289
 บันไดสิบขั้นสู่การเป็นพ่อแม่เลี้ยงเชิงบวก

บันไดสิบขั้นสู่การเป็นพ่อแม่เลี้ยงเชิงบวก

โพสต์เมื่อวันที่ : December 5, 2020

ขั้นที่ 1 ให้ความสำคัญกับ “เวลาของลูก”

เด็กที่มีเวลาคุณภาพกับพ่อแม่ดี จะสัมพันธ์กับความนับถือตัวเองที่ดี เด็กที่เชื่อว่าตัวเองใช้ได้และมีความหมายกับพ่อแม่ จะคุยง่าย พัฒนาง่าย และฝึกวินัยได้ไม่ยาก ในปัจจุบันหมอพบว่าพ่อแม่ให้ความสำคัญกับเวลาที่ให้ลูกน้อยลง โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน และเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับหน้าจอ เด็กที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ หลายคนจะเรียกร้องความสนใจด้วยการทำอะไรไม่น่ารัก ...“อย่างน้อย...มันก็ทำให้พ่อแม่หันมาสนใจหนูบ้าง”...

ขั้นที่ 2 จับถูกมากกว่าจับผิด

เด็กที่เติบโตมากับคำชื่นชมของพ่อแม่จะเชื่อว่าตัวเองมีดีและใช้ได้ พ่อแม่ที่มองหาข้อดีของลูก และแสดงความชื่นชมในสิ่งดี ๆ ที่ลูกได้ทำ จะสร้างเด็กที่มีความศรัทธาและเคารพตัวเอง เด็กที่เชื่อว่าตัวเองใช้ได้ จะพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีกว่าเด็กที่อยู่แต่คำตำหนิคำ

 

ขั้นที่ 3 แก้ไขสาเหตุมากกว่าการจัดการที่พฤติกรรม

ทุกพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของลูก มักจะมีที่มาของปัญหาเสมอ การเลี้ยงลูกเชิงบวก จะมองลูกให้ลึกกว่าแค่ตาเห็น แต่เป็นการมองเข้าไปถึง อารมณ์ ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก ที่เป็นสาเหตุของพฤติกรรมนั้น ๆ เพราะเชื่อว่าเมื่อเรามองหาสาเหตุและแก้ไขได้ พฤติกรรมของลูกก็จะเปลี่ยนได้ไม่ยากเย็น

 

ขั้นที่ 4 ใช้การกระทำแทนคำพูด

สิ่งที่พ่อแม่มักชอบทำคือการใช้ปากสั่ง วัน ๆ เด็ก ๆ จึงได้ยินแต่เสียงบ่นของคนเป็นพ่อแม่ “ทำนั่นด้วยสิ” “อย่าทำอันนี้นะ” มีงานวิจัยว่าเด็ก ๆ ที่ฟังเสียงบ่น เสียงห้าม อยู่บ่อย ๆ จะทำให้สุดท้ายกลายเป็นเหมือนไม่ได้ยิน ลองฝึกที่จะใช้การกระทำแทนคำสั่งหรือคำบ่น เช่น จากที่คอยบ่นลูกที่ไม่ใส่ผ้าลงตะกร้า บอกลูกว่าแม่จะซักผ้าให้เฉพาะที่อยู่ในตะกร้าเท่านั้น แล้วทำจริง เมื่อไม่มีเสื้อผ้าใส่ ลูกจะเรียนรู้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและปรับปรุงตัวเอง “การกระทำทำให้ลูกเรียนรู้มากกว่าคำพูด”

 

ขั้นที่ 5 ช่วยให้ลูก “มีอำนาจ” ในทางที่เหมาะสม

พ่อแม่ที่คอยควบคุมลูก สั่งให้ทำ กดให้ลูกอยู่ในอำนาจ จะทำให้ลูกพยายามที่จะมีอำนาจเหนือพ่อแม่ ลูกจะต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง ร้องโวยวายเพื่อให้ได้มา งอแงเพื่อให้พ่อแม่สนใจ ไปจนถึงดื้อเงียบ ไม่เถียงแต่ไม่ทำ การทำให้ลูกรู้ว่าตัวลูกมีอำนาจ มีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็น การปล่อยให้ลูกทำอะไรเอง การถามความเห็น การชวนคิด ให้ทางเลือก การให้ลูกมีส่วนร่วมกับกิจกรรม รับผิดชอบกับสิ่งที่ทำ ล้วนแล้วแต่จะทำให้ลูกรู้สึกควบคุมชีวิตตัวเองได้

