544
ทำไมลูกชอบ 'เรียกร้องความสนใจ'

ทำไมลูกชอบ 'เรียกร้องความสนใจ'

โพสต์เมื่อวันที่ : June 8, 2023

 

มนุษย์ทุกคนต้องการ ‘ความสนใจ’ ในแบบของตนเอง บางคนมาก บางคนน้อย บางคนต้องการบางเวลา บางคนต้องการความสนใจตลอดเวลา โดยช่วงวัยที่ชัดเจนกับตัวเองมากในความต้องการความสนใจก็คือ “วัยเด็ก”

 

เพราะการเรียกร้องความสนใจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำตั้งแต่แรกเกิด โดยเด็กเล็กจะเรียกร้องความสนใจด้วยสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดของมนุษย์นั่นก็คือ “การร้องไห้” ในช่วงเวลาที่เขารู้สึกไม่สบายตัว ได้แก่ ความหิว ความง่วง รวมถึงอาการทางร่างกายอื่น ๆ

 

เช่น ความเจ็บคันจากการโดนแมลงสัตว์กัดต่อย ท้องอืด หรือกระทั่งร้อนหรือเย็นจนเกินไป นั่นก็เพื่อเรียกร้อง ‘ความสนใจ’ จากพ่อแม่ให้มาดูแลเขา เอานมมาป้อนให้ กล่อมเขาให้นอนหลับ และช่วยจัดการกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเขา

 

นั่นรวมถึงเรียกร้องอ้อมกอด สายตา และความอบอุ่นจากพ่อแม่ที่จะสร้าง ‘ความรู้สึกปลอดภัย’ ให้กับเขา ♥︎

 

 

เมื่อลูกเติบโตขึ้น... ‘การเรียกร้องความสนใจ’ จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามอายุและพัฒนาการ

เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เรายังต้องการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่อยู่รอบข้างอย่างเหมาะสมด้วยสาเหตุต่าง ๆ และเมื่อได้รับความรักและความเอาใจใส่อย่างเหมาะสมตั้งแต่วัยเด็ก เด็กจะเติบโตอย่างนับถือตัวเองและนำไปสู่ความภาคภูมิใจในตัวเองได้ เพราะเราจะไม่สามารถนับถือตัวเองได้เลยหากไม่ได้รับความรู้สึกว่าเรามี ‘คุณค่า’ ในสายตาของผู้อื่น

 

'การเรียกร้องความสนใจ' จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อพัฒนาการของเด็กปกติคนหนึ่ง หากความต้องการของเด็กไม่ได้รับการตอบสนอง เขาจะเรียกร้องความในใจจากผู้ใหญ่ในแบบของเขา และแน่นอนว่าวิธีการเรียกร้องความสนใจของเด็กนั้นมักแสดงออกมาในรูปแบบที่ ‘ไม่น่ารัก’ นัก

 

ดังนั้นยามที่ลูกทำเรื่อง 'ไม่น่ารัก' ที่ผู้ใหญ่อย่างเรามักบอกว่า 'เด็กก็แค่เรียกร้องความสนใจ' แล้วเราล่ะตอบสนองต่อการเรียกร้องความสนใจนั้นอย่างไร ? ด้วยการไม่สนใจ เพิกเฉย หรือหลายคนตอบสนองโดยการบอกลูกในเชิงลบด้วยซ้ำไป

 

สุดท้ายหลายครั้งลงเอยด้วยพฤติกรรมที่แย่กว่าเดิม เป็นผู้ใหญ่เราที่จะปวดหัวเองมากขึ้น ๆ เพราะ "เด็กมักเรียกร้องหาความรัก ด้วยวิธีที่ไม่น่ารักเสมอ" เพราะทุกพฤติกรรม ทุกเสียงร้อง คือ วิธีการสื่อสารของเด็ก

 

 

...เด็กปาข้าวของ เพราะต้องการบอกว่าเขาเบื่อเซ็ง มาเล่นกับเขาหน่อย...

...เด็กร้องดิ้นอาละวาด เพราะเขาโกรธไม่พอใจและจัดการกับอารมณ์นั้นไม่ได้...

 

 

เด็กอาจทำได้ทุกอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจของพ่อแม่ แม้กระทั่งการกระทำที่อาจทำให้ตัวเองเจ็บปวด หรือบาดเจ็บ อย่างการตีตัวเอง เอาหัวไปโขกกำแพงหรือขอบเตียง หรือกระทั่งทำอะไรแผลง ๆ เหมือนจะเพื่อทดสอบความอดทนของพ่อแม่ ทั้งที่ลึก ๆ แล้วนั้นทุกอย่างที่ทำลงไปก็เพื่ออยากให้พ่อแม่เห็นความต้องการของเขา และถ้าจะให้ดีช่วยให้ในสิ่งที่เขาต้องการด้วยก็จะดี

 

บางครั้งเจ้าตัวน้อยก็อาจฟิวซ์ขาด ควบคุมตัวเองไม่ได้แล้ว และนั่นเป็นตอนที่เขาต้องการ 'อ้อมกอด' ที่สงบมาปลอบประโลมเขาลงที่สุด และชี้ทางในการคุมอารมณ์ให้เขาหน่อย ไม่ใช่ปล่อยเขาร้องไห้จนไร้น้ำตา และไม่มีใครมาเหลียวแลเลยแบบที่หลายบ้านทำกันอยู่

 

พี่ถดถอยยามน้องเกิด ไม่ใช่เพราะเขาเป็นเด็กไม่ดี แต่เพราะเขารู้สึกไม่ปลอดภัยที่ถูกแย่งเวลาที่เคยเป็นของเขาคนเดียวไปให้กับสมาชิกใหม่ในครอบครัว เขากำลังบอกว่า “อย่าลืมสิ ว่ามีผมมาก่อนน้อง ช่วยใช้เวลากับผมหน่อย” ผมเลยต้องถดถอย บ่อยครั้งที่พ่อแม่ยิ่งไม่ใช้เวลากับคนพี่ ด้วยความรู้สึกว่า 'ทำไมทำนิสัยไม่ดีแบบนี้' หรือ 'ก็แค่เด็กขี้อิจฉา น้องยังเล็กทำไมไม่เข้าใจว่าแม่ต้องดูแลน้อง'

 

 

"ความไม่น่ารัก = เรียกร้องความสนใจ = การสื่อสาร"

 

 

 

หน้าที่ของผู้ใหญ่ ก็คือ ‘การมองเห็น’ และให้ความสำคัญของการสื่อสารของลูกนั้น และ 'ตอบสนอง' อย่างเหมาะสม มิใช่แค่ตัดรำคาญด้วยคำว่า "ก็แค่เด็กเรียกร้องความสนใจ" แล้วปล่อยไป เพราะสัญญาณแห่งความหายนะของความสัมพันธ์และพฤติกรรมกำลังดังขึ้นแล้ว มันจะแย่ลงและแย่ลง บอกเลยว่ากุญแจดอกที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาก็คือ ‘เวลาคุณภาพ’ และ ‘การตอบสนอง’ ต่อพฤติกรรมที่ไม่น่ารักนั้นอย่างเหมาะสม

 

 

ตีความให้ออกว่า ‘พฤติกรรม’ นั้นเด็กกำลังต้องการอะไรกับเรา และให้ความสนใจกับเขาเพื่อตอบสนองกับความต้องการนั้นอย่างเหมาะสม พฤติกรรมเดียวกันในสถานการณ์ที่แตกต่างกันก็อาจมาจากความต้องการที่ต่างกันได้