438
เมื่อลูกทดสอบพ่อแม่

เมื่อลูกทดสอบพ่อแม่

โพสต์เมื่อวันที่ : February 22, 2021

ตั้งแต่ลูกลืมตาเกิดมาบนโลกนี้ เขากำลังทดสอบเราในฐานะของพ่อแม่เสมอ ทุกการร้องไห้ ทุกการกิน ทุกการมองสบตาและยิ้มหวานให้ ของเล่นที่เกลื่อนกราด เสียงร้องอาละวาดตามวัยที่แสบไปทั้งหูและจิตใจของพ่อแม่

 

เหล่านี้กำลังทดสอบความสามารถของพ่อแม่ในการอดทนในการฟังเสียงร้องของลูก ความทนทานของร่างกายในการอดนอน พรสวรรค์ในการทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างได้พร้อม ๆ กัน กิจกรรมในฐานะคนทำงาน ในฐานะพ่อแม่ ผ้ากองโตที่ซักเท่าไรก็ไม่หมด จานชามอุปกรณ์เครื่องใช้ของลูกที่ล้างวนไปไม่มีหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สติ” ที่ถูกทดสอบอย่างหนักในยามที่เราอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมทุกอย่างรอบตัวได้

 

..."สิ่งสำคัญที่ได้มาจากการเลี้ยงลูกก็คือ เราได้เรียนรู้ที่จะ ‘รัก’ และเข้าใจความรักในอีกแง่มุมหนึ่ง"...

 

เรารักตัวเองมากขึ้น เรารักพ่อแม่ของเรามากขึ้น เราเรียนรู้ว่าเราสามารถรักคนแปลกหน้าที่เห็นหน้ากันผ่านแผ่นกระดาษใบเล็ก ๆ สีขาว-ดำตลอด 9 เดือนที่อยู่ในท้องของเราได้ตั้งแต่ก่อนจะเห็นหน้า เราสามารถรักใครสักคนโดยไม่มีเงื่อนไขได้ตั้งแต่เราเริ่มก้าวเข้ามาสู้ชีวิตของการเป็นพ่อและแม่ เราเติบโตขึ้นในวันที่เราไม่เคยคิดว่าเราจะโตขึ้นได้อีกแล้วด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อลูกได้ทดสอบเราในฐานะพ่อแม่ นั่นคือ ‘โอกาส’ ที่เราจะได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้อีกเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก และพัฒนาลูกให้ดีขึ้นเช่นเดียวกับเรานั่นเอง

 

การเจริญเติบโตของร่างกายทำให้เขาสามารถเคลื่อนไหวได้มากขึ้น ไกลขึ้นตามที่เขาต้องการ เด็กเรียนรู้ที่จะหยิบจับ สัมผัส ชิม ดมกลิ่น และขว้างปาสิ่งของรอบตัวเพราะกล้ามเนื้อมัดเล็กและสายตาของเขาทำงานได้ดีขึ้นตามวัย เด็กเรียนรู้ที่จะร้องไห้เมื่อเขารู้สึกไม่สบายตัว ไม่ปลอดภัย รู้จักเรียกหา บอกความต้องการของร่างกายด้วยท่าทาง-การกระทำ จากการส่งเสียงอ้อแอ้กลายเป็นคำพูดที่เริ่มมีความหมายจนกลายเป็นประโยคที่สื่อสารได้ เขาทำตามที่สิ่งพ่อแม่บอกได้

 

ในขณะเดียวกันเขาก็ ‘ไม่ทำตาม’ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอกได้เช่นกัน เด็กเรียนรู้ที่จะปฏิเสธเป็น พูดคำว่า “ไม่” ได้เก่งขึ้นตามวัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองเป็นความสามารถของเขาที่พัฒนาขึ้นตามวัยเพื่อเรียนรู้ และเพื่อทดสอบปฏิกิริยาของพ่อแม่ต่อการกระทำของเขาตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า ยามหิว ยามง่วง ยามไม่พอใจ เสียใจ โกรธ อยากได้ ไม่อยากได้ อยากทำ ไม่อยากทำ จนกระทั่งเข้านอน

เด็กกำลังเรียนรู้ผลของการกระทำของเขาเองต่อสิ่งแวดล้อม ต่อพ่อแม่และผู้ปกครองที่เลี้ยงดูเขาเป็นหลัก เราจึงเห็นว่า ลูกกำลังทดสอบเราอยู่ แต่ในความเป็นจริงนั้นคือ เขากำลังเติบโตและเรียนรู้เงื่อนไข กติกา และวินัยภายในครอบครัวต่างหาก ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำก็คือ สอนลูกให้เรียนรู้ “ขอบเขต” (ลิมิต) ของการกระทำว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ ด้วยวิธีการเชิงบวกที่ดีต่อ

พัฒนาการของลูก

โดยสิ่งที่ต้องพึงระวังสำหรับพ่อแม่

 

❤︎ หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์นำเหตุและผล ❤︎

ตั้งสติให้ดี เพราะยามที่เด็กต้องการความรักมากที่สุด เขาจะเรียกร้องความรักนั้นกับเราด้วยวิธีการที่ไม่น่ารักที่สุดนั่นเอง

❤︎ หลีกเลี่ยงความไม่แน่นอน ด้วยความแน่นอน ❤︎

จัดตารางชีวิตให้สม่ำเสมอ คาดเดาได้ มีกติกาที่หลวม ๆ แต่ชัดเจนในชีวิต เช่น เล่นนอกบ้านช่วงเย็นได้ถึงกี่โมง กลับบ้านต้องล้างมือล้างขาก่อน เก็บรองเท้าให้เป็นระเบียบ ทำการบ้านหรือทำงานบ้านให้เสร็จก่อนดูหน้าจอ ฯลฯ อย่าลืมว่าทุกกิจกรรม หากทำอย่างสม่ำเสมอในระยะเวลาหนึ่ง มันจะกลายเป็นนิสัยที่เราไม่ต้องปรับตัวหรือบังคับอีกต่อไป เราจะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกัน เพียงแต่ช่วงแรกอาจจะต้องมีการกำกับเพื่อให้เกิดวินัยและกิจวัตรที่สม่ำเสมอก่อนนั่นเอง

 

❤︎ หลีกเลี่ยงหนังม้วนเดิมที่มีตอนจบเหมือนเดิม ❤︎

เพราะเหตุการณ์หลายอย่างจะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นลูปเพื่อทดสอบลิมิตและความเด็ดขาดของพ่อแม่ เช่น การไม่ยอมแปรงฟัน การเล่นไม่เลิกไม่รู้จักเวลา เป็นต้น เด็กจะทำพฤติกรรมเดิม ๆ โดยเฉพาะเสียงร้องไห้ หรือการอาละวาด (ในบางกรณี) เพื่อเรียกร้องสิ่งที่ต้องการโดยเมื่อไม่ได้ในครั้งนี้ ครั้งหน้าเขาจะลองใหม่อีกครั้ง ปัญหาของหนังม้วนเดิมก็คือ เมื่อเรียกร้องแล้วได้มา ครั้งหน้าแม้เรียกร้องแล้วไม่ได้มาง่ายเท่าครั้งก่อน เขาจะพยายามมันมากขึ้น ๆ จนได้มาในที่สุด

 

ดังนั้นความเด็ดขาดของกติกา ความหนักแน่นของพ่อแม่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ได้คือได้ ไม่ได้คือไม่ได้ ถึงเวลาเลิกก็ต้องเลิกตามที่เราได้ตกลงกันไว้ วางกฎที่ง่ายและใช้ได้จริง มิฉะนั้นปัญหาจะวนเป็นลูปไม่รู้จบ และอาจทวีความรุนแรงของปัญหาขึ้นอีก

❤︎ ฟังเพื่อเข้าใจ มิใช่ฟังเพื่อตัดสิน ❤︎

เพราะหลายครั้งสิ่งที่พ่อแม่เห็นว่าพฤติกรรมของลูกเป็นปัญหา มันมีที่มาที่ไป อย่าลืมว่า เด็กนั้นมองโลกและมองเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยมุมมองของเขา ตามประสบการณ์ที่เขาเคยมีมา และหลายครั้งมันอาจไม่ได้เป็นปัญหาจริง ๆ ก็ได้ ฟังความในมุมของลูกมากขึ้น เราอาจจะเข้าใจและยอมรับการตัดสินใจของเขาก็ได้ นอกจากเข้าใจลูกแล้ว ยังทำให้ลูกเห็นพ่อแม่เป็นพวกเดียวกันที่พร้อมเข้าใจเขา แล้วเราก็จะทะเลาะกันน้อยลง และนี่คือโอกาสที่จะทำให้เราได้บอกความเห็นในมุมมองของผู้ใหญ่ ผู้มีประสบการณ์มากกว่าอีกด้วย

 

..."เด็กเติบโตเป็นเด็กที่ดีต่อตัวเอง ต่อคนอื่น และต่อสังคม เริ่มต้นที่ครอบครัว และเด็กซนคือเด็กปกตินะครับ"...