555
โรคกลัวอ้วนไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ

โรคกลัวอ้วนไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ

โพสต์เมื่อวันที่ : August 11, 2022

...“ทำไมเธออ้วนขึ้น”... ประโยคบาดใจของผู้หญิงที่ไม่ต้องการได้ยิน แม้ตัวเองจะรู้ตัวว่าอ้วนขึ้นก็ตาม แต่ก็ไม่อยากได้ยินจากปากคนอื่นอยู่ดี แต่ก็อีกนั่นแหละเรื่องความอ้วนก็มักกลายเป็นหัวข้อสนทนาในหมู่สาว ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะเด็กสาวที่เป็นห่วงเรื่องรูปร่าง

 

เรื่องอ้วนเป็นเรื่องที่ไม่มีใครปรารถนา ไม่ว่าจะเพศหญิงหรือเพศชาย แต่ก็ต้องยอมรับว่านอกจากพันธุกรรมและการเลี้ยงดูแล้ว ด้วยรูปแบบวิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนยุคนี้สุ่มเสี่ยงที่เกิดภาวะโภชนาการที่ทั้งเกินและไม่ถูกหลักโภชนาการ

จริงอยู่โรคอ้วนเป็นปัญหาหนักใจเรื่องหนึ่ง แต่โรคที่ตีคู่กันมาและน่ากลัวไม่แพ้กันก็คือ “โรคกลัวอ้วน” โรคที่จะพบได้มากในผู้หญิง มักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น แต่ก็พบได้ในช่วงอายุอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับรูปร่างของตนเอง เช่น นักแสดง นางแบบ เป็นต้น

 

โรคกลัวอ้วน หรือโรคคลั่งผอม (Anorexia Nervosa)

เป็นความผิดปกติทางจิตใจชนิดหนึ่ง ที่ผู้ป่วยจะจดจ่อหมกมุ่นกับรูปร่างของตนเอง ต้องการให้ผอมลง แม้ว่าจะผอมอยู่แล้ว ผู้ที่จัดว่าเป็นโรคคลั่งผอม คือผู้ที่น้ำหนักตัวลดลงอย่างน้อย 15% จากน้ำหนักตัวปกติ ต้องการจำกัดปริมาณอาหารที่กิน หรือออกกำลังกายอย่างหนัก เพื่อให้น้ำหนักตัวลดลง

 

โรคที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรมการกิน ร่วมกับความผิดปกติทางความคิดและอารมณ์ เนื่องจากกลัวว่าอ้วนแล้วจะไม่สวย ทำให้หมดความมั่นใจในการเข้าสังคม มักคิดวนเวียนเกี่ยวกับอาหาร น้ำหนักตัว รูปร่าง คิดว่าตัวเองอ้วนกว่าความเป็นจริง และพยายามควบคุมน้ำหนักตัวที่เป็นอันตรายกับสุขภาพ เช่น ลดน้ำหนักหักโหม อดอาหาร กินยาลดความอ้วน ล้วงคออาเจียนทุกครั้งที่กินอาหาร ฯลฯ

และกับบางคนที่ได้รับคำพูดกระทบความรู้สึกเรื่องรูปร่าง จนทำให้สภาพจิตใจแย่ลง เครียดได้ง่าย ก็อาจมีโรคซึมเศร้าร่วมด้วย สุดท้ายมักทำให้การใช้ชีวิตเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก

 

แล้วพ่อแม่ช่วยได้อย่างไร ? เริ่มจากการหาสาเหตุก่อน อาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนช่วงวัยรุ่น หรืออยู่ในสภาพสังคมที่เป็นห่วงเรื่องรูปร่างของตัวเองตลอดเวลา รวมไปถึงเป็นช่วงมีแฟนก็จะสนใจรูปร่างของตัวเองมากเป็นพิเศษ

 

มีกรณีคุณแม่ท่านหนึ่งมีลูกสาววัย 17 ปี ประสบปัญหามีพฤติกรรมการกินผิดปกติ จะนับแคลอรี่อาหารที่กินทุกอย่าง ชั่งน้ำหนักตัวบ่อย ๆ ทั้งที่เธอก็ไม่ได้อ้วน แรก ๆ คุณแม่ก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติลูกคงจะห่วงสวย แต่พอผ่านไปสักระยะจะเข้าห้องน้ำหลังกินอาหารเสร็จทันทีเพื่ออาเจียนเอาอาหารที่เพิ่งกินเข้าไปออกมา ก็เลยคิดว่าไม่ปกติแล้ว จึงตัดสินใจพาไปพบแพทย์

 

หลังจากที่เธอพบแพทย์แล้ว แพทย์ได้ประเมินเรื่องการขาดสารอาหาร และส่งเคสไปให้จิตแพทย์ทำการรักษาร่วมด้วย เรียกว่าปรับทั้งเรื่องการกินอาหาร และปรับทางด้านจิตใจ โดยให้ครอบครัวร่วมบำบัดด้วย

 

สิ่งที่ครอบครัวต้องร่วมด้วย ก็เพราะโรคนี้เกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น ยิ่งต้องระมัดระวังและพยายามหาทางแก้ไขพฤติกรรมร่วมกับการรักษาโดยแพทย์

 

∷ 1. สร้างทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง ∷

พ่อแม่ต้องแสดงความรักที่มีต่อลูก และให้กำลังใจเรื่องรูปร่างของลูก ค่อย ๆ แทรกซึมให้ลูกมีทัศนคติที่ดีต่อรูปร่างของตัวเอง ทุกคนสวยในแบบของตัวเองได้ไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น คนที่รูปร่างท้วมหรืออ้วนแล้วสวยก็มี ควรหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพดีจะดีกว่า

 

∷ 2. กินอาหารให้ถูกหลัก ∷

การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จะทำให้สุขภาพดียั่งยืนกว่า กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงของที่ไม่มีประโยชน์ ลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลก็ไม่ทำให้อ้วนแล้ว สิ่งสำคัญควรกินให้ถูกหลักโภชนาการก็จะทำให้ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บด้วย

∷ 3. เรียนรู้วิธีออกกำลังกาย ∷

เมื่อกินอาหารที่มีประโยชน์ ก็ควรจะต้องการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย จะช่วยทำให้ระบบเผาผลาญอาหารเป็นไปด้วยดี ที่สำคัญร่างกายแข็งแรงด้วย และถ้าอยากลดเฉพาะส่วนไหน เดี๋ยวนี้มีเทคนิคการออกกำลังกายมากมายที่สามารถทำให้หุ่นสวยได้

 

∷ 4. อย่าได้แคร์ ∷

ข้อนี้สำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ต้องหนักแน่น อย่าไปแคร์คำพูดของคนอื่นมากเกินไป เรารู้ตัวดีว่าเราทำอะไร พ่อแม่ต้องคอยให้กำลังใจลูกสม่ำเสมอ ชูจุดเด่น หรือสิ่งที่ลูกทำได้ดีมาให้กำลังใจ เพราะคนเรามีข้อดีแตกต่างกัน ขอเพียงให้มั่นใจในรูปร่างของตัวเอง และเคารพตัวเองให้มากพอ การเข้าสังคมก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล

 

โรคกลัวอ้วนไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แต่เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องใส่ใจและเติมใจให้ลูกพึงพอใจในรูปร่างของตัวเองด้วยการสร้างพลังบวกให้เกิดขึ้นในตัวลูกค่ะ