208
‘Growth Mindset’ ปรับวิธีคิดแค่ลองบิด ‘คำพูด’

‘Growth Mindset’ ปรับวิธีคิดแค่ลองบิด ‘คำพูด’

โพสต์เมื่อวันที่ : October 12, 2023

 

“ฉันมันโง่เอง ไม่มีความสามารถเอง ทำแล้วเลยแย่แบบนี้” 
“ครั้งนี้อาจจะยังแย่อยู่ แต่ก็ทำให้รู้ว่า มันมีจุดผิดพลาดตรงไหนบ้าง” 

 

 

”ฉันทำมันไม่ได้หรอก ปัญหานี้อย่างไรมันแก้ไขไม่ได้หรอก”
“ฉันจะลองทำมันอีกครั้ง ครั้งนี้ยังไม่ได้ก็ต้องหาทางแก้มันอีกที” 

 

 

“ไม่เอาอ่ะ ทำแบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว” 
“ลองดูก็ได้ มันน่าสนใจดี แม้จะดูยากไปหน่อยก็เหอะ” 

 

สองประโยคที่บรรยายเหตุการณ์ยามเมื่อเราเกิด ‘ความล้มเหลว’ ‘ความผิดพลาด’

 

เมื่อคนสองคนต้องเผชิญกับ ‘ปัญหา’ ที่เป็นอุปสรรคที่ใหญ่พอที่จะสั่นคลอน ‘ผลลัพธ์’ ที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำที่เหมือนกันด้วยวิธีการคิดที่แตกต่าง - ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง นำไปสู่ผลลัพธ์ในระยะยาวที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 

 

  • คนหนึ่งกล่าวโทษตัวเอง เพราะฉันไม่เก่งพอ ทำได้ไม่ดีพอ ปัญญาอุปสรรคความล้มเหลวที่เกิดขึ้นนั้นมันคือเรื่องที่ต้องเกิด แก้ไขไม่ได้ จัดการไม่ได้แล้วด้วยเหตุผลอีกหลายร้อยประการที่จะหยิบยกขึ้นมาว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ‘เปลี่ยนแปลงไม่ได้’ ทั้งตัวของเราเอง ทั้งปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งการแก้ปัญหา ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันก็เป็นเช่นนี้แหละ เป็นเราเองที่ต้องจำนนต่อ ‘เหตุการณ์’ ที่เกิดขึ้นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

  • คนที่สองมองปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากสิ่งไหน ตรงไหนคือสิ่งที่ดีแล้ว ตรงไหนคือสิ่งที่ต้องปรับปรุง ตรงไหนคือสิ่งที่ต้องยอมรับข้อจำกัดที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ มองปัญหาผ่าน ‘บริบท’ ผ่าน ‘ประสบการณ์ที่ได้รับ’ จากการลงมือทำ ผ่าน ‘ทักษะ’ และ ‘ตัวตนของเขาเอง’ ณ ตอนนั้นว่าเป็นสิ่งใดคือข้อดี ข้อด้อย ทุกสิ่งทุกอย่างที่พัฒนาได้ ปรับปรุงได้ แก้ไขได้ เพียงแค่เรามองเห็นและลงมือทำซ้ำ เพราะทุกอย่างนั้นพัฒนาได้เสมอ 

 

สิ่งนี้แหละที่เรียกว่า “กรอบความคิดแบบเติบโต” หรือ Growth Mindset ในขณะที่คนที่หนึ่งอยู่ภายใต้ “กรอบความคิดแบบยึดติด” หรือ Fixed Mindset บางคนเรียกว่า ‘กรอบความคิดแบบจำกัด’ 

 

 

ผู้ที่ติดอยู่ในกรอบความคิดแบบยึดติด มักทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ อยู่ในกรอบเดิม ๆ เกรงกลัวความผิดพลาด ไม่กล้าเสี่ยงอาจเพราะกลัวความล้มเหลว ความผิดพลาด ความรู้สึกกลัวที่จะทำมันได้ไม่ดี นี่เป็นเหตุผลที่เด็กและผู้ใหญ่หลายคนจึงกลัวความเปลี่ยนแปลง ต้องการยึดโยงอยู่กับ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ หรือ Comfort Zone ของตัวเอง

 

ทั้งที่ในความเป็นจริงการก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย การรับความเสี่ยงที่จะเกิดความล้มเหลวอาจเป็นหนทางไปสู่ ‘ความสำเร็จ’ ก็ได้ หรือหากไม่ประสบความสำเร็จ เราเองจะได้เรียนรู้ว่า ความจริงนั้นอาจไม่มีสิ่งใดในโลกนี้เรียกมันว่า “ความล้มเหลว” จริง ๆ หากแต่เป็นเพียง ”บทเรียน” ที่เราได้รับระหว่างทางในการลงมือทำที่จะทำให้เราพัฒนาทักษะ ความคิด และตัวเองให้เก่งขึ้นไปได้อีกกว่าที่เป็นอยู่นั่นเอง เช่นเดียวกับที่โธมัส อัลวา เอดิสัน ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟคนแรกกล่าวไว้ว่า 

 

“I have not failed. I’ve just found 10,000 ways that won’t work.” (“ผมไม่ได้ล้มเหลว แต่ผมได้ค้นพบวิธีที่ไม่ได้ผลถึง 10,000 วิธี“) 

 

 

 

กรอบความคิดแบบเติบโต หรือ Growth Mindset ถูกพูดถึงในวงกว้างเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลังจากที่ ศาสตราจารย์แครอล ดเว็ค (Carol S. Dweck) นำเสนอแนวความคิดนี้ผ่านหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success ที่มีงานวิจัยสนับสนุนชัดเจนว่า กุญแจที่นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตและการงานนั้นอยู่ที่ ‘วิธีการคิด’ หรือ ‘กรอบความคิด’ แบบเติบโต ที่เชื่อว่า ความสามารถรวมถึงสติปัญญาของมนุษย์สามารถพัฒนาได้ผ่านการลงมือทำอย่างทุ่มเท มุมานะ อุตสาหะ มิใช่อาศัยเพียงพรสวรรค์และความฉลาด (ความสามารถของสมองที่ดี) เท่านั้น

 

เพราะพรสวรรค์และความฉลาดเป็นเพียง ‘ต้นทุน’ ในการลงมือทำ ทำได้ดีในช่วงแรกเท่านั้น หากไร้ซึ่งความอดทน ขวนขวาย พยายามหาความรู้ พยายามลงมือทำซ้ำ ๆ จนเกิดความชำนาญ รวมถึงการจัดการควบคุมตัวเองที่ดีเมื่อต้องรับมือกับปัญหาหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้น (หลายครั้งเรียกทักษะในการควบคุมตัวเองนี้ว่า Resilience หรือความยืดหยุ่นของสมองในการเผชิญอุปสรรค) เหล่านี้จะนำทางไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ในที่สุด รวมถึง ‘ความสำเร็จ’ นั่นเอง 

 

กรอบความคิด หรือ วิธีคิดและความเชื่อของแต่ละบุคคลที่ส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อ ‘ศักยภาพ’ ของคนคนนั้นในการรับมือกับปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้สามารถเรียนรู้และส่งต่อให้กันได้ จากพ่อแม่และผู้เลี้ยงดู ส่งต่อไปยังลูกหลานได้ตั้งแต่เป็นเด็ก คุณพ่อคุณแม่อยากส่งต่อกรอบความคิดแบบยึดติด ที่ยอมจำนนต่อตัวเอง ต่อปัญหาว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว หรืออยากส่งต่อกรอบความคิดแบบเติบโตที่เชื่อว่าตัวเองสามารถพัฒนาได้ในทุกด้าน 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง