
อนุบาลไม่ใช่แค่การเรียน ABC แต่คือการเติบโตเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น
เด็กวัย 3 - 4 ปี พร้อมก้าวสู่รั้ว "อนุบาล"
เพราะหากคุณพ่อคุณแม่พูดเรื่องเดิม ๆ ให้ลูกฟังเกิน 3 - 5 ครั้งเป็นต้นไป จะมีหรือที่ลูกจะไม่รู้และจดจำสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูด เพียงแค่ลูกเลือกที่จะไม่ทำ ไม่ใส่ใจ หูทวนลม ไม่ให้ความร่วมมือ และไม่ทำตามมากกว่า คงเปรียบเทียบได้กับคำเปรียบเปรยที่กล่าวว่า “หูทวนลม”
⎯ เด็กเล็กในวัยคืบคลานและเตาะแตะเป็นวัยที่เริ่มสร้างตัวตน (Self) ผ่านการรับรู้ตัวตน (Sense of self) ในระหว่างการเติบโต เขาเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างอิสระตามที่ใจต้องการได้มากขึ้น เขาเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น เขาเริ่ม ‘รู้’ ภาษาผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาและผู้เลี้ยงหลัก (พ่อแม่)
เขาเริ่มทำตามคำสั่งง่าย ๆ ของพ่อแม่ได้อย่างการโบกมือ “บ๊ายบาย” หรือการเอามือประกบกันตรงกลางอกร่วมกับการก้มหัวลงแล้วกล่าวว่า “จ้า” (ที่ย่อมาจากคำว่า “ธุจ้า” ที่เป็นคำที่คุ้นหูของคนไทย) จากนั้นเด็กจะเริ่มพูดคำโดด ๆ คำแรกที่มีความหมายได้และเริ่มสื่อสารผ่านการฟังและพูดได้มากขึ้น
เด็กจึงเริ่มเลือกที่จะฟังในสิ่งที่เขาสนใจและต้องการฟัง เด็กจึงเริ่มพูดคำว่า “ไม่” เพื่อปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับพ่อแม่ได้ หรือกระทั่งเลือกที่จะ ‘เงียบ’ เสียด้วยซ้ำ นั่นคือ พัฒนาการปกติตามวัยของเด็ก ดังนั้นการที่คุณพ่อคุณแม่พูดให้ลูกฟัง สอนให้ลูกทำตามเป็นสิ่งที่ผู้เป็น ‘พ่อแม่’ อย่างเรามีสิทธิ์ที่จะทำ
ในขณะเดียวกันเด็กเองก็มีสิทธิ์ที่จะฟังและปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้เช่นกัน แต่ปัญหาก็คือ สิ่งที่พ่อแม่พูดและสอนส่วนหนึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ควรทำ และบางเรื่องเป็นสิ่งเตือนใจเพื่อให้รู้ว่าหากไม่ทำจะเกิดผลลัพธิ์ย่างไรบ้าง และเมื่อลูกไม่ฟังหรือไม่ทำตาม ความขัดแย้งจึงเริ่มเกิดขึ้นระหว่างเด็กและผู้ใหญ่นั่นเอง
แล้วเราควรจะทำอย่างไรให้ลูกฟังในสิ่งที่เราพูดและให้ความร่วมมือปฏิบัติตาม (ผู้เขียนใช้คำว่า “ให้ความร่วมมือ” มิใช่ “ถูกบังคับให้ทำตาม”) โดยเฉพาะตั้งแต่ลูกยังมีอายุน้อย เนื่องจากยิ่งโต ยิ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ โดยหากปล่อยให้ต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่นแล้วนั้น บอกได้เลยว่า “หนัก” หรือ “หนักมากที่สุด” ดังนั้น “สอนเท่าไรไม่รู้จักจำ” อาจเกิดจาก “วิธีการสอน” ว่าสอนอย่างไรมากกว่า
⎯ 1. ‘เวลาคุณภาพ’ กับพ่อแม่ที่ใจดีและไม่น่ากลัว : พื้นฐานที่จะทำให้ลูกฟังในสิ่งที่เราพูดและให้ความร่วมมือ คุณพ่อคุณแม่ที่เข้าถึงได้ง่าย น่าอยู่ใกล้ ไม่จู้จี้จุกจิกจนเกินไป ไม่เอาแต่สั่ง ไม่ห้ามเยอะเกินไป ไม่ขี้บ่น (สิ่งใดที่พูดเกิน 3 ครั้งให้ถือว่าเรากำลังบ่นอยู่ได้เลย) ไม่ตำหนิลูกตลอดเวลา เพราะเมื่อคุณณพ่อคุณแม่สั่งไม่หยุด ดุไม่หยุด ตำหนิไม่หยุด และสอนไม่หยุด ลูกจะเริ่มหูทวนลมและไม่ปฏิบัติตามมากขึ้นเสมอ
⎯ 2. เริ่มต้นที่ ‘กิจวัตรประจำวัน’ : ได้แก่ การรับประทานอาหาร อาบน้ำ แปรงฟัน และเข้านอน เป็นต้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ต้องทำเพียงไม่กี่อย่างในแต่ละวัน และถ้ากิจวัตรของตนเองยังให้ความร่วมมือไม่ได้ก็ยากที่จะไปทำสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากนี้แล้วครับ เน้นที่ความสม่ำเสมอ และความชัดเจนว่า “ต้องทำ” โดยเริ่มต้นที่การขอความร่วมมือ แต่หากไม่ให้ความร่วมมือกับเรื่องของกิจวัตร
ส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับความสะอาดและสุขภาพอาจต้องบังคับให้ทำด้วยความเด็ดขาดแต่ละมุนละม่อมปราศจากความรุนแรง เช่น การอาบน้ำ แปรงฟัน และการเข้านอน เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะการรับประทานอาหาร หากไม่กินก็อาจต้องให้รับผลลัพธ์ของการกระทำด้วย ‘ความหิว’ เสียบ้าง (โดยต้องควบคุมตู้กับข้าว ขนมหวานและผลไม้นอกมื้ออาหารด้วยนะครับ)
⎯ 3. ถือคติ “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ” ยิ่งสั่งเยอะยิ่งต่อต้าน : โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องที่อาจมี 'ผลลัพธ์' ตามมาจากการไม่ทำ ก็ให้ลูกได้รับผลลัพธ์นั้นบ้างก็ได้ จะได้จดได้จำด้วยตัวเอง โดยไม่ซ้ำเติมลูก เมื่อลูกได้รับผลของการกระทำนั้นของตัวเอง (ที่เราคิดว่า ก็นี่ไง แม่เลยเตือน) เขาเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองแล้ว เราอาจย้ำว่าครั้งหน้าควรทำอย่างไรมากกว่า ไม่ต้องฟื้นฝอยหาตะเข็บมาก
เรื่องสุดท้ายก็คือ การเลี้ยงลูกเชิงบวกนั่นเอง เพราะแรงจูงใจที่จำฟังและทำตามขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นสำคัญด้วย