
“วางแผนล่วงหน้า” ลดปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน
การวางแผนก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้เช่นกัน
ในยุคปัจจุบัน เนื่องจากสิ่งแวดล้อม สังคม การเรียน และการใช้ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก ไม่ว่าอย่างไร มนุษย์ทุกคนล้วนต้องใช้งานเทคโนโลยีอยู่ดี
ในขณะเดียวกัน ข้อเสียของเทคโนโลยีเหล่านี้ต่อสมองของเด็กที่ยังอยู่ในช่วงพัฒนา ก็มีมากจนน่ากังวล ดังนั้น พ่อแม่ในยุคดิจิทัลควรสร้างสิ่งแวดล้อมทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับลูก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบด้านลบให้น้อยที่สุด
● บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝึกลูกมีจริยธรรมในยุคดิจิทัล
หน้าที่ ‘แรก’ ของพ่อแม่ในยุคดิจิทัลคือการเป็นแบบอย่างที่ดี
ควรมีกฎกติกาในการใช้หน้าจออย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช่ใช้ตลอดเวลา หรือใช้จนกระทบเวลาที่ควรใช้ร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว (ในกรณีที่ต้องทำงานผ่านหน้าจอ ก็ควรกำหนดเวลาให้ชัดเจนว่าเป็นช่วงเวลาทำงาน) นอกจากนี้ แนะนำให้งดใช้หน้าจอทุกชนิดในช่วงเวลารับประทานอาหาร เพื่อให้เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนในครอบครัวได้ใช้ร่วมกัน เปิดโอกาสให้เราได้พูดและรับฟังกันมากขึ้น
ควรจัดสมดุลระหว่างเวลาออนไลน์ (การใช้หน้าจอ) และออฟไลน์ (กิจกรรมที่ไม่ใช้หน้าจอ) ให้เหมาะสม โดยเฉพาะเวลาคุณภาพที่ใช้ร่วมกัน เพราะความสัมพันธ์ที่ดีเกิดจากการใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ ในอดีต เคยมีคนกล่าวว่า "เทคโนโลยีทำให้เราใกล้กันมากขึ้นและติดต่อกันได้ง่ายขึ้น" แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีกลับอาจทำให้เราห่างไกลกันมากขึ้นและสื่อสารกันน้อยลง หลายครั้งที่พ่อแม่และลูกนั่งอยู่ข้าง ๆ กันในบ้าน แต่แต่ละคนกลับก้มมองหน้าจอในมือของตัวเอง ไม่พูดคุย ไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน แม้จะอยู่ใกล้กัน แต่กลับรู้สึกห่างไกลกันเหลือเกิน
● บทความที่เกี่ยวข้อง : เทคโนโลยีไม่ใช่ผู้ร้ายที่แท้จริง
ลำดับที่ ‘สอง’ คือ ความปลอดภัยสำคัญที่สุด
เพราะเทคโนโลยีทำให้ ‘มิจฉาชีพ’ เข้าถึงเราและลูกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็ทำให้เราและลูกสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อาจมีภาพ เสียง หรือเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เช่น พฤติกรรมรุนแรง เรื่องเพศ และการใช้ภาษาที่ต้องใช้วิจารณญาณในการรับชมและรับฟัง (คล้ายกับคำเตือนที่ใช้ในการจัดเรตติ้งเนื้อหารายการโทรทัศน์) บางเนื้อหาเด็กไม่ควรดูเลย ในขณะที่บางเนื้อหาเด็กอาจดูได้ หากมีผู้ปกครองให้คำแนะนำที่เหมาะสมระหว่างรับชม ดังนั้น ผู้ปกครองจึงต้องดูแลและบริหารความเสี่ยงในการใช้เทคโนโลยีของลูกให้ดี
ควรอนุญาตให้ลูกใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้ช้าที่สุด (เท่าที่ทำได้) ในวัยที่เด็กสามารถรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว โดยทั่วไป แอปพลิเคชันแต่ละแพลตฟอร์มจะกำหนดอายุขั้นต่ำในการสมัครบัญชีที่ 13 ปีขึ้นไป (ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่พ่อแม่ควรยึดถือเป็นแนวทางเบื้องต้น) ไม่ควรเปิดบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ให้ลูกก่อนวัยอันควร เพราะอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ บั่นทอนความมั่นใจในตัวเอง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyberbullying)
เนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์อาจทำให้เด็กเกิดการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปร่างหน้าตา ฐานะทางการเงิน หรือไลฟ์สไตล์ ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกยึดติดกับค่านิยมที่ไม่เหมาะสม ทั้งกับวัยและกับสิ่งที่ควรเป็นจริงในชีวิต
ในขณะเดียวกัน ผู้ปกครองต้องใช้วิจารณญาณในการโพสต์ข้อมูลลงสื่อสังคมออนไลน์ด้วย ไม่ควรเปิดเผย "ตำแหน่ง" (Location Tagging) แบบเรียลไทม์ เช่น บอกว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน แม่อยู่ตรงนี้ ลูกเรียนโรงเรียนอะไร รับลูกตอนกี่โมง บางคนโพสต์ข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดโดยไม่รู้ตัว ซึ่งหากผู้ไม่หวังดีทราบข้อมูล อาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยได้
ส่วนการโพสต์ ภาพของลูก ควรทำด้วยความระมัดระวัง แม้ว่าพ่อแม่จะต้องการเก็บเป็นความทรงจำ แต่บางครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ เช่น รูปที่ลูกห่มผ้าน้อยชิ้นในวัยเด็ก ภาพที่เห็นก้นหรืออวัยวะต่าง ๆ ตอนเด็ก ๆ อาจดูน่ารักสำหรับพ่อแม่ แต่เมื่อลูกโตขึ้น อาจทำให้พวกเขารู้สึกไม่สบายใจหรืออับอาย
นอกจากนี้ หากพ่อแม่ต้องการนำภาพของลูกออกสู่สาธารณะ ควร ขออนุญาตจากลูกก่อน โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาโตพอที่จะเข้าใจเรื่องสิทธิส่วนบุคคล (Informed Consent) การทำเช่นนี้ช่วยสอนให้ลูกเข้าใจเรื่อง สิทธิในร่างกายของตนเอง และเรียนรู้ว่าเขามีสิทธิ์ ยินยอม หรือ ปฏิเสธ ตามความคิดเห็นของตัวเอง
'สาม' เมื่อต้องใช้หน้าจอต้องมีกรอบ และพ่อแม่ต้องสำรวจเสมอ
"กรอบ" ในที่นี้หมายถึง การกำหนดเวลาในการใช้หน้าจอเพื่อความบันเทิง ไม่ควรใช้มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการดู YouTube, การ์ตูน, อนิเมะ หรือการเล่นเกม พ่อแม่ควรตรวจสอบเนื้อหาของสิ่งที่ลูกดูหรือเล่นอยู่เสมอว่าเหมาะสมกับวัยหรือไม่ (ตามที่กล่าวไปก่อนหน้านี้)
ถึงเวลาต้องเลิก ก็ควรต้องเลิก หากเลิกไม่ได้ ก็ต้องฝึกให้เลิกได้ แม้ลูกจะเสียใจที่ต้องหยุดดูหรือเล่น ก็ต้องยอมรับให้ได้ เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ว่าชีวิตต้องมีระเบียบวินัยและขอบเขต
ไม่ควรให้มีหน้าจอในห้องนอน โดยเฉพาะในห้องนอนส่วนตัว ไม่ควรอนุญาตให้ลูกนำโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเข้าไปในห้องนอน เพราะเด็กอาจควบคุมตัวเองไม่ได้ เผลอใช้ต่อจนดึก ส่งผลให้เข้านอนช้า คุณภาพการนอนลดลง ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ และอาจส่งผลกระทบต่อสมาธิและผลการเรียนในห้องเรียนได้
● บทความที่เกี่ยวข้อง : หยุดยื่นหน้าจอให้ลูกได้แล้ว !
พ่อแม่ควรหากิจกรรมให้ลูกได้ลงมือทำอย่างเหมาะสมกับวัย บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่หยิบยื่นหน้าจอให้เด็ก เพราะไม่รู้จะให้ลูกทำอะไร ดังนั้น การวางแผนหากิจกรรมให้ลูก หรือดียิ่งกว่านั้นคือการทำกิจกรรมร่วมกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญในยุคสมัยนี้ เพราะหากไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เรื่องก็มักจบลงที่หน้าจอ หรือไม่ก็พาลูกไปเดินห้างสรรพสินค้าทุกครั้ง
กิจกรรมที่สามารถทำได้มีมากมาย เช่น
📌 เล่นกีฬา
📌 อ่านหนังสือ
📌 เล่นดนตรี
📌 เต้น (ในวัยที่ยังสนุกไปด้วยกันได้)
📌 ฟังเพลง
📌 ขีดเขียน
📌 เข้าครัวทำขนมหรืออาหารร่วมกัน
📌 ทำงานบ้าน ล้างรถ ซ่อมของใช้ในบ้าน
📌 ทำสวน รดน้ำต้นไม้
📌 เดินเล่นรอบบ้าน นั่งใต้ต้นไม้
📌 ไปสวนสาธารณะ ไปซื้อของด้วยกัน
📌 ไปท่องเที่ยวทั้งใกล้และไกล
📌 หรือบางทีก็แค่ได้นั่งข้าง ๆ กัน พูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องราวของกันและกัน
ที่สำคัญ การปล่อยให้ลูกได้ "เบื่อ" บ้างก็เป็นเรื่องดี เพราะเด็กมักไม่ปล่อยให้ตัวเองเบื่อนานเกินไป เดี๋ยวเขาจะหาสิ่งที่สนใจทำเอง และนี่คือโอกาสที่พ่อแม่จะได้เห็นว่า ลูกของเราชอบทำอะไร มีพรสวรรค์ด้านไหน และมีศักยภาพอะไรที่ควรส่งเสริม
“นี่คือแนวทางในการเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัลในแบบของผู้เขียน”
✱ ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official ✱