997
ชมลูกแบบนี้มีแต่จะแย่

ชมลูกแบบนี้มีแต่จะแย่

โพสต์เมื่อวันที่ : September 13, 2021

 

“อย่าชมมาก เดี๋ยวเหลิง” นี่เป็นประโยคคลาสสิกที่แสดงถึงวิธีการเลี้ยงลูกของคนสมัยก่อนได้อย่างดี

 

แม้กระทั่งผู้ใหญ่หลายคนอย่างเราก็เติบโตมาโดยปราศจากคำชมจากพ่อแม่ หลายคนเติบโตขึ้นมาได้อย่างดีด้วยความรักความอบอุ่นและการกระทำที่ทำให้รู้ว่า “เราเป็นคนที่มีค่าในสายตาของพ่อแม่” ซึ่งแม้ปราศจากคำชื่นชมจากปากของท่าน ก็เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความนับถือตัวเอง และมีจิตใจที่หนักแน่นมั่นคงในความเป็นตัวของตัวเองได้

 

ในขณะที่หลายคนเติบโตขึ้นมาโดยปราศจากคำชื่นชมเช่นกัน แต่ก็ปราศจากความรู้สึกของการเป็นที่รักเช่นกัน เพราะพ่อแม่ส่วนหนึ่งก็เก้อเขินที่จะแสดงความรักต่อลูกด้วยการกอด การบอกรัก การตัดสินไม่รับฟัง และการให้ความใส่ใจในทุกรายละเอียดที่เป็นลูก นอกจากไม่ให้คำชื่นชมเมื่อลูกทำเรื่องที่ดีมีค่าควรชมแล้ว ยังมีแต่คำดุด่า คำสั่งสอน คำตำหนิไม่ว่าจะเป็นความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ สักเพียงใดก็ตาม

 

 

เหล่านี้ทำให้หลายคนเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกว่า “ตัวเองไม่ดีพอ” ในสายตาของพ่อแม่ บั่นทอนความเชื่อมั่นในตนเอง โดยหากคำพูดที่บั่นทอนเหล่านั้นมีความรุนแรงทำร้ายจิตใจ ร่วมหรือไม่ร่วมกับการตี การทำร้ายร่างกายด้วยแล้ว จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคทางจิตใจและอารมณ์อย่างโรคซึมเศร้าเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย 

 

คำพูดที่ดีต่อกัน คำให้กำลังใจและคำชื่นชม จึงเปรียบเสมือนน้ำฝนที่ฉ่ำเย็นที่ทำให้ต้นกล้าน้อย ๆ เติบโตขึ้นมาอย่างมั่นคง ในขณะที่คำพูดแย่ ๆ ความรุนแรงในครอบครัวก็เปรียนเหมือนพายุที่พร้อมจะถอนรากถอนโคนให้ต้นไม้น้อย ๆ ต้นนั้นขาดวิ่นและอ่อนแอ 

 

ในทางกลับกัน หากพ่อแม่ชื่นชมอย่างไม่เหมาะสม แทนที่เราจะสร้างเด็กที่มีความเชื่อมั่นและนับถือในตัวเอง เราอาจสร้าง “ค่า” ที่พ่อแม่นับถือมากกว่าการให้ค่ากับสิ่งที่ลูกเป็นหรือพยายามทำ หรือเราอาจสร้างเด็กที่หลงตัวเอง (Narcissist) ขึ้นมาแทนหากคำชื่นชมนั้นสร้าง “ค่า” ที่เกินจริงให้กับเขานั่นเอง ในบทความนี้จะเน้นเรื่องคำชมที่อาจทำร้ายลูกที่คุณอาจไม่เคยรู้ 

 

 

⚫️ ชมแบบไหนที่ทำร้ายลูก ? ⚫️

 

 

﹟ 1. การชมไปเรื่อย ﹟

การชมไปเรื่อยแบบจับต้องไม่ได้ ไม่จำเพาะเจาะจงอย่าง “สุดยอดเลย” “น่ารักจังเลย” “เป็นเด็กเก่งมากเลย” “ดีมากเลย” แบบไม่มีต้นสายปลายเหตุ ชมไปเรื่อยแบบให้กำลังใจหรือชมแบบล้ม ๆ แล้ง ๆ เหล่านี้อาจทำให้คำชมไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากลูกจะไม่รู้ว่าพฤติกรรมใดเป็นพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ชื่นชมและให้ค่าและควรทำนั่นเอง 

 

 

﹟2. การชมที่เกินจริง ﹟

การชมที่เกินควรจริงแบบเหมาะรวมอย่าง “เก่งที่สุด” “ดีที่สุด” “หล่อที่สุด” “สวยที่สุด” “น่ารักที่สุด” แม้จะเป็นคำชมที่ผู้ฟังรู้สึกดีก็ตาม พ่อแม่ชมแบบนี้ ลูกก็รู้สึกดี เป็นเรื่องธรรมดา แต่หากพูดซ้ำ ๆ จนทำให้ลูกยึดมั่นว่า ตัวเขาเองนั้นดีที่สุดอาจทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองดีที่สุด มีความสามารถเหนือผู้อื่นแบบยึดมั่นถือมั่นแบบ “น้ำเต็มแก้ว” อาจหล่อหลอมให้ลูกเป็นคนหลงตัวเอง หยิ่งยะโส เชื่อมั่นในตัวเองแบบเกินจริง ไม่พัฒนาตัวเอง ไม่เรียนรู้ และอาจมีปัญหาในการเข้าสังคมได้ 

 

﹟3. ชม “ผล” มากกว่า “ความพยายาม-การกระทำ” ﹟

แม้ว่าผลลัพธ์ที่ดีอย่าง ผลการเรียนดี สอบได้ที่หนึ่ง การได้คะแนนดี นั้นเป็นเรื่องดีที่ควรชม แต่หากการชมนั้นยึดติดเพียงแค่ ‘ผลสัมฤทธิ์’ หรือ ‘ผลลัพธ์อันเป็นเลิศ’ เท่านั้น สิ่งเหล่านี้กำลังสอนลูกว่า คุณพ่อคุณแม่กำลังให้ค่ากับ “ความสำเร็จ” เป็นที่ตั้งโดยลูกจะค่อย ๆ ยึดติดกับ “ค่า” ที่พ่อแม่ให้ไว้คาดหวังไว้โดยไม่รู้ตัว

 

ลูกจะเริ่มยึดยิดกับความสำเร็จ ความเป็นเลิศ ความเป็นที่หนึ่ง แพ้ไม่เป็น ผิดหวังไม่ได้ จนวันหนึ่งที่เขาอาจล้มหรือได้ไม่ดั่งหวัง เขาจะรู้สึกว่าตัวเองนั้นไม่ดีพอในสายตาของพ่อแม่และรู้สึกว่าตนเองนั้นไม่เก่งและไม่ดีพอ ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น 

 

ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นเราต่างรู้ว่าตำแหน่งที่หนึ่งนั้นมีได้เพียงคนเดียวในการแข่งขันแต่ละครั้ง และการได้อันดับหนึ่งไม่ได้การันตีความสำเร็จและความสุขของชีวิตได้เลย หากแต่การเป็นผู้ที่ใฝ่เรียนรู้ กล้าที่จะลอง กล้าที่จะผิดหวังล้มเหลว นับถือตัวเองได้ มีความสุขกับการได้ลงมือทำ มีความพยายามุมานะฝึกฝนจนเชี่ยวชาญและพัฒนาตัวเองจนในวันหนึ่ง ‘โอกาส’ อาจเข้ามาในวันที่เขาเชี่ยวชาญพอ เก่งพอ แล้วก้าวเดินไปจนประสบความสำเร็จได้ต่างหากที่เป็นเรื่องที่สำคัญ 

 

 

﹟ 4. การชมแบบเปรียบเทียบกับคนอื่น ﹟

การชม “อดีต” มาด่า “ปัจจุบัน” ซึ่งจริง ๆ คือการตำหนิลูกคนที่อยู่ตรงหน้าแทนที่จะเป็นการผลักดันให้ลูกทำดีขึ้นด้วยการทำให้รู้ว่า “ลูกเคยดีกว่านี้” หรือ “ดีน้อยกว่าลูกคนอื่น” คำพูดอย่าง “สมัยก่อน รู้ไหม เราเคยเชื่อฟังพ่อแม่มากกว่านี้ ทำตัวดีกว่านี้นะ ลูกคนนั้นของแม่หายไปไหนแล้ว” เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน 

 

﹟ 5. การชมแบบประชดประชัน ไม่จริงใจ ชมเหมือนตำหนิ ﹟

คำชมเหล่านี้มักขึ้นต้นด้วยคำว่า “ถ้า” และคำแสดงความตกใจอย่าง “โอ้โห” หรือ “โอ๊ย” เช่น “ถ้าปีก่อนขยันแบบนี้ก็ได้สอบได้คะแนนดีไปตั้งนานแล้ว” หรือ “โอโห ... วันนี้ท่าทางฝนจะตก ลูกแม่ทำการบ้านเสร็จก่อนกินข้าวได้ด้วยนะนี่” หรือ “แหม ถ้าเป็นเด็กดีแบบนี้ทุกวันได้ แม่คงไม่ต้องปากเปียกปากแฉะแบบนี้หรอก” ชมให้เหมือนไม่ชม ชมอย่างไรให้เหมือนถูกด่าอยู่ แบบนี้อย่าพูดชมจะดีกว่าครับ 

 

 

คำชมบางคำอาจเป็นยาพิษที่เคลือบคำพูดไว้โดยเราอาจไม่ได้เจตนา หากทำได้ควรลดหรือปรับเปลี่ยนคำชมให้เป็นคำชมที่เหมาะสม ฟังแล้วชื่นใจ ฟังแล้วฮึกเหิมอยากทำให้มันดีขึ้นกว่านี้อีกจะดีกว่า บทความต่อไปจะเป็นหลักของการชื่นชมลูกให้เหมาะสมที่พ่อแม่ควรรู้ 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง