
สะท้อนความรู้สึกลูก ต้องมีชื่อ “ความรู้สึก”
เมื่อเด็ก ๆ แสดงความรู้สึก พ่อแม่ควรฝึกพูดสะท้อนความรู้สึกลูก
เด็กน้อยคนหนึ่ง เวลาเธอวาดรูป เธอมักจะถามใคร ๆ ว่า... "ภาพของหนูสวยไหม ?" วันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่เธอหันกลับมาถามคุณครูของเธอ
เด็กน้อย : "วันนี้หนูระบายต้นไม้เป็นสีสายรุ้งเลย ดูสิคะ"
คุณครู : "หนูใช้สีหลายสีเลยนะ"
เด็กน้อย : "หนูทำสวยไหมคะ ?"
คุณครู : "หนูคิดว่า ภาพของหนูสวยไหม ?"
เด็กน้อย : "หนูไม่แน่ใจ..."
คุณครู : "ถ้าอย่างนั้น หนูตั้งใจทำสุดความสามารถหรือยังคะ ?"
เด็กน้อย : "หนูตั้งใจทำมาก ๆ เลยค่ะ"
คุณครู : "สำหรับครู ไม่ว่าภาพจะออกมาเป็นยังไง ถ้าหนูตั้งใจทำมันอย่างเต็มที่ก็เพียงพอแล้วนะ"
เด็กน้อย : "แล้วครูว่าภาพหนูสวยไหม หนูตั้งใจแล้ว" (ยังไม่ลดละความพยายาม)
คุณครู : “สำหรับครู ครูชอบที่หนูใช้สีหลาย ๆ สีลงไปในต้นไม้ต้นเดียว หนูลงสีได้ละเอียดมาก ๆ เลยนะ” (ครูชมอย่างเป็นรูปธรรม เด็กสามารถนำไปพัฒนาต่อได้)
เด็กน้อย : “หนูว่า...หนูก็ชอบตรงสีที่หนูระบายเหมือนกันค่ะ”
เมื่อเด็กน้อยเจอคุณแม่ คุณแม่ก็ชมภาพของเธอว่า... "ภาพสวยจัง" เธอรีบพูดเลยว่า... "แม่คะ ภาพหนูสวย เพราะหนูตั้งใจค่ะ" แม้ว่าเด็กหญิงคนนี้ยังต้องค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะให้ความสำคัญกับ "ความตั้งใจและความพยายาม" มากกว่าผลลัพธ์ที่ได้มา แต่อย่างน้อย วันนี้เธอได้เรียนรู้ว่า "ทุกความพยายามและความตั้งใจนั้นมีคุณค่าเสมอ"
เด็กจะมีความพยายามในการพัฒนาตนเองผ่านการทำงานอย่างตั้งใจต่อไป เพราะแค่เพียงเขาตั้งใจทำมันอย่างเต็มที่ แม้ผลจะออกมาไม่ได้ดังหวัง ไม่สวยงามอย่างใคร เขาก็ยังภูมิใจใน “ความตั้งใจ” ของตนที่มีให้กับผลงาน
ในทางกลับกัน เด็กที่ได้รับคำชื่นชมเมื่อผลลัพธ์ออกมาดี เช่น ภาพสวยงาม คะแนนสูง เกรดดี ได้เหรียญทอง ฯลฯ หากวันหนึ่งเขาไม่สามารถทำผลลัพธ์ออกมาได้ดี เขาอาจจะผิดหวังอย่างหนัก และอาจไม่อยากทำสิ่งนั้นอีก เพราะเขารู้สึกว่า แม้เขาทำอย่างตั้งใจแล้ว แต่ผลลัพธ์กลับไม่ได้ดังหวังหรือไม่สำเร็จเหมือนที่ผ่านมา
การที่เด็กให้ความสำคัญกับ “ผลลัพธ์” มากกว่าสิ่งอื่นใด จะทำให้เขามองว่า “ถ้าผลลัพธ์ไม่ดี ทุกอย่างก็ไม่มีความหมาย” และความตั้งใจหรือการเรียนรู้ระหว่างทางก่อนจะได้ผลลัพธ์นั้น ก็ไม่มีคุณค่าอันใด ที่ร้ายไปกว่านั้น บางคนอาจพัฒนาไปสู่ความคิดว่า “ทำอย่างไรก็ได้ ขอแค่ผลลัพธ์ออกมาดี”
แม้ว่าระหว่างทางเขาจะต้องทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมก็ตาม หรือที่ร้ายแรงที่สุด เด็กบางคนอาจยอมแพ้ ไม่ทำสิ่งนั้นอีกเลยก็เป็นได้ ดังนั้น เราควรหันมาชื่นชมเด็ก ๆ ที่ “ความพยายาม” แม้ในวันใดที่ผลลัพธ์ไม่เป็นดังหวัง เขาจะตระหนักได้ถึงคุณค่าจากระหว่างทางที่เขาได้เพียรพยายามและเรียนรู้ไปกับมัน
📌 ตัวอย่างการชื่นชมแบบเน้นความพยายาม
หากลูกวาดภาพได้สวย (หรือไม่สวยในสายตาเรา) ลองชมว่า “ลูกตั้งใจวาดได้ดีมากเลย แม่ชอบตรงที่ลูกวาด… (สังเกตให้ชัดเจน ชมเป็นรูปธรรม)”
หากลูกสอบได้ที่ 1 (หรือได้ที่โหล่ แต่ตั้งใจสุดความสามารถแล้ว) ลองพูดว่า “ลูกพยายามได้ดีมากเลย ขอบคุณที่ตั้งใจเรียนและอ่านหนังสือมาตลอดนะ” หรือแม้แต่เวลาลูกทำไม่สำเร็จ ก็ยังชื่นชมได้ เช่น “ลูกพยายามดีแล้ว ครั้งนี้เราอาจจะยังไม่พร้อม เรามาดูกันว่าเราพลาดตรงไหน อะไรที่ทำไม่ได้ เรามาช่วยกันฝึก แล้วคราวหน้าเราลองพยายามด้วยกันใหม่นะ”
เด็กจะค่อย ๆ ซึมซับว่า “ความตั้งใจ” และ “กระบวนการเรียนรู้” มีค่ามากกว่าคำว่า “สำเร็จ” เพียงอย่างเดียว
✱ ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official ✱