ขั้นที่ 6 ไม่เชื่อว่าการลงโทษคือหนทางแห่งการพัฒนา 

อย่างที่หมอเขียนไว้ สมองส่วนอารมณ์ของเด็กพัฒนามาก ในขณะที่สมองส่วนคิดเพิ่งเริ่มพัฒนา การลงโทษ มักทำงานกับสมองส่วนอารมณ์ ซึ่งผลสุดท้ายมักไม่ได้ทำให้ลูกเรียนรู้อะไรโดยใช้เหตุผล การเลี้ยงดูเชิงบวก เชื่อในการโค้ช สอน เป็นต้นแบบ ตกลงกติการ่วมกัน เข้าใจและให้อภัยความผิดพลาดและไม่สมบูรณ์แบบ แต่ฝึกลูกให้เรียนรู้จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น มากกว่าการคิดหาวิธีลงโทษให้หลาบจำ 

 

ขั้นที่ 7 ใช้การเรียนรู้ด้วยผลตามธรรมชาติ 

หลายครั้งการเข้าไปจัดการลูกหรือช่วยลูกของพ่อแม่ ปิดกั้นลูกจากการเรียนรู้ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น การที่เราคอยตามป้อนข้าวลูก ลูกไม่เรียนรู้ที่จะหิว และช่วยเหลือตัวเอง การที่เราเข้าไปคอยห้ามไม่ให้วิ่ง ลูกไม่ได้เรียนรู้ว่าล้มแล้วจะเจ็บ ต่อไปจะวิ่งต้องระวัง

 

พ่อแม่จึงควรฝึกถามตัวเองให้บ่อยครั้ง ...“เราจำเป็นต้องเข้าไปห้ามมั้ย”... ถ้าไม่ได้อันตรายอะไรมากควรปล่อยให้เด็ก ๆ เรียนรู้จากผลที่เกิดขึ้น ซึ่งหลายครั้งจะเป็นการเรียนรู้ที่จะสอนเด็ก ๆ ได้ดีมากกว่าคำพูด

 

ขั้นที่ 8 ให้เรียนรู้จากกติกาหรือผลลัพธ์จากการกระทำ

บางครั้งที่เราไม่สามารถปล่อยให้เกิดผลลัพธ์ตามธรรมชาติได้ เราอาจกำหนดให้ลูกเรียนรู้ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น เช่น ลูกไม่ยอมนั่งคาร์ซีท ก็บอกลูกว่าถ้าอย่างนั้นลูกก็จะต้องอยู่บ้าน ไม่ได้ไปกับพ่อแม่ แล้วทำจริง หรือเมื่อลูกทำของเล่นเพื่อนเสียหาย เราต้องซื้อใช้คืน พ่อแม่ควรให้ลูกค่อย ๆ หักจากเงินค่าขนมเพื่อใช้คืนพ่อแม่ การฝึกให้ลูกรับผิดชอบ และเรียนรู้จากผลของสิ่งที่เกิดขึ้น จะทำให้ลูกปรับตัวเองได้ดีขึ้น

ขั้นที่ 9 ฝึกวินัยด้วยการใช้ “kind but firm”

พ่อแม่ที่สงบอารมณ์ตัวเอง ไม่ใช้อารมณ์สอนลูก คุยกับลูกด้วยท่าทีอ่อนโยน แต่จริงจัง มั่นคง ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาและทำด้วยความสม่ำเสมอ จะช่วยลูกให้ฝึกวินัยได้ พ่อแม่ที่ไม่โอนอ่อนกับน้ำตา เสียงอาละวาด หรือตามใจเพื่อให้ปัญหามันจบ ๆ ไป จะฝึกวินัยลูกได้ดี โดยที่ยังมีสัมพันธภาพที่ดีให้กับลูก

 

ขั้นที่ 10 เป็นต้นแบบที่ดี

อยากให้ลูกเป็นอย่างไร เป็นให้ได้ในสิ่งนั้นก่อน อย่าสอนในสิ่งที่เราก็ทำไม่ได้ “ลูกไม่ได้ซึมซับกับสิ่งที่เราพูด แต่เปิดตามองสิ่งที่เราทำเสมอ”

 

"รักลูก" หลักการง่าย ๆ จะทำอะไรกับลูก ให้ถามตัวเอง ว่าสิ่งที่เรากำลังปฏิบัติ มันส่งเสริมสมองส่วนคิดลูก หรือแค่กระตุ้นสมองส่วนสัญชาตญาณ