
ความสัมพันธ์ที่ดี...คือรากฐานชีวิตลูก
“บันไดขั้นแรก” ของพัฒนาการมนุษย์
การเล่นบทบาทสมมติ (Pretend play) เป็นการเล่นเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic play) เด็ก ๆ จะสมมติให้ตัวเอง วัตถุ และสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเป็นสิ่งที่เขาจินตนาการถึง เช่น สมมติว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ และให้ตุ๊กตาเป็นลูกของตัวเอง, สมมติให้กิ่งไม้เป็นไม้กายสิทธิ์ และตัวเองเป็นพ่อมดแม่มด, สมมติให้ห้องนอนเป็นอวกาศ และเตียงนอนเป็นจรวด เป็นต้น ซึ่งพัฒนาการการเล่นบทบาทสมมติ เริ่มต้นตั้งแต่เด็กวัย 18 เดือนขึ้นไป
เมื่อเด็กจะเริ่มคุยกับตัวเอง (Self talk) เขาจะพูดบรรยายสิ่งที่เขาคิดออกมา แม้จะไม่เป็นภาษาที่ฟังรู้เรื่องเรื่องหรือเป็นประโยคที่สมบูรณ์ก็ตาม ได้แก่ การเล่นเลียนแบบเสียงของสิ่งต่าง ๆ เช่น กริ๊ง ๆ (เลียนแบบเสียงโทรศัพท์), บรึ๋น ๆ (เลียนแบบเสียงรถยนต์), หรือพูดกับตัวเองว่า จะเอาอันนี้ไปทำอันนี้, รถไป หรือหมีมา เป็นต้น
การเล่นบทบาทสมมติของเด็กวัยเตาะแตะ 18-24 เดือน คือ การเลียนแบบการกระทำของผู้ใหญ่ที่พวกเขาเห็นเป็นประจำ เช่น เลียนแบบท่าทางการคุยโทรศัพท์ของพ่อแม่, เลียนแบบการทำอาหารของพ่อแม่, เลียนแบบการแต่งหน้าทำผมของแม่, เลียนแบบการซ่อมรถของพ่อ เป็นต้น
แม้เด็กวัยนี้จะไม่เข้าใจว่า สิ่งที่พ่อแม่ทำคืออะไร แต่พวกเขาจะเลียนแบบท่าทางของเรา (ที่ทั้งดีและไม่ดี) เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาเห็นและรับรู้ทุกวัน ดังนั้นถ้าเราอยากให้เด็กทำอะไรในวัยนี้ เราเพียงทำเป็นแบบอย่างให้กับเขาอย่างสม่ำเสมอ เด็กจะเลียนแบบโดยอัตโนมัติ
การเล่นบทบาทสมมติของเด็กวัย 2 ขวบเต็ม เด็กสามารถสมมติให้สิ่งของรอบตัวเขาเป็นสิ่งที่เขาอยากให้เป็นตามจินตนาการได้ แต่สิ่งเหล่านั้นจะต้องมีความคล้ายคลึงกับของจริงบ้าง เช่น เล่นป้อนนมน้องตุ๊กตา โดยใช้ขวดนมของตัวเอง หรือขวดนมของเล่นที่มีความเหมือนขวดนมจริง, เล่นคุยโทรศัพท์ โดยใช้โทรศัพท์ของเล่น หรือสิ่งที่มีความคล้ายคลึงกับโทรศัพท์มาเเทนโทรศัพท์ของจริง เป็นต้น
ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเล่นเชิงสัญลักษณ์ครั้งแรกในชีวิตของเด็ก ๆ นอกจากยังเล่นเลียนแบบท่าทางของผู้ใหญ่เช่นเดิม อาจจะเล่นสมมติว่า ตัวเองทำกิจวัตรประจำด้วย เช่น เล่นสมมติว่าหลับอยู่ กรนดังคร่อกฟี้, เล่นสมมติว่ากินข้าว หรือป้อนข้าวให้ตุ๊กตา, เล่นสมมติว่าขับรถ (ทำมือเหมือนจับพวงมาลัย) เหมือนพ่อ เป็นต้น
แต่การเล่นยังไม่ซับซ้อนมากนัก หากต้องการพัฒนาเด็กวัยนี้ ผู้ใหญ่สามารถชี้ชวนให้เด็ก ๆ สนใจท่าทางของผู้คนรอบตัว และอ่านนิทานให้เขาฟังได้ การที่เด็กได้พบเจอจากประสบการณ์จริงตามในหนังสือ ทำให้เขาจดจำมาเล่นบทบาทสมมติต่อไป
นอกจากนี้ ถ้าเราสามารถนำของใช้จริง ๆ มาให้เด็ก ๆ เล่นด้วย เขาจะรู้สึกสนุกกว่าการเล่นของเล่นเด็กเสียอีก เช่น ถ้วย-ถัง-กะละมังหม้อของจริง หากได้นำมาเล่นกับทรายเพื่อสมมติว่าทำอาหาร เด็ก ๆ จะอินกับการเล่นนี้มาก ๆ
การเล่นบทาทสมมติของเด็กวัย 2-3 ปีขึ้นไป เด็ก ๆ จะสามารถเข้าใจและแยกแยะระหว่างของจริงกับของปลอมได้มากขึ้น นอกจากนี้พวกเขาสามารถสมมติให้สิ่งของเป็นไปตามสิ่งที่เขาจินตนาการได้ แม้สิ่งของนั้นจะไม่มีความคล้ายคลึงกับของจริงเลย เช่น สมมติให้กล่องเป็นเครื่องบิน, สมมติให้บล็อกไม้เป็นโทรศัพท์, สมมติให้สีเทียนเป็นลิปสติก, สมมติให้บัวรดน้ำเป็นที่เติมน้ำมัน เป็นต้น
ดังนั้นเด็กวัยนี้ หากได้เล่นกับสิ่งที่ไม่มีรูปร่างที่ตายตัว เช่น ธรรมชาติ หรือของเล่นที่ไม่สำเร็จรูป (Free form toys) ได้แก่ บล็อกไม้ ทราย น้ำ ดินน้ำมัน สี และอื่น ๆ พวกเขาจะสามารถพัฒนาจินตนาการได้ง่ายขึ้น และพัฒนาการใช้สัญลักษณ์ได้ดีกว่าเดิม
...”กิ่งไม้ในวันนี้อาจจะเป็นไม้กายสิทธิ์ แต่อีกวันอาจจะกลายเป็นเบ็ดตกปลา”...
...“น้ำในวันนี้อาจจะเป็นชานมไข่มุกของเเม่ แต่อีกวันอาจจะกลายเป็นน้ำซุปของพ่อ”...
การเล่นบทาทสมมติของเด็กวัย 3-4 ปีขึ้นไป จะเป็นการเล่นบทบาทสมมติที่เป็นเรื่องเป็นราว คล้ายกับละครหรือนิทานมากขึ้น หรือจากสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำให้เข้าเห็น พวกเขาสามารถจินตนาการถึงฉากและคิดถึงลำดับเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นต่อไป เช่น เล่นบทบาทสมมติพ่อแม่ลูก พ่อออกไปทำงาน แม่ทำกับข้าว ลูกอยู่บ้านกับแม่ เมื่อพ่อกลับบ้านมา แม่นำกับข้าวออกมาให้กินกันทั้งครอบครัว จบท้ายพ่อแม่กล่อมลูกนอน หรือนำของเล่นมาเล่นเป็นเรื่องราว อาจจะสมมติให้ไดโนเสาร์สองตัวกำลังต่อสู้กัน ฝูงไดโนเสาร์เข้ามาช่วยเหลือเพื่อนของมัน หรือเล่นเป็นคุณหมอรักษาคนไข้ตุ๊กตา มีการฉีดยา ป้อนยา พันผ้าพันแผล คล้ายการทำงานของคุณหมอที่เขาได้สัมผัสจริง ๆ
เด็ก ๆ มักคุ้นเคยกับอาชีพหมอ คุณครู แม่ค้า พ่อค้า เขาจึงเล่นบทบาทสมมติเป็นอาชีพเหล่านี้บ่อย แต่ถ้าพ่อแม่ทำอาชีพอื่น ๆ อาจจะมีการเล่นเลียนแบบอาชีพของพ่อแม่ด้วย
เรื่องราวบทบาทสมมติมักจะมาจากชีวิตประจำวัน และในหนังสือนิทานที่เราอ่านให้เด็ก ๆ ฟัง ดังนั้นการดำเนินชีวิตประจำวันของพ่อแม่มีอิทธิพลต่อเรื่องราวในจินตนาการของลูกมากนัก
การเล่นบทบาทสมมติของเด็กวัย 4-5 ปีขึ้นไป จะเป็นการเล่นที่จริงจังกับเพื่อนวัยเดียวกัน เน้นการเล่นที่มีการตั้งกติการ่วมกัน มีการกำหนดบทบาทและแบ่งหน้าที่กัน คล้ายกับสังคมจำลอง เช่น เล่นขายของ มีการสมมติว่าใครทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อ ใครเป็นคนขาย, เล่นเกมแปะแข็ง เมื่อถูกแปะจะต้องแข็งเป็นน้ำแข็ง แล้วรอให้คนมาช่วย, เล่นตำรวจจับขโมย มีคนเป็นตำรวจและมีคนรับบทบาทเป็นขโมย วิ่งไล่กัน เป็นต้น
1. การอ่านหนังสือนิทานให้เด็ก ๆ ฟัง เพราะนิทานคือแหล่งทรัพยากรทางจินตนาการที่สำคัญของเด็ก ๆ
2. การให้เด็ก ๆ ได้เล่นกับของจริง เช่น การเข้าครัวทำอาหารโดยใช้อุปกรณ์ของจริง การทำงานบ้านซึ่งได้ใช้อุปกรณ์จริง การให้เด็ก ๆ ได้ช่วยงานเรา
3. การพาเด็ก ๆ ออกไปเล่นข้างนอกบ้าน เพื่อให้เขาได้สัมผัสกับธรรมชาติ ซึ่งสามารถส่งเสริมให้จินตนาการของเด็ก ๆ ได้เปิดโลกกว้าง เพราะธรรมชาติไม่มีรูปร่างที่แน่นอน เด็ก ๆ สามารถจินตนาการให้สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติให้เป็นอะไรได้ง่ายกว่าของเล่นที่สำเร็จรูป
4. การเล่นกับเด็ก ๆ โดยผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างในการเล่นให้กับเขา เด็กจะเลียนแบบเราอย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านการเล่น
5. พูดคุยกับเด็ก ๆ สม่ำเสมอ แม้เขาจะยังไม่พูดก็ตาม เพราะภาษาเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การเล่นบทบาทสมมติพัฒนาได้ และในทางกลับกันการเล่นบทบาทสมมติก็สามารถพัฒนาภาษาให้กับเด็ก ๆ ได้เช่นกัน
6. การเป็นแบบอย่างในชีวิตจริงให้กับลูก
การเล่นบทบาทสมมติมีประโยชน์มากมายมหาศาล เพราะเป็นหนึ่งในการเล่นที่สามารถพัฒนาระบบความคิดและการเรียนรู้ของเด็กในด้านต่าง ๆ เช่น ความจำ ภาษา เหตุและผล การเข้าใจอารมณ์ การเข้าใจสถานการณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเข้าใจตัวเองและผู้อื่น ในวันที่เข้าต้องก้าวออกไปสู่โลกกว้างในอนาคต
...”ยิ่งเล่น ยิ่งพัฒนา”...
อ้างอิง
Lillard, A S, Pinkham, A M, & Smith, E (2011) Pretend play and cognitive development Handbook of cognitive development, 2, 285-311