253
ผลลัพธ์ของการเลี้ยงลูกเชิงลบ

ผลลัพธ์ของการเลี้ยงลูกเชิงลบ

โพสต์เมื่อวันที่ : December 1, 2021

วัฒนธรรมไทยมีความเชื่อในเชิงอำนาจ ซึ่งผูกพันมาถึงระบบครอบครัว หลายคนเชื่อว่าลูกที่ดีคือลูกที่เชื่อฟัง พ่อแม่สั่งซ้ายหันขวาหันกับลูกได้ คือ ลูกที่อยู่ใน "อำนาจ" ด้วยความ "เกรงกลัวพ่อแม่"

 

เราจึงเชื่อในระบบคำสั่งมากกว่าการรับฟัง เราจึงเชื่อในการดุด่ามากกว่าการชมเชย เราจึงเชื่อว่ายิ่งมีปากเสียงยิ่งต้องบังคับ กำกับ และสั่งสอน เราเชื่อว่าการกดให้ต่ำ จะนำมาซึ่งอำนาจ เราเชื่อว่าการใช้ความรุนแรง จะนำมาซึ่งความเคารพยำเกรง 

 

การเลี้ยงดูเชิงลบ มีหลากหลายรูปแบบ

...“อย่าชมเดี๋ยวเหลิง"...

พ่อแม่มักมีความเชื่อว่า “ชมเดี๋ยวจะเหลิง” (ขนาดทันทีที่เกิดมายังมีความเชื่อว่าห้ามชมว่าน่ารัก เดี๋ยวผีจะมาลักพาตัวไป) พ่อแม่จึงใช้วิธีบ่น-ว่า-ด่า-กำกับ มาใช้ฝึกวินัยลูก ทั้ง ๆ ที่คำชม มีความสำคัญในการพัฒนาด้านบวกของเด็ก

 

..."ขู่ หลอกล่อ ติดสินบน"...

เรามักใช้การหลอกล่อที่ไม่จริง ...“จุ๊ ๆ ๆ จิ่งจกมา”... การขู่ ..."เดี๋ยวแม่ก็ทิ้งไว้นี่เลย"... การติดสินบน ..."ถ้าฉีดยาไม่ร้องไห้เดี๋ยวพ่อพาไปซื้อรถบังคับ"... สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งทำลายศรัทธาที่ลูกมีกับตัวเองและศรัทธาที่ลูกมีต่อพ่อแม่

 

..."เปรียบเทียบ"...

..."ทำไมไม่เก่งเหมือนพี่เค้าบ้าง"... การเปรียบเทียบที่ทำลายความศรัทธาที่ลูกมีต่อตัวเองและทำลายความสัมพันธ์ที่มีกับพ่อแม่และคนที่ถูกนำไปเปรียบเทียบ

..."ใช้คำพูดตราหน้า"...

..."ดื้อ โง่ ขี้เกียจ ไม่ได้เรื่อง"... และอีกมากมาย คำพูดตราหน้า ที่พบว่าทำให้เด็กเชื่อว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าเขาจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

 

..."ห้าม อย่า ไม่"...

การเลี้ยงลูกที่คอยกำกับควบคุม ห้าม ปฏิเสธ แทนการบอกว่าอะไรที่ทำได้ หรือการปล่อยให้ลองเผชิญปัญหาบางอย่างด้วยตัวเอง ส่งผลให้เกิดการต่อต้าน และไม่รับฟังสิ่งที่สั่งสอน

 

..."รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี"...

การลงมือลงไม้ ที่ถูกแปลไปว่าเป็นความรักและการอบรมสั่งสอน ทำให้เกิดการต่อต้าน ทำลายสัมพันธภาพและทำลายความนับถือตัวเองของลูก

..."ช่วยลูกทุกสิ่ง"...

พ่อแม่ที่อยากให้ลูกสุขสบาย คอยทำอะไรให้ทุกอย่าง จะทำให้ลูกเติบโตไปแบบทำอะไรไม่เป็น พ่อแม่ที่ระมัดระวังคอยทำทุกอย่างให้เพื่อไม่ให้ลูกเกิดปัญหา จะมีลูกที่ต้องคอยแก้ปัญหาให้ ไปจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

 

การเลี้ยงดูเชิงลบ ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งจะไปกระตุ้นสมองส่วนสัญชาติญาณ ทำให้เรามีกลไกการป้องกันตัวเอง คิดได้แค่ จะ “สู้" หรือ "ถอย” ที่สำคัญจะหยุดการทำงานของ “สมองส่วนคิด” เมื่อคิด “สู้” เด็กหลายคนก็ต่อต้าน บอกให้ซ้ายจะไปขวา บอกให้เดินหน้าจะถอยหลัง อะไรที่พ่อแม่ไม่สบายใจก็ไม่ลังเลที่จะทำด้วยความไม่รู้ตัว

 

 

เด็กหลายคนก้าวร้าวจนเอาไม่อยู่ เพราะซึมซับการใช้อารมณ์ร้าย ๆ ไปในจิตใต้สำนึก หลายคนเป็นเด็กหงุดหงิดง่าย รอไม่ได้ ผิดหวังไม่เป็น ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เพราะซึมซับว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต

เด็กหลายคนกลายเป็นเด็ก “ดื้อเงียบ” ไม่เถียง ไม่พูด แต่ไม่ทำ 

 

เด็กหลายคนกลัวจนรู้สึก “ถอย” ยอมทำตามให้จบ ๆ ไป แต่อยู่แบบเก็บกดทุกอย่างเอาไว้ในใจ กลายเป็นเด็กวิตกกังวล ซึมเศร้า และที่พบเสมอ คือความไม่แน่ใจว่า "ฉันมันดีพอ" ผลจากความนับถือตัวเองที่ถดถอย

หลายคนไขว่คว้าหาความรักและความหมายของตัวเองจาก "นอกบ้าน" เกมส์ เพื่อน แฟน เซ็กส์ สารเสพติด ฯลฯ จนนำมาซึ่งปัญหาอีกมากมายในวัยรุ่น สิ่งซึ่งจะมีผลกระทบแน่ ๆ คือความสัมพันธ์ระหว่าง “พ่อแม่ลูก” ความเบื่อหน่าย ความเซ็ง ความเฉยชา และอาจจะเลวร้ายไปจนถึง “ความเกลียดชัง” ผลจากความรุนแรงของการเลี้ยงดูเชิงลบที่ได้รับ... ที่ทำให้ไม่อาจรับรู้ได้ "ในความรัก"

 

"รักลูก" หลีกเลี่ยงความรุนแรงทางคำพูด การทำร้ายร่างกายและจิตใจ หรือแม้แต่การไม่ใส่ใจดูแลกันนะคะ เพราะเราจะได้เห็นความรุนแรงนั้น ก่อตัวในลูกของเราแบบที่เราจะมองเห็นได้ ไม่ช้าก็เร็ว

 

 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง