219
หยุด ! เลี้ยงลูกด้วยความกลัว

หยุด ! เลี้ยงลูกด้วยความกลัว

โพสต์เมื่อวันที่ : April 9, 2023

กรณีศึกษา 1 ➜ ลูกอายุ 3 ขวบ ครูบอกว่าเค้าทำเองทุกอย่างที่โรงเรียนได้ แต่พออยู่บ้านเค้าอยากให้เราช่วยเค้าทำทุกสิ่งอย่าง แต่เราก็บอกให้เค้าลองทำเองก่อน ถ้าไม่ได้แล้วแม่จะช่วย เค้าก็งอแงไม่ยอมจะให้เราช่วยจนได้ ถ้าเราไม่ช่วยเค้าก็ชักดิ้นชักงอเลยค่ะ แม่ควรทำอย่างไรดีคะ ช่วยก็กลัวน้องจะช่วยเหลือตัวเองไม่เป็น ไม่ช่วยน้องก็คิดว่าแม่ไม่รักไม่ช่วยแล้วก็ร้องไห้

 

ครูบอกชัดเจนแล้วว่า ลูกช่วยเหลือตัวเองได้ดี แล้วคุณแม่จะกังวลอะไร เป็นธรรมดามากที่เด็ก ๆ จะอ้อนพ่อแม่ โดยเฉพาะวันที่เขามีความเครียด ความเหนื่อย ความรู้สึกไม่มั่นคง ลูกอยากให้ช่วยอยากให้แม่ทำให้ก็ทำไปเถอะค่ะ ครูบอกมาแล้วว่า ลูกช่วยเหลือตัวเองได้ดี อย่าเลี้ยงลูกด้วยความกลัว (ที่มากเกินไป)

 

กรณีศึกษา 2 ➜ เวลาน้องยั่วโมโหแส่แล้วแม่ตกหลุมโมโหนั้น แม่โมโหมากอารมณ์ค้างแต่น้องกล้าที่จะมาขอโทษ แม่ต้องพร้อมให้อภัยเลยมั้ยคะ ถ้าแม่ยังไม่พร้อมล่ะคะ แม่ต้องทำไง แม่เคยบอกน้องว่าแม่ยังไม่พร้อม ขอแม่อยู่คนเดียว แม่โมโหมาก น้องตะโกนแหกปากใส่แม่ด้วย ความไม่พอใจแล้วก็วิ่งไปร้องไห้ดังเลยค่ะ แม่ยังโมโหอยู่อ่ะ แม่ควรทำอย่างไรดี

 

การที่ลูกโมโหแรงขึ้นหลังจากที่มาง้อแม่แล้วแม่มีท่าทีปฏิเสธเป็นเพราะเขารู้สึกไม่มั่นคง ขาดที่พึ่ง เคว้ง ไม่แน่ใจว่าแม่ยังรักเขามั้ย ปฏิกิริยาของลูกจึงรุนแรงมากขึ้น จริง ๆ แล้วไม่อยากให้เกิดบ่อยๆเลย

หมอขอแนะนำว่า ถ้าคุณแม่ยังไม่หายโมโหและยังไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะให้อภัย ก็ไม่ต้องฝืนให้อภัยค่ะ แต่หมอขอให้เรายอมอยู่กับลูก อย่าเพิ่งบอกให้เขาหรือเราแยกกันแป๊บนึง คำว่า “ขอแม่อยู่คนเดียว” สำหรับเราคือต้องการเวลาสงบ แต่สำหรับลูกเขาไม่สามารถเข้ามานั่งในใจเราและเข้าใจอย่างที่เราต้องการได้ ลูกยังเด็ก เขายังมองมุมของตัวเองมากกว่า

 

ดังนั้นเมื่อแม่บอกว่า “ขออยู่คนเดียว” ลูกจึงตีความว่า "แม่ไม่รักหนู และใช่จริง ๆ ด้วย เพราะแม่จะอยู่คนเดียว ไม่อยู่กับหนู ทั้ง ๆ ที่หนูกำลังแย่" (เป็นช่วงเวลาที่ต้องการแม่ที่สุด) ความกังวลและกลัวแม่ไม่รัก ทำให้ลูกเสียใจ โกรธ ร้องไห้มากมาย (บางคนใช้คำว่า สติแตก)  

