
ทักษะจำเป็นเด็ก Gen Alpha ในศตวรรษที่ 21
‘สมองที่พร้อม’ จะช่วยเตรียมตัวตนที่มั่นคง มีความสุข เข้าใจความทุกข์ ล้มได้ และลุกขึ้นได้เสมอ
เทคโนโลยีดิจิทัล และความเจริญทางวิทยาศาสตร์เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งคือความสะดวกสบาย อีกด้านหนึ่งคือความท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อต้องเลี้ยงดูเด็กยุคใหม่อย่าง "Gen Alpha" ซึ่งเติบโตมากับหน้าจอและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องธรรมดา
เด็กยุคนี้ไม่ได้เรียนรู้การใช้สมาร์ตโฟนจากผู้ใหญ่ แต่เขาสัมผัสและใช้มันได้เองโดยสัญชาตญาณ และแม้ผู้ปกครองจะพยายามห้ามหรือซ่อน เขาก็ยังหาทางเข้าถึงได้อยู่ดี นั่นแปลว่า การ "ห้าม" อย่างเดียวไม่ใช่ทางออก แต่ต้องหาทาง "ควบคุมและสมดุล" การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
เด็ก Gen Alpha กับโลกที่ต้อง "ทันที"
ความง่ายและรวดเร็วของโลกดิจิทัลทำให้เด็กยุคนี้เคยชินกับการได้ทุกอย่าง "เดี๋ยวนี้" – ค้นหาข้อมูลได้ทันที ดูการ์ตูนตอนที่อยากดูได้เลย ไม่มีโฆษณามาขัด เด็กจึงค่อย ๆ สูญเสียทักษะการ "รอคอย" ซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานของการควบคุมตนเอง (self-control) ผลที่ตามมาคือพฤติกรรมวอกแวก สมาธิสั้น โฟกัสนานไม่ได้ และขาดทักษะการจัดการอารมณ์ โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการในทันที
ไม่เพียงแต่ด้านพฤติกรรม หน้าจอยังส่งผลต่อ พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น แขน ขา ลำตัว ที่มีผลต่อการทรงตัว วิ่ง กระโดด หรือแม้แต่การขี่จักรยาน เด็กที่อยู่กับหน้าจอนาน ๆ ขาดการเคลื่อนไหว ทำให้กล้ามเนื้อไม่พัฒนาอย่างที่ควร ส่งผลต่อความมั่นใจในตนเอง (self-esteem) เพราะรู้สึกว่า "ทำอะไรไม่ค่อยได้เหมือนเพื่อน" โดยเฉพาะเด็กที่เติบโตในช่วงโควิด-19 ซึ่งการออกไปวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น กลายเป็นเรื่องยากกว่าปกติ เด็กจึงขาดโอกาสพัฒนาแบบธรรมชาติ
ภาษามนุษย์ สำคัญกว่าหน้าจอ แม้ว่าแอปหรือแพลตฟอร์มเรียนภาษาออนไลน์จะช่วยเสริมการเรียนรู้ได้ แต่...การเรียนภาษาที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ยังคือ "เสียงมนุษย์" ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู หรือคนรอบตัว การฟัง การโต้ตอบ และการสนทนาแบบเห็นหน้า พัฒนาภาษาและการสื่อสารได้ดีกว่า
● บทความที่เกี่ยวข้อง : "หน้าจอ" กับเด็กประถม : ใช้สื่อเทคโนโลยีอย่างไรให้ “พอดี”
สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำ
✅ ไม่ห้ามใช้เทคโนโลยี แต่ ใช้ร่วมกันอย่างมีขอบเขต
✅ หากิจกรรมที่หลากหลายนอกหน้าจอ เพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหว
✅ ฝึกให้ลูกรู้จัก "รอ" ผ่านกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
✅ ใช้เวลาพูดคุยกับลูก ให้ภาษามนุษย์เป็นเครื่องมือพัฒนาใจและสมอง
✅ วางกติกาการใช้สื่ออย่างเป็นรูปธรรม เช่น จำกัดเวลา มีเวลาไร้หน้าจอ
✅ เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีสมดุล
การเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัลไม่ได้แปลว่า "ต้องรู้เทคโนโลยีมากกว่าเขา" แต่คือ การเข้าใจโลกของเขา และพร้อมสร้าง "สมดุล" ให้ชีวิตลูกมีทั้งหน้าจอที่มีคุณค่า และโลกจริงที่เต็มไปด้วยโอกาสในการเติบโต
✱ ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official ✱