10412
รู้จักอารมณ์เรา เข้าใจอารมณ์ลูก

รู้จักอารมณ์เรา เข้าใจอารมณ์ลูก

โพสต์เมื่อวันที่ : May 7, 2020

พ่อแม่หลายคนมีความตั้งใจที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก โดยเฉพาะในเรื่องการควบคุมอารมณ์ แต่หลายคนกลับรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เวลาลูกมีพฤติกรรมไม่น่ารัก

 

ถ้าเราเข้าใจทำไมคนเราถึงปรี๊ด เราจะเข้าใจวิธีแก้ไข ช่วยควบคุมใจเพื่อให้เราเป็นพ่อแม่ที่สงบและเป็นตัวอย่างที่ดีกับลูกได้มากขึ้น เมื่อสมองเรามองเห็นพฤติกรรมบางอย่างของลูกสิ่งที่เข้ามากระทบใจหลายครั้งมันทำให้เกิด "ความคิดอัตโนมัติ"

 

..."ลูกนี่เอาแต่ใจอีกละ"...
..."ทำไมเป็นเด็กงอแงแบบนี้"...
..."กำลังอยากเอาชนะพ่อล่ะสิ"...
..."โตไปจะเอาแต่ใจมั้ยนะ"... ฯลฯ

 

ความคิดอัตโนมัติเหล่านี้ ทำให้เรา “มีอารมณ์” โกรธ โมโห อารมณ์เสีย และสุดท้ายก็ออกมาเป็นพฤติกรรมปรี๊ด ๆ ตะคอกลูก เสียงดัง โวยวายใส่ ขู่ แสดงอำนาจ การแสดงออกที่เกิดเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ และเจ้าความคิดอัตโนมัตินี้หลายทีก็มีที่มา เพราะถ้าสำรวจใจลึกลงไป เรามักพบว่า เรามีความเชื่อหรือมีมาตรฐานอะไรบางอย่าง "เด็กน่ารักต้องไม่โวยวาย" "เป็นลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่" "เด็กร้องไห้จะโตไปสุขภาพจิตเสีย" 

 

อยากจะหยุดโมโหลูกได้ ต้องเริ่มที่ "ใจ"

 

❤︎ ปรับเปลี่ยนมุมมองเมื่อเห็นพฤติกรรมไม่น่ารักของลูก ❤︎

..."ลูกไม่ได้อยากทำตัวมีปัญหา ลูกแค่มีปัญหาที่จัดการไม่ได้"...

..."ลูกเองก็กำลังรู้สึกแย่ และต้องการให้แม่ช่วยเหลือ"... ฯลฯ

 

❤︎ ปรับความเชื่อหรือมาตรฐานบางอย่างในใจ ❤︎

..."เด็ก ๆ สมองยังไม่พัฒนา การโวยวายเป็นเรื่องธรรมดา"...

..."ลูกไม่เชื่อฟังบ้างน่ะดี แปลว่าลูกมีความคิดเป็นของตัวเอง"...

..."การร้องไห้ เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเข้าถึงใจลูก”... ฯลฯ

❤︎ ปรับพฤติกรรม ❤︎

อารมณ์ไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหา แต่การแสดงอารมณ์ที่ทำร้ายใครเป็นสิ่งที่เป็นปัญหา ยังจัดการอารมณ์ไม่ได้ ก็ให้ยั้งพฤติกรรมไว้ก่อน การจัดการพฤติกรรม ทำได้หลายอย่าง หายใจลึก ๆ นับ 1-100 เดินแยกออกไปสงบตัวเองหรือ อาจจะระบายอารมณ์ตีอกแปลงร่างเป็นคิงคองให้เป็นเรื่องตลก เพื่อปลดปล่อยอารมณ์ปรี๊ด และถ้าทำอะไรไม่ได้จริง ๆ ให้ “สงบปาก” ไว้ก่อน

 

อย่างไรก็ตามเป็นธรรมดาที่เราจะมีปรู๊ดปรี๊ดกันไปบ้าง วิธีแก้ไขก็ง่าย ๆ เป็นความสุขของลูกให้ได้ เล่นกับลูกเยอะ ๆ กอด ขอโทษ อะไรที่ผิดพลาดไป ลูกจะให้อภัยเราได้ไม่ยาก ท่องไว้ "คนเราให้อภัยตามปริมาณของความรัก" เชื่อเถอะค่ะ ถ้าเราเป็นที่รักของลูก จะผิดจะถูก ลูกก็ให้อภัยได้ ลองไปปรับใช้ดูนะคะ