ดังนั้นขอให้นั่งอยู่กับลูกทั้ง ๆ ที่ใจยังครุกรุ่นนั่นแหละ นั่งใกล้ ๆ กัน ให้หายใจเข้า-ออกลึก ๆ ไม่ต้องกดดันตัวเองให้รีบหายโมโห ไม่ต้องกดดันตัวเองให้โอ๋ลูก ไม่ต้องรีบให้อภัย ก็ใจยังไม่ได้ ยิ่งกดดันจะยิ่งโมโหนะคะ หมอขออย่างเดียว คือ หายใจเข้า-ออกลึก ๆ ไม่ต้องพูดอะไร หายใจเข้า-ออกไปเรื่อย ๆ จนกว่าอารมณ์โมโหจะผ่านไป (อย่าลืมนะคะ ทุกอารมณ์ ผ่านมาก็ผ่านไป ไม่มีอารมณ์ไหนอยู่ถาวร) 

 

พูดง่าย ๆ นั่งอยู่ด้วยกัน ทำเพียงหายใจเท่านั้น หายใจเข้า-ออก ช้า ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่า มีอารมณ์กอดลูก ก็ค่อยกอดนะคะ ทำแค่นี้ลูกก็ไม่รู้สึกถูกทิ้ง ไม่รู้สึกถูกแยกจาก ไม่โดนอารมณ์ถล่มซ้ำ และยังเห็นความพยายามและวิธีการจัดการอารมณ์ของแม่ด้วย

 

กรณีศึกษา 3 ➜ การที่น้องแหกปากพูดกระโชกโฮกฮากต้องการให้เราทำอะไรให้ หรือให้เราไปหา หรือพื่เรียกร้องความสนใจ เราต้องเมินเฉยใช่มั้ยคะ น้องจะได้นู้ว่าการแหกปากไม่ได้ผล แต่ถ้าน้องดึงดัน ไม่ยอมลดละล่ะคะ แบบแหกปากร้องเป็น 30-40 นาที ไม่ร้องเปล่า ชักดิ้นชักงอด้วยเนี่ย แม่ควรทำอย่างไรดี

 

ลูกร้องโวยวายเสียงดังเพื่อเรียกร้องความสนใจ แปลว่า เราสนใจลูกเชิงบวกน้อยเกินไป ลูกใช้การเรียกแม่ในเชิงลบตามที่เคยชิน ลองถามใจตัวเองดูว่า การใช้วิธีเพิกเฉย ช่วยตอบสนองลูกในเชิงบวกหรือไม่ ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุมั้ย ต้นเหตุ คือ ลูกขาดความสนใจเชิงบวกจากแม่ และแม่ก็ตอบสนองลูกในเชิงลบบ่อยเกินไป ซึ่งการเพิกเฉยไม่ใช่คำตอบ ดังนั้นต้องแก้ปัญหาไปตามเหตุดังนี้

🔻 เพิ่มเวลาคุณภาพ ทำกิจกรรมด้วยกัน อย่าปล่อยให้เล่นคนเดียวบ่อยไป หรืออย่างกรณีที่ลูกอยากให้แม่ช่วย เราทำได้ทั้งช่วยเลย (ตามข้อ 1) หรือช่วยกันทำประหนึ่งเหมือนเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกัน และส่งยิ้มให้ลูกเยอะๆ ๆ หมั่นพูดคุยกับลูกแบบเพลิดเพลิน หรือเกิดความเข้าใจกัน อย่าคุยแต่เรื่องซีเรียส อย่ามีแต่เรื่องสั่งสอน และควรจะกอดบอกรักลูกบ่อย ๆ ด้วยค่ะ และอย่าลืมชื่นชมลูกทั้งพฤติกรรม ความคิด ความอดทนพยายามด้วยนะคะ

 

🔻 ในช่วงที่สมองลูกยังติดกับเส้นทางเดิม คือ เรียกร้องโวยวายให้แม่สนใจในเชิงลบ เราก็ควรเข้าหาด้วยใจเมตตา และเป็นตัวอย่างของการพูดแบบเสียงปกติ เช่น เดินเข้าไปหาลูก สบตาแล้วพูดด้วยเสียงที่อ่อนโยนว่า “ไหน บอกแม่อีกทีซิคะว่า แม่มาหาหนูหน่อย”  

 

พูดเป็นตัวอย่างด้วยน้ำเสียงและแววตาของความรัก ลูกจะหยุดโวยและพูดตาม ถ้ายังไม่ได้ผลวันนี้ ก็ขอให้ทำไปเถอะ ลูกจะทำตามเราอย่างแน่นอน แต่มีเงื่อนไขต้องทำข้อแรกสม่ำเสมอ ห้ามเลือกทำบางข้อ

 

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หมออยากให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยความกลัวลดลง ทั้งกลัวลูกไม่ช่วยเหลือตัวเอง กลัวลูกเอาแต่ใจมากเกินไป กลัวลูกติดนิสัยโวยวาย เพราะความกลัวที่มากเกินไป จะพรากความรักที่อ่อนโยนไปจากลูก ลดความกลัว แล้วใช้สัญชาติญาณแม่ ให้มากขึ้น