702
ของเล่นบ้านเราเยอะเกินไปหรือเปล่า

ของเล่นบ้านเราเยอะเกินไปหรือเปล่า

โพสต์เมื่อวันที่ : June 23, 2023

 

ถ้าเรากำลังประสบปัญหา “ลูกเล่นเสร็จแล้วไม่เคยเก็บของเลยค่ะ ?” “ลูกเป็นเด็กขี้เบื่อค่ะ ของเล่นใหม่ เล่นเดี๋ยวเดียวก็โยนทิ้งแล้วค่ะ” “ลูกเล่นของเล่นได้ไม่นาน เล่น ๆ แป๊ป ก็เปลี่ยนไปเล่นโน่นบ้างนี่บ้าง"

 

คำถาม คือ ...“บ้านเรามีของเล่นเยอะเกินไปหรือเปล่า ?”... ลูกเล่นแล้วไม่เก็บเกิดจากหลายสาเหตุ เราควรแก้ตั้งแต่...

 

 

ข้อที่ 1 พ่อแม่ ผู้ใหญ่ รอบตัวเขาเป็นต้นแบบที่ดี

พ่อแม่ ผู้ใหญ่ที่บอกเด็ก ๆ เสมอว่า ...“ให้เก็บของทุกครั้ง”... แต่เมื่อมองออกไปรอบ ๆ ตัวเขา ของ ๆ ผู้ใหญ่แต่ละคนวางกระจัดกระจาย ไม่ได้ถูดจัดเก็บเป็นที่เป็นทางแม้แต่น้อย ในเด็กเล็กเขาอาจจะสื่อสารออกมาไม่ได้ แต่เขาคงรู้สึกว่า ...“บ้านของเขาก็มีของเยอะแยะไม่หมด”...

 

เมื่อเราจัดสภาพแวดล้อมแล้ว อย่าลืมสอนลูก ๆ ให้เก็บของทุกครั้งเมื่อเล่นเสร็จ ในความเป็นจริงไม่ใช่แค่การเก็บของเล่น แต่หมายรวมถึงการเก็บข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ด้วย ทั้งของส่วนตัวและของส่วนรวม เพื่อสร้างอุปนิสัยที่ดีให้เขาต่อไปในอนาคต

 

☺︎ ในลูกเล็ก ถ้าลูกไม่ยอมเก็บ เราพา(ตัว)เขามาเก็บได้ เก็บแล้วจึงจะไปทำสิ่งอื่นได้ พ่อแม่ต้องอดทนในข้อนี้ อย่าเก็บให้เขา แต่เก็บด้วยกัน จับมือเขาเก็บไปด้วยกัน อย่ามัวแต่พูดบ่นเขา เพราะแค่พูดบอก เด็กอาจจะไม่ทำตามที่เราบอก แต่ถ้าลงไปหาเขา ลงมือทำ ได้ผลแน่นอน

 

☺︎ ในลูกที่โต โตมากพอที่ต้านแรงเราแล้ว เราใช้การตกลงกันไว้ก่อน อย่างเช่น ถ้าลูกไม่เก็บ พ่อแม่จะเตือนเขา 2 ครั้ง ถ้าครั้งที่ 3 ของชิ้นนั้นจะถูกเก็บไปหนึ่งสัปดาห์ ลูกจะไม่ได้เล่นมัน

 

 

ข้อที่ 2 สถานที่เก็บของเล่น

ควรเข้าถึงง่ายถ้าลูกเดินเข้าไปไม่ถึง อยู่สูงเกินไป เริ่มอันตรายสำหรับลูกเราแล้ว ก็ควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ชั้นที่อยู่สูง เก็บของที่ลูกไม่ค่อยได้เล่น ชั้นที่อยู่ล่างควรเก็บของที่ลูกเล่นประจำ ควรง่ายต่อการเก็บจัดเก็บแบ่งแยกหมวดหมู่ชัดเจน เพื่อให้ลูกได้ฝึกการแยะแยะหมวดหมู่สิ่งของด้วย เช่น ยานพาหนะ ตุ๊กตาสัตว์บก สัตว์น้ำ ของเล่นบล็อกไม้ เลโก้ ของเล่นทำอาหาร เป็นต้น

 

 

ข้อที่ 3 เด็กขี้เบื่อ

ไม่สามารถคงความสนใจต่อของเล่นชิ้นใดชิ้นหนึ่ง หรือ ไม่มีสมาธิตามวัย เมื่อของเล่นมีมากมาย เต็มห้องไปหมด เด็กจะเล่นชิ้นละนิดละหน่อย ให้นึกถึงตัวเองเวลาไปกินบุฟเฟต์นะคะ เวลาเราเจออาหารมากมายหลายอย่าง ยิ่งเป็นบุฟเฟ่ต์นานาชาตินะ ต้องชิมมันทุกอย่าง เรามีแนวโน้มจะกินมากกว่าปกติ แม้จะเป็นอาหารมื้ออื่น เราก็มีแนวโน้มจะกินมากขึ้นจากการกินบุฟเฟ่ต์บ่อย ๆ

 

เด็ก ๆ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเขามีตัวเลือกมากมายในห้อง เขาคงไม่เล่นของชิ้นเดียวนาน ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นบ่อย ๆ สมาธิ และการคงความสนใจของเขาต่อสิ่ง ๆ หนึ่งจะสั้นลงไป ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ใหญ่ ควรให้เด็ก ๆ เลือกของที่ต้องการนำไปเล่นทีละอย่าง แล้วจะนำของเล่นชิ้นอื่นมาเล่นได้ก็ต่อเมื่อถึงเวลาตามสมาธิของเขา ถ้าไม่อยากเล่นชิ้นนั้นให้เขาอยู่กับของนั้นช่วงเวลาหนึ่งตามวัยของเขา เพื่อให้เด็กเรียนรู้ “การรอคอย” และ “หาวิธีเล่นเพื่อจัดการความเบื่อของเขา"

 

  • ☺︎ เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ช่วงความสนใจเขาอยู่ที่ประมาณ 5 นาที หรือ ต่ำกว่านั้น
  • ☺︎ เด็กอายุ 2 ปี จะมีช่วงความสนใจเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7 นาที
  • ☺︎ เด็กอายุ 3 ปี จะมีช่วงความสนใจเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8-9 นาที
  • ☺︎ เด็กอายุ 4 ปี จะมีช่วงความสนใจเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 123 นาที
  • ☺︎ เด็กอายุ 5 ปี จะมีช่วงความสนใจเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 136 นาที

 

ทั้งนี้ลูกของเราอาจจะมีช่วงความสนใจที่มากกว่านั้น นั่นเป็นสิ่งดี ถ้าต่ำกว่านั้นเราควรพัฒนาส่งเสริมเขาต่อไป

 

ความเบื่อไม่ได้ทำร้ายลูกเรา แต่การอดทนรอคอยไม่ได้ แม้ช่วงเวลาสั้น ๆ นั้นน่าเป็นกังวลยิ่งกว่า ให้ลูกอยู่กับความเบื่อบ้าง เพราะบ่อยครั้งความเบื่อนำพาเด็กหลายคนไปสู่ “ความคิดสร้างสรรค์” และ “ความคิดริเริ่ม” เนื่องจากเด็กต้องคิดวิธีการเล่นใหม่ ๆ กับของเล่นชิ้นเดิมที่เขามีอยู่ ที่สำคัญเมื่อเด็กอยู่กับของเล่นชิ้นใดได้นานขึ้น สมาธิของเขาจะแผ่ขยายได้ยาวมากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

 

ข้อที่ 4 ห้องเล่นเด็กที่ควรเป็น (Playroom)

ก่อนอื่นห้องเด็กเล่น ต้องเข้าใจคำนี้จริง ๆ ว่า ...“ห้องไม่จำเป็นต้องสวย แต่ห้องนี้ต้องปลอดภัย และพร้อมเลอะได้เต็มที่”... แต่ควรมีพื้นที่โล่ง (แคบหรือกว้าง ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ต้องโล่ง) เพื่อเด็ก ๆ จะสามารถใช้พื้นที่สร้างสรรค์ จินตนาการได้อย่างเต็มที่ และมีแสงสว่างส่องถึง

 

อย่างไรก็ตามห้องเล่นที่ดีที่สุดในโลก มีกำแพงที่กว้างสุดลูกหูลูกตา มีท้องฟ้าเป็นเพดาน และมีธรรมชาติเป็นของเล่น ห้องนี้แหละ ไม่ว่าใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ หากมีเวลา และความพยายามเพียงพอที่จะพาลูกออกมาเล่นนอกบ้าน

 

ข้อที่ 5 ของเล่นเยอะแค่ไหน ไม่สำคัญเท่ากับว่าใครที่เล่นกับเขา

บางครั้งไม่จำเป็นต้องมีของเล่นใด ๆ แค่พ่อแม่ที่อยู่กับเขาทั้งตัวและหัวใจก็เพียงพอแล้ว

 

สุดท้ายเกณฑ์ที่บอกว่า “บ้านเรามีของเล่นเยอะเกินไป” ไม่ได้มีเกณฑ์ที่ตายตัวเสียทีเดียว แต่ถ้าเรากำลังประสบปัญหาข้างต้น ลองกลับไปทบทวนของเล่นที่บ้านของเรา สถานที่เก็บของเล่น และการมีอยู่จริงของพ่อแม่

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง