465
วิธีการชื่นชมที่ก่อให้เกิดผลดีกับเด็ก ๆ

วิธีการชื่นชมที่ก่อให้เกิดผลดีกับเด็ก ๆ

โพสต์เมื่อวันที่ : June 5, 2022

บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่มักเคยชินกับการพูดชมเด็ก ๆ แบบภาพกว้าง เช่น “เก่งจังเลย” “ดีจังเลย” “สวยจังเลย”

 

แม้การชมเช่นนี้จะเป็นการเสริมแรงทางบวกให้กับเด็ก ๆ แต่เมื่อเด็ก ๆ ได้รับคำชมเหล่านี้ซ้ำ ๆ บางครั้งพวกเขาไม่รู้ว่า “ที่ดีแล้ว คือ ดียังไง” หรือ “เก่งตรงไหน” หรือ “สวยยังไง” จึงทำให้การชมนั้นอาจจะตอบสนองแค่เพียงความพึงพอใจของผู้พูดชมและผู้ได้รับคำชม แต่ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดได้

นอกจากนี้ ในบางครั้งการพูดชมแบบขอไปที เช่น เมื่อเด็ก ๆ ทำงานสำเร็จแล้วนำไปโชว์ให้พ่อแม่ของเขาดู พ่อแม่ยังไม่ทันเงยหน้าจากโทรศัพท์ แต่ก็พูดชมเด็ก ๆ ไปแล้ว การชมเช่นนี้ เด็ก ๆ อาจจะรับรู้ได้ถึงความไม่ใส่ใจและความไม่จริงใจ พวกเขาอาจจะไม่นับว่าเป็นคำชมเสียด้วยซ้ำ

 

ยิ่งเด็ก ๆ โตขึ้น พวกเขารู้จักการประเมินผลตามความเป็นจริง ดังนั้น เวลาที่เขาทำผลงานที่ไม่ได้ดีมากออกมา เมื่อผู้ใหญ่พูดชื่นชมพวกเขาดังเช่นปกติ เด็ก ๆ อาจจะไม่ได้ดีใจ และอาจจะคิดว่า ผู้ใหญ่ไมไ่ด้จริงใจกับเขาก็เป็นได้ เพราะเขารู้อยู่ในใจว่า ผลงานชิ้นนี้ไม่ได้ดีอย่างที่คิด

 

ดังนั้นการชมของเราเกิดผลดีกับตัวเด็กจริง ๆ เมื่อเราชมเด็กที่ “ความตั้งใจ” “ความพยายาม” หรือ “การกระทำ(พฤติกรรม)” ของเขาที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งวิธีการชมที่ก่อให้เกิดผลดีกับเด็ก ๆ สามารถเริ่มจาก...

 

✚ ขั้นที่ 1 “จริงใจกับเด็ก ๆ” ✚

การชื่นชมที่ดีควรเริ่มจากการจริงใจกับความรู้สึกของเราที่มีต่อเด็กคนหนึ่ง เพราะถ้าหากเราชมเขาด้วยความไม่จริงใจแล้ว เด็กบางคนจะรับรู้ได้ทันที ซึ่งการจริงใจต้องเริ่มจากการให้ “ความสนใจ” กับเด็กตรงหน้าของเราเสียก่อน ปัจจุบันผู้ใหญ่เราบางคน เอ่ยปากชมเด็ก โดยที่ยังไม่ทันเงยหน้าขึ้นมามองเด็กเสียด้วยซ้ำ คล้ายกับเป็นการตอบสนองอัตโนมัติเมื่อได้ยินเสียงเรียกจากลูกว่า "แม่ดูนี่สิ" "พ่อดูหนูสิ" “ครูคะดูที่หนูทำ" ดังนั้นสนใจเด็กให้เต็มที่ มองตาเขา มองสิ่งที่เขาทำ รับฟังที่เขาพูด แล้วเราจะรู้เองว่า “เราควรชมอะไรเขาดี”

 

วิธีการชื่นชมอาจจะไม่ได้จำกัดเพียง “การพูดชม” แต่สามารถใช้การแสดงออกทางกายเพื่อเป็นการชื่นชมเด็ก ๆ ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การเข้าไปกอด การลูบหัว การตบบ่าบีบไหล่ การแปะมือทำไฮไฟว์ (Hi-Five) และอื่น ๆ ซึ่งการแสดงออกอย่างจริงใจเหล่านี้สามารถทำได้เด็ก ๆ รับรู้ได้ถึงความชื่นชมและความภาคภูมิใจที่พ่อแม่และผู้ใหญ่มีต่อพวกเขา

 

✚ ขั้นที่ 2 “ชื่นชมเด็กที่ความตั้งใจและความพยายาม” ✚

การชื่นชมที่ผลลัพธ์หรือผลงานของเด็ก บางครั้งอาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนจะทำผลงานออกมาได้สวยงาม และความสามารถเด็กไม่ได้เท่ากันทุกคน เมื่อเราชมไปว่า "สวยจังเลย" เด็กบางคนอาจจะรับรู้ได้ทันทีว่า “เราโกหก” เพราะเขารู้ว่า ผลงานเขาไม่ได้สวยเหมือนของเพื่อน ๆ แต่ถ้าเราชื่นชมเขาที่ “ความตั้งใจ” และ “ความพยายาม” ของเขา เด็กจะรับรู้ได้ว่า ตัวเองทำสุดความสามารถแล้ว และเขาควรได้รับการชื่นชมเช่นกัน เช่น "ลูกตั้งใจทำอย่างเต็มที่ และพยายามทำผลงานชิ้นนี้ด้วยตนเอง พ่อภูมิใจในตัวลูกนะ" การบอกอย่างชัดเจนว่า เราชอบที่เขา "ตั้งใจทำ" และ "ทำด้วยตัวเอง" ทำให้เด็กรู้ว่า "เราชอบเขาที่ตรงไหน" ดังนั้นเขาจะรักษาสิ่งที่เราชอบเอาไว้ต่อไป

 

✚ ขั้นที่ 3 “ให้การชื่นชมในระดับที่แตกต่างกันกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน” ✚

ในสถานการณ์ที่เด็กต้องใช้ความตั้งใจและพยายามมากเป็นพิเศษ และเขาทำมันได้สำเร็จ ให้เราชื่นชมเขาอย่างเต็มท่ี แต่ถ้าเด็กทำสิ่งนั้นได้อย่างง่ายดาย เพราะเขาเคยทำมันบ่อยครั้งแล้ว เราสามารถชื่นชมเขาได้ แต่ไม่ควรเป็นการชื่นชมที่เทียบเท่ากับสถานการณ์แรก

 

ยกตัวอย่างเช่น... เด็กคนหนึ่งเพิ่งเริ่มเรียนบวกเลขวันแรก เมื่อเขาสามารถทำโจทย์ได้ด้วยตัวเขาเอง พ่อแม่ควรชื่นชมเขาอย่างเต็มที่ เช่น “ลูกพยายามได้ดีมากเลย ทำเสร็จด้วยตัวลูกเอง” แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเขาทำโจทย์ได้ด้วยตัวเอง พ่อแม่สามารถลดระดับการชื่นชมลงมาได้ เช่น “ลูกตั้งใจดีมาก” 

 

ทั้งนี้ เราควรชื่นชมเพื่อให้ลูกเกิดการพัฒนา ซึ่งการชื่นชมที่ดี คือ การชื่นชมอย่างเต็มที่เมื่อลูกกล้าที่ลองทำสิ่งใหม่ ๆ หรือ สิ่งที่ยากและท้าท้าย อย่างไรก็ตามการชื่นชมยังควรมีอยู่ แม้สิ่งนั้นลูกจะทำได้จนชำนาญ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่า สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสม ควรทำต่อไป เมื่อถึงวัยหนึ่งที่เด็กจะเรียนรู้ว่า “เขาจำเป็นต้องทำ แม้จะไม่มีใครชื่นชมเขา” คำชื่นชมของเราจะส่งผลกับเขาน้อยลงไปเอง

 

การชื่นชม "ความพยายาม" ของเด็กมากกว่า "ผลลัพธ์" ของเขาเพราะ "ความพยายาม" จะทำให้เด็กสามารถข้ามผ่านอุปสรรคในชีวิตไปได้ตลอดรอดฝั่ง และพยายามพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ในขณะที่ "ผลลัพธ์" ทำให้เด็กมองเป้าหมายคือการได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่คาดหวัง เมื่อบางครั้งไม่สมดังหวัง จะทำให้หมดกำลังใจ และจะยอมแพ้ และผละจากสิ่งนั้นไปเอาเสียดื้อ ๆ

 

✚ ขั้นสุดท้าย “อย่าลืมสอนให้เขาชื่นชมยินดีกับผู้อื่นบ้าง” ✚

เด็ก ๆ ที่เติบโตมาพร้อมกับการได้รับความสนใจ ได้รับคำชื่นชมเมื่อทำสิ่งที่ดีและเหมาะสม เขาจะกลายเป็นผู้ใหญที่มีความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง อย่างไรก็ตามเขาควรจะเรียนรู้ที่จะหันไปชื่นชมและแสดงความยินดีกับผู้อื่นบ้าง เพราะการมองเห็นคุณค่าในตัวผู้อื่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เขาใช้ชีิวิตในสังคมอย่างมีความสุข 

 

พ่อแม่สามารถเริ่มสอนลูกได้ตั้งแต่วัยเยาว์ โดยเริ่มจากการแสดงความยินดีกับผู้ชนะเมื่อเขาเป็นฝ่ายแพ้ และให้กำลังใจกับผู้แพ้เมื่อเขาเป็นฝ่ายชนะการแข่งขัน นอกจากนี้พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างให้กับลูกในการชื่นชมกันอยู่เสมอ พ่อแม่ที่แสดงความขอบคุณเมื่ออีกฝ่ายทำสิ่งต่าง ๆ ให้ และชื่นชมอีกฝ่ายด้วยความจริงใจ ลูกจะเลียนแบบพ่อแม่ของเขา และเรียนรู้ที่จะนำไปใช้กับผู้อื่นต่อไป

 

สุดท้าย การชื่นชมจากพ่อแม่ ถือเป็นพรวิเศษที่พ่อแม่สามารถมอบให้กับลูกของตนได้ เด็ก ๆ ที่ได้รับพรข้อนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มองเห็นคุณค่าในตัวเองและผู้อื่น เขาจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปในสังคมได้อย่างมีความสุข