206
4 วิธีรับมือลูกเรียกร้องความสนใจ

4 วิธีรับมือลูกเรียกร้องความสนใจ

โพสต์เมื่อวันที่ : April 6, 2023

สิ่งที่ผู้เขียนจะกล่าวต่อจากนี้นั้นแสนง่ายแต่อาจจะตรงกันข้ามกับความรู้สึกที่พ่อแม่อยากทำจริง ๆ ในสถานการณ์จริงตรงหน้าเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมเพื่อเรียกร้องความสนใจเราอย่างการร้องไห้ การไม่เชื่อฟัง การสร้างความรำคาญ

 

ด้วยพฤติกรรมต่าง ๆ อย่างการตะโกน เล่นเสียงดังแบบตั้งใจ การขว้างปาข้าวของ หรือกระทั่งการสูญเสียการควบคุมตัวเองจนร้องอาละวาด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะยอมให้ลูกทำพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านั้นกับเรา กับของรอบข้าง และกับตัวของเขาเอง

 

ในขณะเดียวกันเราต้องไม่เพิกเฉย เดินหนีหรือหันหลังให้กับการเรียกร้องความสนใจของลูก เพราะเมื่อ ‘การเรียกร้อง’ ความสนใจนั้นไม่ได้รับการตอบสนอง เด็กก็จะหาวิธีเพื่อเรียกร้องความสนใจจากเราด้วยวิธีอื่นที่อาจจะหนักข้อมากขึ้นกว่าเดิมได้นั่นเอง เมื่อมีการเรียกร้องความสนใจ ก็ต้องให้ความสนใจก่อนเป็นอันดับแรก มิใช่กระโดดไปปรับพฤติกรรมท่าเดียว

 

🌟 1. จงทำให้ลูกรู้ว่าเรารู้ถึงความต้องการของเขา 🌟

ให้ความสนใจที่ ‘ความรู้สึก’ ของลูกเป็นอันดับแรก สื่อสารและแสดงความรู้สึกให้ลูกรู้ก่อนว่าตอนนี้ลูกรู้สึกอย่างไรและต้องการอะไรอยู่ เพื่อให้เขารู้จักความรู้สึกและความต้องการของตัวเองอย่างชัดเจนก่อน (เพราะเด็กอาจยังไม่เข้าใจ ‘ความรู้สึก’ ของตัวเอง และเมื่อไม่เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง เขาจะยังไม่สามารถรู้เท่าทันและจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกที่ท่วมท้นอยู่ในขณะนั้นได้) เช่น...

 

...“หนูกำลังหงุดหงิดอยู่นะ”...
...“ลูกอยากให้แม่มาเล่นด้วยตอนนี้เลยใช่ไหม”...
...“แม่เข้าใจว่าหนูอยากให้แม่อุ้มตอนนี้”...

 

ให้ลูกได้รับรู้ว่าพ่อแม่มองเห็น ‘ความต้องการ’ ของเขาอยู่ และนั่นคือเรื่องที่สำคัญมากสำหรับเขา ♥︎

🌟 2. จงเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้สึกในแบบที่ลูกรู้สึก 🌟

หากเป็นสำนวนเปรียบเปรยภาษาอังกฤษก็คงต้องใช้คำว่า “Be in your child’s shoes” แปลเป็นไทยก็คงได้ว่า “ใจเขาใจเรา” การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถือเป็นเคล็ดไม่ลับที่ทำให้คนเราสื่อสารกันได้ดีมากขึ้นรวมถึงพ่อแม่และลูกด้วย เพราะจะทำให้ลูกรับรู้ได้ว่าพ่อแม่เขาใจอารมณ์ความรู้สึกความต้องการของเขาจริง ๆ

 

นั่นหมายความว่า พ่อแม่ควรต้องแปลความสถานการณ์และความรู้สึกของลูกทำให้เกิดพฤติกรรมการเรียกร้องความสนใจนั้นให้ดี ทำให้ลูกรู้สึกว่า อย่างน้อยก็ยังมีคนเข้าใจเขาอยู่ เช่น...

 

...“แม่เข้าใจว่าหนูอยากให้แม่ไปเล่นด้วยกับลูกตอนนี้ เป็นแม่ก็คงหงุดหงิดเหมือนหนูแหละที่ต้องรอแม่”...
...“เป็นพ่อ พ่อก็คงโกรธเหมือนหนูแหละ”...
...“ป๊าเข้าใจว่าหนูยังอยากเล่นต่อนะ ป๊าเข้าใจเลย การเล่นมันสนุกดี พอปิดไฟ หนูเลยพยายามเรียกให้ป๊ามาเล่นด้วย”...

 

🌟 3. แนะนำวิธีที่ดีที่ลูกสามารถเลือกทำได้ 🌟

เพราะทุกอารมณ์ความรู้สึกความต้องการมีวิธีจัดการและแสดงออกอย่างเหมาะสมเสมอ และแน่นอนว่าทุกสถานการณ์มีวิธีและทางเลือกที่ดีในการจัดการเสมอเช่นกัน หากลูกยังมีสติเพียงพอที่จะรับฟังพ่อแม่อยู่ (สติยังไม่แตก ยังไม่ร้องอาละวาด) พ่อแม่ควรเสนอทางเลือกที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกเพื่อเป็น ‘พิมพ์เขียว’ กับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นแบบเดียวกันอีกในอนาคตได้อีกด้วย

 

ทั้งนี้วิธีการจัดการมักมาพร้อมกับการสร้าง ‘เงื่อนไข’ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ทำให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองได้อีกด้วย

 

...“แม่รู้ว่าหนูอยากให้แม่ไปเล่นด้วย แต่ตอนนี้แม่กำลังให้นมน้องอยู่ เดี๋ยวแม่ให้นมน้องเสร็จแม่จะไปเล่นด้วยนะคะ หนูจะไปเล่นตรงนั้นก่อนรอแม่ หรือจะมานอนหนุนตักแม่ตรงนี้ก่อนก็ได้นะ เดี๋ยวพอเข็มยาวถึงเลข 12 แม่ก็ให้นมน้องเสร็จแล้วค่ะ”... (เพื่อให้รู้ว่าการรอคอยจะจบลงเมื่อไรในกรณีที่เด็กยังไม่สามารถารู้เรื่องของเวลาได้)
...“พ่อรู้ว่าหนูไม่ชอบเวลาที่พ่อใช้โทรศัพท์ แต่พ่อต้องทำงานผ่านโทรศัพท์ จะเล่นก่อนอีกตานึงแล้วพ่อค่อยโทรศัพท์ แล้วตอนที่พ่อโทร เล่นเบา ๆ นะครับ โอเคไหมครับ”...

 

🌟 4. กฎเหล็ก 3 ข้อ ยังคงต้องบังคับใช้อย่างเด็ดขาด 🌟

เพราะจะเรียกร้องความสนใจ หรือจะรู้สึกอย่างไร ก็ห้ามทำร้ายตัวเอง ห้ามทำร้ายคนอื่น และห้ามทำลายข้าวของ นี่คือ 'กฎเหล็กพื้นฐานของครอบครัว' ดังนั้นต้องชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวจะไม่ถูกยอมรับ ไม่ให้ทำโดยเด็ดขาด

 

เมื่อเกิดเหตุที่ลูกทำพฤติกรรมรุนแรงเหล่านี้ ไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลงหรือรีรอเพื่อหาสาเหตุใด ๆ จงตรงเข้าไปหยุดพฤติกรรมดังกล่าวทันทีด้วยการจับหยุด หรือกอดไว้ในอ้อมกอดของพ่อแม่เพื่อให้ลูกสงบลงให้ได้ก่อนที่จะไปจัดการกับสาเหตุของการกระทำนั้น

 

สุดท้ายก็คือ การใช้เวลาที่ดีร่วมกันให้เพียงพอ เพราะเมื่อความต้องการพื้นฐานของร่างกายและจิตใจได้รับการเอาใจใส่อย่างเหมาะสมและเพียงพอ เด็กก็จะไม่ต้องมาเรียกร้องความสนใจเพิ่มเติมใด ๆ จากพ่อแม่แล้วนั่นเอง