155
เรื่องของเด็กขี้กลัว

เรื่องของเด็กขี้กลัว

โพสต์เมื่อวันที่ : November 30, 2023

 

คุณพ่อคุณแม่เป็นอีกหนึ่งคนที่รู้สึกว่า “ลูกขี้กลัว” หรือเปล่าครับ เวลาพาไปทำกิจกรรมอะไรเอาแต่เกาะขาแม่ ไม่กล้าเข้าไป ร้องไห้ ยิ่งไปเจอสถานที่ที่มีคนเยอะ มีคนแปลกหน้า ยิ่งกลัวมากขึ้น ร้องไห้งอแง จนหลายคนรู้สึกสงสัยว่าลูกกลัวมากกว่าปกติหรือไม่ ทั้งที่ตอนอยู่ที่บ้านนั้นก๋ากั่นเหมือนลูกสาวกำนัน เล่นปกติ ใช้ชีวิตเป็นเด็กที่ร่าเริงตามปกติ แต่พอออกไปนอกบ้าน ไปโรงเรียนเท่านั้นแหละ รู้เรื่อง 

 

คำถามสำคัญมิใช่ ลูกขี้กลัวเกินไปหรือไม่ ? คำถามสำคัญ คือ เราตอบสนองกับลูกอย่างไรเมื่อเขากลัว เพราะความรู้สึก “กลัว“ กับสิ่งที่เด็กเผชิญนั้นเป็นเรื่องปกติ เด็กอาจไม่คุ้นเคยสถานที่ที่ไม่ใช่ที่ที่คุ้นเคยอย่าง "บ้าน" เด็กอาจไม่คุ้นเคยกับคนมากมายที่ไม่คุ้นหน้า เด็กอาจไม่คุ้นเคยกับเสียงดังที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรม และแน่นอนว่า เด็กแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน  

 

เด็กบางคนถึงไหนถึงกัน สามารถเข้ากับสถานการณ์และผู้คนที่แปลกใหม่ได้ง่าย ปรับตัวได้ง่าย พาไปร่วมกิจกรรมก็สามารถวิ่งเข้าไปร่วมได้อย่างสนุกสนาน ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งอาจต้องใช้เวลาในการทำความรู้จักและทำความคุ้นเคยสักระยะ เมื่อเขารู้สึก "พร้อม" เขาก็จะเข้าไปด้วยตัวเอง และอีกกลุ่มคือ เด็กที่ปรับตัวยาก ร้องไห้ง่าย ขี้กลัว ขี้กังวล พื้นฐานของบุคลิกภาพเหล่านี้ ทางการแพทย์เรียกว่า พื้นอารมณ์ หรือ Temperament ที่ติดตัวของเด็กแต่ละคนมาตั้งแต่แรกเกิด นี่คือ เรื่องปกติ 

 

ดังนั้นเราไม่อาจเปลี่ยนแปลงพื้นอารมณ์ที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิดได้ แต่เราสามารถเข้าใจลูกในตัวตนของเขา และส่งเสริมให้เขาสามารถรับมือกับสถานการณ์และผู้คนที่เขาต้องเผชิญได้ดีขึ้นในแต่ละวันที่เขาเติบโต วันนี้กลัวมาก วันต่อ ๆ ไปเขาจะกลัวลดลงและปรับตัวได้ดีขึ้น พ่อแม่ต้องอยู่เป็นหลักให้เขาเกาะเกี่ยวยามที่จิตใจของเขายังเผชิญกับ ‘อารมณ์ด้านลบ’ อย่างความตื่นเต้น ความกลัว ความรู้สึกไม่ปลอดภัย และความรู้สึกเสียใจ 

 

 

พ่อแม่ต้องเข้าใจลูก พ่อแม่ต้องโอบรับอารมณ์ความรู้สึกของลูก พ่อแม่ควรต้องสะท้อนความรู้สึกให้ลูกรู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร และพ่อแม่ควรสอนให้ลูกจัดการกับความรู้สึกของตัวเองได้อย่างเหมาะสม 

 

ยกตัวอย่าง เมื่อคุณพ่อคุณแม่พาลูกไปเล่นสนามเด็กเล่นที่เขาไม่คุ้นเคย แล้วเขาไม่ยอมไป เกาะขาของคุณแม่แน่นแล้วเริ่มร้องไห้ สิ่งที่คุณแม่ไม่ควรทำก็คือ ดุลูกว่า ”กลัวอะไรไม่เข้าเรื่อง“ หรือพยายามบังคับให้ลูกเข้าไปเล่น เพราะยิ่งบังคับให้เขาเข้าไป เขายิ่งกลัวมากกว่าเดิม และพ่อแม่ไม่ได้เป็นแหล่งพักใจที่ว้าวุ่นของเขาจริง ๆ คงพอมองเห็นภาพความวุ่นวายของเด็กคนหนึ่งที่ร้องไห้ กับคุณแม่ที่พยายามปลอบ พาลูกอุ้มโอ๋ เดินเข้าเดินออกไป พยายามให้ลูกสงบ พร้อมกับความพยายามที่จะผลักดันให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรมที่คุณแม่อยากให้ลูกเข้าร่วม ซึ่งมองเห็นภาพแล้วว่า ลูกไม่อิน ไม่คุ้นเคย และรู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่  

 

สิ่งที่ควรทำคือ พ่อแม่ควรนิ่ง ไม่แสดงความกลัวไปกับเขา ไม่แสดงความกังวลไปกับลูกด้วย นิ่งที่สุด แล้วปล่อยให้สถานการณ์ไหลไปอย่างเป็นธรรมชาติแบบไม่ต้องพยายามบังคับเด็กให้ต้องทำอะไรมาก ในช่วงที่ไม่จำเป็นต้องทำอะไร หากวันนี้ไม่ได้ วันอื่นก็มาอีกจนเขาเริ่มคุ้นเคย

 

 

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องประเมินด้วยว่า ลูกพร้อมไหมกับกิจกรรมที่อยากให้เขาทำ ถ้าไม่ก็หยุดไปก่อนได้ อย่างพ่อแม่บางคนผลักดันให้เด็กเล็กมาก ๆ ว่ายน้ำ (เรียกว่าบังคับแหละ เพราะจ่ายเงินแล้ว) เด็กบางคนคือหลอนไปเลยก็มี แต่หลายครั้ง เด็กที่ไม่ชอบน้ำคนเดิมนั่นแหละ พอโตขึ้นถึงวัยที่เขาพร้อม เขาก็เรียนว่ายน้ำได้อย่างสนุกสนานครับ  

 

ย้ำอีกครั้งว่า ! ถ้าเด็กกลัว ผู้ใหญ่กลัวด้วยก็จบ เด็กกลัว ผู้ใหญ่ต้องนิ่ง เป็นหลักให้เขาพึ่ง อย่าทำให้สถานการณ์วุ่นวายไปกว่าเดิม แต่หากกลัวในทุกสถานการณ์ กลัวมากเกินไปจนกระทบการใช้ชีวิตและกิจวัตร กลัวเกินกว่าวัย มีอาการทางร่างกายร่วมด้วย อันนี้ก็ควรมาพบแพทย์ (ทางที่ดีไปพบหมอพัฒนาการเด็กได้เลย) 

 

ทิ้งท้ายแล้วเราจะทำอย่างไรเวลาลูกร้องไห้ หากสถานที่คือ ที่ที่ทำกิจกรรม บางทีการอยู่นิ่ง ๆ กอดลูก อยู่ข้าง ๆ ลูกให้ลูกได้ร้องไห้นิ่ง ๆ จนสงบลงได้ และมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจนพอ จนคุ้นเคย จนเริ่มไม่กังวล จากนั้นเขาค่อยคิดต่อเองว่าจะทำอะไร ถ้าสถานที่คือห้องตรวจ ตอนพ่อแม่คุยกับหมอ คุยไปเลยตามปกติ กอดเขานิ่ง ๆ ในอก แล้วคุยกับหมอไปเรื่อย ๆ จนถึงเวลาที่หมอจะต้องตรวจก็พอ เดี๋ยวหมอเด็กมีวิธีหลอกล่อเขาเพิ่มเองจ้ะ ไว้ใจมือหมอเด็กนิดนึง เรามีอุปกรณ์หลอกเด็กเยอะ แม้หลายครั้ง ของเล่นอะไรก็ไม่ช่วยเท่าไรอ่ะเนอะ มาหาหมอทีไรมีความเจ็บตัวทุกที

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง