240
พ่อแม่ที่ชื่นชมลูกไม่เป็น เริ่มต้นชื่นชมลูกให้เป็น ทำอย่างไร ?

พ่อแม่ที่ชื่นชมลูกไม่เป็น เริ่มต้นชื่นชมลูกให้เป็น ทำอย่างไร ?

โพสต์เมื่อวันที่ : September 20, 2021

คุณเติบโตมาด้วยความชมมากกว่าคำติเตียนหรือเปล่าครับ ? เชื่อว่า ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่เติบโตมาพร้อมคำติเตียนมากกว่าคำชม

 

อาจเพราะความเชื่อที่ว่า “ชมมากเดี๋ยวเด็กจะเหลิง” ทั้งที่ ณ ปัจจุบันพบว่า “คำชื่นชมที่ดี” จะช่วยพัฒนาตัวตนของลูกให้รู้ว่า “ทำดีแล้วมีคนเห็น” มีพ่อแม่ที่ให้ “ค่า” กับพฤติกรรมที่ดีของเขา ในขณะเดียวกันก็สร้างความเชื่อมั่นในตนเองและการนับถือตัวเองซึ่งถือเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ที่จะอยู่ได้อย่างมีความสุขในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างทุกวันนี้ ชมแบบใดมีโทษ หมอได้กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้านี้แล้ว วันนี้เรามาเรียนรู้หลักของการชื่นชมที่เหมาะสมที่พัฒนาลูกกัน โดยมีหลักการในการชื่นชมดังต่อไปนี้ 

 

❤︎ ชื่นชมทันทีที่ลูกกระทำดี ❤︎

โดยสิ่งที่ชื่นชมควรจำเพาะรับรู้และสัมผัสได้ ไม่ใช่ชมอย่างเรื่อยเปื่อย เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ดี จงอย่ารีรอที่จะชื่นชมลูกเพื่อให้รู้ว่าทำดีแล้วพ่อแม่เห็น “วันนี้ทำการบ้านเสร็จแล้ว หนูมีความรับผิดชอบดีมากเลยค่ะลูก” หรือ “หนูแบ่งขนมให้น้องกินด้วย หนูมีน้ำใจมากเลยค่ะ” ลงลึกให้จำเพาะกับพฤติกรรมที่ลูกลงมือกระทำให้เขาได้รู้ “พฤติกรรมเป้าหมาย” ที่พ่อแม่ให้ค่าว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่ควร จะค่อย ๆ สร้างบรรทัดฐานของ “พฤติกรรมที่ดี” ที่ควรทำให้ลูกเห็น เป็นหนึ่งวิธีในการ “จับถูก” เพื่อไปต่อสำหรับเด็กทุกคน หลายคนชื่นชมเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นในวันวานเพื่อตำหนิสิ่งเกิดขึ้นในวันนี้ แบบนี้ถือเป็นการประชดประชันเสียมากกกว่า 

 

..."ทำดีวันนี้ ต้องชมวันนี้ อย่ารีรอ"...

❤︎ ชื่นชมในความพยายามไม่ใช่ผลลัพธ์ ❤︎

เพราะความพยายามมีค่าควรชม และความพยายามในแต่ละครั้งอาจไม่ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ดี บางคนพยายามแล้วอาจล้มเหลว อาจไม่ได้ที่หนึ่ง หรือแม้กระทั่งไม่ติดแม้ 1 ใน 10 เมื่อมีกาแข่งขันหรือประเมินวัดผล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า นั่นคือความล้มเหลว หากแต่การลงมือทำในแต่ละครั้งนั้นสร้างทักษะและประสบการณ์ ชนะเลิศก็เป็นประสบการณ์ พ่ายแพ้ก็เป็นประสบการณ์ และประสบการณ์จะสอนให้เราเก่งขึ้น ความผิดพลาดจะสอนให้เรารู้และไม่ทำแบบเดิมอีก

 

ดังนั้นการชื่นชมเพียงเฉพาะ “ผลลัพธ์” อาจบั่นทอนกำลังใจและความเชื่อมั่นใจตนเองของเด็กที่ตั้งใจทดลองทำได้ เนื่องจากที่หนึ่งมีได้เพียงผู้เดียวเท่านั้น คนที่ได้ที่สอง ที่สาม หรือที่สิบ ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้ไม่มีความสามารถ เพียงแต่เขาต้องการการขัดเกลาทักษะและเรียนรู้ที่จะเก่งขึ้นได้ในแต่ละวัน

 

...“ลูกสอบได้ที่หนึ่ง ลูกแม่เก่งที่สุดเลย”...

...“คะแนนเลขดีขึ้นมากเลยนะนี่ เป็นเพราะหนูพยายามอ่านหนังสือและฝึกทำโจทย์เยอะ ๆ แน่เลย เก่งมากลูก”...

