135
6 ภาษากายช่วยสื่อสารให้เข้าถึงหัวใจลูก

6 ภาษากายช่วยสื่อสารให้เข้าถึงหัวใจลูก

โพสต์เมื่อวันที่ : June 16, 2022

เวลาเราอยากสื่อสารให้เข้าถึงหัวใจลูก อยากให้เขารับรู้ว่า "เรากำลังตั้งใจฟังเขา" "สิ่งที่ลูกพูดนั้นมีความสำคัญ" "เรารักเขามากเพียงใด" และในทางกลับกัน เราอยากให้ลูกเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อสารกับเขาด้วย

6 ภาษากาย ช่วยให้เราสื่อสารให้เข้าถึงหัวใจลูกมากขึ้น

 

☺︎ 1. การวางเครื่องมือสื่อสารหรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าลงเพื่อพูดคุยกับลูก ☺︎

การทำเช่นนั้นทำให้เด็ก ๆ รับรู้ว่า "พ่อแม่พร้อมที่จะตั้งใจฟังในสิ่งที่เขาพูด และสิ่งที่เขาพูดเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพ่อแม่" รับฟังเสียงของลูกที่เปล่งออกมา และเสียงที่อยู่ข้างใน มองเข้าไปในตาของเขา รับรู้ความรู้สึกและสิ่งที่เขาต้องการจะบอก

 

ในกรณีที่เราไม่สามารถหยุดที่สิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้าได้ทันที ควรบอกลูกให้ชัดเจนว่า "พ่อ/แม่ขอเวลานาทีแล้วจะฟังลูก ลูกช่วยรอพ่อ/แม่ก่อนนะ" แต่ในวัยที่ยังไม่รู้เรื่องเวลา เราบอกลูกได้ว่า "พ่อ/แม่ เหลือทำ(อีกเท่าไหร่) แล้วจะไปฟังลูกทันที ลูกนั่งรอตรงนี้นะ" "เมื่อเราให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากพอ เราจะสามารถหาเวลาให้กับสิ่งนั้นได้เอง"

 

☺︎ 2. การย่อตัวลงมาเพื่อให้สายตาของเราอยู่ในระดับเดียวกันกับสายตาของลูก ☺︎

เมื่อเราอยู่ในระดับเดียวกับเขา ลูกจะรู้สึกว่า เขาไม่ถูกกดดันและรู้สึกปลอดภัย เพราะเวลาที่เราอยู่ในระดับเดียวกัน การพูดคุยกันจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า ไม่ว่าเรื่องราวเหล่านั้นจะเป็นเรื่องแบบไหนก็ตาม

 

ที่สำคัญการทำเช่นนั้นเป็นการให้การเกียรติลูก เมื่อลูกได้เรียนรู้ว่า "พ่อแม่ให้เกียรติเขาเป็นเช่นไร เขาจะให้เกียรติเช่นนั้นกลับมาหาเรา และแผ่ขยายไปสู่การให้เกียรติผู้อื่นอีกด้วย"

 

☺︎ 3. การมองหน้าสบตากับลูก ☺︎

เมื่อเราต้องการสื่อสารสิ่งสำคัญกับลูก เราควรมองตาเขา แล้วพูดกับเขาให้ชัดเจน เพราะการมองตา ทำให้ลูกเข้าใจว่า เราต้องการคุยกับเขาและสิ่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่เขาควรฟัง ในทางกลับกัน เมื่อลูกพยายามสื่อสารกับเรา ให้เรามองเข้าไปในตาเขา เพราะ "แววตาที่แสดงออกมา มักจะสื่อความรู้สึกของผู้พูดออกมากด้วย แววตามักไม่เคยโกหกใคร" จึงทำให้การที่เรามองตากัน ทำให้เราสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ดีขึ้น พ่อแม่จะเข้าใจลูกมากขึ้นว่า ตอนนี้เขารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เรากำลังพูดกับเขา

☺︎ 4. การสัมผัสเพื่อสื่อสารความรู้สึก ☺︎

หากเราต้องการบอกรักลูกหรือให้กำลังใจเขา การกอดและสัมผัสที่ตัวเด็กโดยตรง อย่างการจีบมือ ลูบหัว จับที่ไหล่ แตะที่บ่า อาจจะทำให้เด็กรับรู้ถึงความรู้สึกได้ดีกว่าการแค่พูดบอกเขา

 

เวลาทำสัญญาอะไรกับเด็ก ๆ หากเราลองใช้การเกี่ยวก้อยสัญญา เด็ก ๆ จะรู้สึกว่า "เราให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราสัญญามากจริง ๆ" แม้นั่นจะเป็นแค่สัญลักษณ์เท่านั้น แต่สำหรับเด็ก ๆ คำสัญญาที่เกี่ยวก้อยกันนั่นมีความพิเศษมาก เพราะนั่นคือความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับเขา

 

☺︎ 5. การสัมผัสตัวเพื่อสอน ☺︎

หากลูกทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม การพูดห้ามหรือเตือนอย่างเดียว อาจจะไม่สามารถหยุดลูกได้ โดยเฉพาะในลูกวัยปฐมวัย เราควรเข้าไปห้ามเขาด้วยการเข้าถึงตัว จับมือเขา พร้อมมองหน้าสบตา และบอกชัดเจนว่า "ไม่ทำ" ก่อนที่จะสอนเขาว่า อะไรควรทำและไม่ควรทำต่อไป

 

ในเด็กเล็ก เราสามารถสอนด้วยการจับมือเขาทำ เพราะจะทำให้เด็กจดจำการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง และเข้าใจว่าต้องทำอย่างไร มากกว่าแค่สอนเขาผ่านคำพูดเพียงอย่างเดียว

☺︎ 6. การแสดงออกทางสีหน้าและทางสัญลักษณ์เพื่อชื่นชม ☺︎

เราสามารถยิ้มอย่างเปิดเผย หรือ ชูนิ้วโป้ง เพื่อบอกว่ายอดเยี่ยมให้กับลูกได้ นอกจากนี้เรายังสามารถให้กำลังใจลูกผ่านการแปะมือแบบ "Hi-five" ได้อีกด้วย ลูกจะรับรู้กำลังใจนั้น และเข้าใจว่า สิ่งที่เขาทำนั้นดีแล้ว และควรทำต่อไปมากกว่า การที่พ่อแม่แสดงออกอย่างเรียบเฉยอาจจะทำให้ลูกไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เขาทำนั้นดีแล้วใช่ไหม "รอยยิ้มกว้างของพ่อแม่" คือ กำลังใจที่ลูกทุกคนอยากได้ เช่นเดียวกันกับพ่อแม่ "รอยยิ้มกว้างของลูก" คือ พลังใจที่ทำให้เรามีแรงสู้ต่อ เพราะเราต่างเป็นกำลังใจให้กันและกัน

 

เมื่อสื่อสารกับลูกโดยใช้ภาษากายเหล่านี้ร่วมด้วย ลูกจะกล้าพูดคุยกับเราทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่เขาลำบากใจมากขึ้น เพราะเมื่อเขารู้สึกว่า พ่อแม่รับฟัง และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเขา การสื่อสารกับพ่อแม่จึงเป็นเรื่องทำได้ง่ายขึ้น

 

สุดท้าย ความรักที่พ่อแม่แสดงออกทางภาษากาย "กอด" "หอม" "อุ้ม" และอื่น ๆ คือ รูปธรรมที่ลูกรับรู้และเข้าใจ โดยที่เราไม่ต้องอธิบายว่า “รักเขามากเพียงใด"