
Stage Of Attachment สายสัมพันธ์ในวัยเด็ก : พื้นฐานสำคัญของความมั่นคงในใจลูก
สายสัมพันธ์ช่วงวัยทารกคือจุดเริ่มต้นของความมั่นคงภายในใจเด็ก
เราคงเคยได้ยินแล้วว่า ควรปล่อยให้เด็ก ๆ มีจินตนาการ เมื่อใดก็ตามที่พ่อแม่เล่นกับลูก ควรปล่อยให้ลูกมีอิสระที่จะคิดและจินตนการตามสไตล์เขา ไม่ควรชี้นำหรือบังคับให้ทำตามที่พ่อแม่ต้องการ
เช่น เล่นครอบครัวตุ๊กตากับลูก ให้ลูกตัดสินใจว่าจะเล่นเป็นตัวละครไหน จะวางห้องครัวไว้ตรงไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องวางครัวในบ้านตามที่พ่อแม่คิด ขอให้เต็มที่ตามจินตนาการของลูกเลย
อย่างไรก็ตาม หมอพบว่าพ่อแม่หลายท่านเข้าใจคอนเซ็ปนี้ผิดไปเล็กน้อย คิดว่าการปล่อยลูกตามจินตนการ คือการนั่งลงข้าง ๆ ลูก ปล่อยให้ลูกเล่นและสั่งการพ่อแม่ พ่อแม่ก็คอยทำตามที่ลูกบอกเท่านั้น
อันที่จริงแล้ว เมื่อใดที่มีการเล่นกัน ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีบทบาทส่วนตัว, พ่อแม่ต้องมีไอเดีย มีแนวคิดที่จะเล่นในรูปแบบของตนเอง ไม่ใช่ให้ลูกมีไอเดียคนเดียวแล้วคอยทำตามเท่านั้น ไม่เช่นนั้นเราจะไม่เรียกว่า “เล่นกัน” แต่เรียกว่า “เล่นตาม” ซึ่งมีข้อเสียหลายอย่าง ได้แก่ ลูกจะเคยชินกับการคิดและให้คนทำตาม การยึดตนเองเป็นหลัก จะทำให้ลูกไม่รู้จักฟังและทำความรู้จักแนวคิดของผู้อื่น นอกจากไม่มีทักษะการฟังแล้ว แนวคิดลูกจะแคบด้วย เด็กมักจะเล่นแบบเดิมซ้ำ ๆ ไม่ค่อยต่อยอด และบางทีลูกอาจติดนิสัยให้คนทำตาม ไปสั่งเพื่อนที่โรงเรียนด้วย
ดังนั้นเวลาที่เล่นกับลูก พ่อแม่ต้องเล่นกับลูกจริง ๆ ปล่อยให้ลูกมีจินตนการเต็มที่ และตนเองก็ต้องมีจินตนาการส่วนตัวด้วย อย่านั่งเฉย ๆ รอรับคำสั่งลูก ปล่อยให้ลูกควบคุมพ่อแม่นะคะ
☞ หมอแนะนำให้เรา “แก้เกมส์ด้วยการเล่น” ใช้การเล่นพลิกสถานการณ์แทนการสั่งสอนนะคะ เช่น ลูกบังคับให้เราเล่นเป็นแม่มด แทนที่จะสอนลูกว่า ไม่น่ารักเลยที่เอาแต่ใจแบบนี้ ลองเปลี่ยนเป็น หยิบตุ๊กตาขึ้นมาแล้วแสดงบทเจ้าหญิงวิเศษไปเลย เอาจินตนการของเรามาดึงลูกให้สนใจเล่นต่อ(ไม่สะดุดด้วยการสอน) ให้ลูกจดจ่อว่าเจ้าหญิงวิเศษจะเสกเวทมนตร์อะไรบ้าง ซึ่งสนุกกว่าขัดลูกด้วยการสั่งสอน ลูกมีโอกาสยอมรับง่ายกว่า บรรยากาศก็ไม่เสียด้วย
☺︎ ทำไมหมอไม่แนะนำให้สอนรู้มั้ยคะ ? เพราะเรากำลังอยู่ในธีมการเล่น หากพ่อแม่สอนลูกในขณะที่เล่นบ่อย ๆ ช่วงเวลาคุณภาพที่ควรสนุกอาจกลายเป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อ จนลูกไม่สนใจเล่นกับพ่อแม่อีก
☞ หมอขอแนะนำให้ถอยก่อน คือ เล่นตามลูกไปก่อนเลยค่ะ แล้วค่อยหาโอกาสสลับบทบาทมานำใหม่ในครั้งหน้านะคะ
เมื่อการเล่นมีคนมากกว่า 1 คน ก็แปลว่าต้องมีการผลัดกันเล่น คือ ผลัดกันนำ ผลัดกันตาม ลูกต้องรู้จักนำ รู้จักถอย การใช้วิธีเล่นพลิกสถานการณ์เป็นการสอนลูกทางอ้อมว่า การเล่นด้วยกันเป็นอย่างไร ดีกว่านั่งอธิบายเป็นคำพูด ซึ่งลูกอาจไม่เข้าใจเลย
"เล่นกับลูก" ขอให้เป็นช่วงเวลาที่ลูกได้พัฒนาตนเองทั้งจินตนาการ ทักษะการฟัง การยอมรับแนวทางของคนอื่น ยิ่งถ้าเล่นหลาย ๆ คน ก็ยิ่งมีหลาย ๆ รสชาติ เกิดจุดเชื่อมต่อใหม่มากมายในสายใยประสาทของลูก คุณพ่อคุณแม่อย่าเพียงนั่งข้าง ๆ รอลูกบอกแล้วเล่นตามเขาเท่านั้นนะคะ
...“เล่นกัน” ไม่ใช่ “เล่นตาม”...