 

สองประโยคนี้มีความแตกต่างกันสำหรับผู้ฟัง ประโยคแรกเป็นการให้ค่าของ “อันดับ” เมื่อได้ที่หนึ่งจึงได้คำชื่นชม หากครั้งหน้าเกิดทำได้ไม่ดีเท่าเดิม กระทั่งการได้ที่สองหรือที่สาม เราจะตอบสนองกับลูกว่าอย่างไร “เก่งมากลูก ได้ตั้งที่สองแหนะ” ? ซึ่งอาจทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ ไม่เก่งเท่าคนเดิมที่ตัวเองเคยเป็น คนที่เคยทำให้พ่อแม่ชื่นชมยินดีกับการได้ “อันดับหนึ่ง” ในอดีต ในขณะที่การชมในแบบหลังเป็นการชื่นชมความมุมานะพยายาม จะทำให้ลูกมองเห็นชัดเจนว่า “เพราะพยายามจึงทำได้ดีขึ้น และพ่อแม่เห็นความพยายามนั้น” และเขาได้ลงมือกระทำอย่างเต็มความสามารถแล้วแม้บางครั้งผลลัพธ์อาจไม่ได้เป็นอย่างหวัง เขาก็ได้พยายามทำมันอย่างเต็มที่แล้ว ครั้งหน้ายังมีอีกและเขาดีกว่านี้ได้นั่นเอง 

 

❤︎ ชื่นชมอย่างจริงใจ ไม่ประชด ❤︎

ทำดีก็บอกดี ไม่ต้องประชดหรือเปรียบเทียบ เพราะยิ่งประชด เขายิ่งรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ให้ค่ากับสิ่งที่เขาทำ ประโยคอย่าง “แหม วันนี้ทำการบ้านเสร็จซะด้วย ท่าทางฝนจะตก” “อุ๊ย! วันนี้เป็นเด็กดี จะขออะไรแม่หรือเปล่าเนี่ย” ทำดีก็ชมไปตรง ๆ อย่างจริงใจ

 

...“วันนี้ทำการบ้านเสร็จโดยที่แม่ไม่ต้องเตือนเลย ชื่นใจจัง เก่งมากค่ะ”...

...“วันนี้หนูเป็นเด็กน่ารักมากเลย ช่วยแม่หยิบจับทำนั่นนี่ มาให้แม่กอดหน่อย มา”...

 

จงมั่นใจในความดี และจงเชื่อว่าเขาทำได้ จากหนึ่งเป็นสอง ชื่นชมและชักชวนให้ทำต่อไป เพื่อให้เขาได้รู้ว่าเขามีความสามารถที่จะทำเรื่องราวดี ๆ และมีความมุมานะพยายามได้โดยมีพ่อแม่เป็นแรงหนุนทางบวกให้เขาทำต่อไปนั่นเอง  

❤︎ ชื่นชมโดยการใส่ใจรายละเอียด ❤︎

การชื่นชมที่ชมในรายละเอียดของการกระทำเป็นเรื่องควรทำเพื่อให้ลูกได้เห็นภาพชัดว่าเขาเก่งขึ้นอย่างไร และพ่อแม่ก็ใส่ใจในรายละเอียดที่เขาได้ลงมือทำ เช่น เมื่อลูกเล่นเปียโนได้เก่งขึ้น เล่นได้จบเพลงเราอาจชมเขาว่า

 

...“เพราะหนูพยายามและตั้งใจซ้อมมากเลย เล่นได้ดีขึ้นทุกวัน ๆ เลยนะนี่ ไหนลองเล่นให้แม่ฟังอีกทีซิคะ”...

...“วันนี้เล่นเปียโนได้ดีมากเลยค่ะ ตรงโน้ตไหนนะที่หนูบอกว่ามันยาก วันนี้ผ่านฉลุยเลยนะนี่ เก่งมากค่ะ”... 

❤︎ ชื่นชมโดยไม่มีข้อแม้ ❤︎

ทำดีก็ควรชื่นชม ไม่ต้องตั้งข้อแม้หรือเอาความคาดหวังของเราในอนาคตผูกลูกเอาไว้ สอบได้ที่สองก็ควรได้รับความชื่นชมในความพยายามในการอ่านหนังสือ ทบทวนความรู้และตั้งใจเรียน ไม่ใช่บอกชมแบบมีเงื่อนไขอย่างเช่น

 

...“เก่งมาก ครั้งนี้ได้ที่สอง ครั้งหน้าเอาที่หนึ่งให้ได้นะ พ่อเชื่อว่าหนูทำได้ดีกว่านี้”...

 

ชมแบบไม่ได้ชม คำชมที่ผู้ฟังอาจฟังแล้วอาจตีความได้ว่าถูกตำหนิอยู่ว่าทำไมไม่ทำให้ได้ที่หนึ่ง 

 

ลองเอาหลักการของการชื่นชมลูกไปปรับใช้กันดูนะครับ เพราะหากการเลี้ยงลูกเปรียบเสมือนการปลูกต้นกล้าสักต้นให้กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มั่นคง คำชื่นชมและการเลี้ยงลูกเชิงบวกคงเหมือนน้ำฝนที่ฉ่ำเย็นที่จำทำให้ต้นกล้านั้นชุ่มชื่นและเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาออกได้อย่างมั่นคง