่ทำวันนี้ อาจย้อนกลับมาในวันข้างหน้า

 

 

⑦. ทักษะการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์

มิจฉาชีพออนไลน์ไม่ได้มีแค่ในข่าว เราจึงต้องเรียนรู้การป้องกัน เช่น ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับคนแปลกหน้า ตั้งรหัสผ่านอย่างปลอดภัย และไม่คลิกลิงก์น่าสงสัย รวมถึงเข้าใจวิธีหลีกเลี่ยงการถูกหลอก

 

 

⑧. ทักษะการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรมและเห็นอกเห็นใจ

ในโลกดิจิทัล เราไม่ได้คุยกับแค่ “ชื่อผู้ใช้” แต่คุยกับมนุษย์ การมีจริยธรรม เข้าใจคนคิดต่าง และไม่สร้าง “ห้องเสียงสะท้อน” (Echo Chamber) ที่มีแต่ความเห็นที่เหมือนกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ

 

เมื่อโลกดิจิทัลกลายเป็นสนามชีวิตจริงของเด็กยุคใหม่ การเป็นพลเมืองดิจิทัลจึงต้องมีมากกว่าแค่รู้เท่าทัน ต้อง “ใช้เป็น คิดเป็น อยู่เป็น” ด้วยทักษะ 8 ประการ ได้แก่ การรักษาตัวตนและข้อมูลส่วนตัว การคิดวิเคราะห์ การบริหารเวลาใช้สื่อ การรับมือภัยออนไลน์ การจัดการร่องรอยดิจิทัล ความปลอดภัยไซเบอร์ และจริยธรรมการใช้เทคโนโลยี

 

 

ทักษะเหล่านี้ไม่เพียงช่วยปกป้องเด็ก แต่ยังทำให้เขากลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถใช้พลังของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกได้ในทางที่ดี

 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official