
การเลี้ยงลูกไม่มีสูตรสำเร็จ... มีแค่ใจที่พร้อมเปลี่ยนแปลงเพื่อเขา
"พ่อแม่" ไม่ได้หมายถึงแค่การให้กำเนิด แต่คือการเติบโตไปพร้อมกับลูก
จอห์น โบลบี้ (John Bowlby) นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ชาวอังกฤษ เชื่อมั่นว่า สายสัมพันธ์ที่มั่นคงในวัยเด็กจะเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในอนาคต และตอบสนองต่อโลกได้อย่างมั่นคง
หนึ่งในงานวิจัยที่สนับสนุนแนวคิดนี้ คือการศึกษาโดย รูดอล์ฟ แชฟเฟอร์ และ แพ็กกี้ แอนเดอร์สัน ซึ่งติดตามพัฒนาการของเด็กทารก 60 คน ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึง 1 ปี และแบ่งพัฒนาการด้านความผูกพันไว้เป็น 4 ขั้นตอนสำคัญ
➊. ขั้นก่อนเริ่มสายสัมพันธ์ (Pre-Attachment)
เด็กยังไม่สามารถแยกแยะว่าใครเป็นใคร แต่เริ่มตอบสนองต่อการดูแลขั้นพื้นฐาน เช่น การให้นม การอุ้ม การเปลี่ยนผ้าอ้อม สิ่งเหล่านี้สร้างความรู้สึกปลอดภัย แม้ยังไม่สามารถระบุว่าใครคือ "คนของเขา"
➋. ขั้นไม่เลือกบุคคล (Indiscriminate Attachment)
เด็กเริ่มยิ้ม หรือตอบสนองกับผู้ใหญ่ทุกคน ไม่เฉพาะเจาะจง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ใครอุ้มก็ยิ้ม เด็กยังเปิดกว้างต่อทุกคน สังเกตง่าย ๆ ช่วงวัยหนึ่งของเด็กจะให้ใครอุ้มก็ได้ ไม่ร้องไห้งอแง จนเมื่อเข้าสู่ ขั้นเลือกบุคคล (Discriminate Attachment)
➌. ขั้นเลือกบุคคล (Discriminate Attachment)
เด็กเริ่มแยกแยะได้ว่าใครคือ ผู้เลี้ยงดูหลัก เขาเริ่มติดคนที่อยู่ใกล้ชิดและให้เวลากับเขามากที่สุด หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยอยู่ เด็กอาจผูกพันกับผู้ที่ดูแลเขาบ่อยกว่า เช่น ปู่ ย่า หรือพี่เลี้ยง
ในช่วงนี้ "เวลา" คือคำตอบ ถ้าต้องการให้ลูกไว้วางใจและผูกพันกับเรา เราต้อง “อยู่ตรงนั้น” ให้เขาเห็นและรู้สึกได้ว่าพ่อแม่คือที่ปลอดภัยของเขา
➍. ขั้นสร้างสายสัมพันธ์หลายบุคคล (Multiple Attachments)
เด็กสามารถสร้างสายสัมพันธ์ได้หลายระดับกับหลายคน ทั้งพ่อแม่ ญาติ พี่น้อง เพื่อน และครู เขาเลือกเชื่อมโยงกับคนที่ให้ความใส่ใจ ความสม่ำเสมอ และความมั่นคงทางใจ
สายสัมพันธ์ในวัยทารกไม่ใช่แค่เรื่องของอารมณ์ แต่คือ “รากฐานของใจ” ที่จะส่งผลต่อความมั่นใจในตัวเอง และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในอนาคต การให้เวลาอย่างตั้งใจในแต่ละช่วงพัฒนาการ คือสิ่งที่พ่อแม่สามารถทำได้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางใจให้ลูกตั้งแต่วันแรกของชีวิต
✱ ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official ✱
อ้างอิง : simplypsychology.org