515
สะท้อนความรู้สึกลูก ต้องมีชื่อ “ความรู้สึก”

สะท้อนความรู้สึกลูก ต้องมีชื่อ “ความรู้สึก”

โพสต์เมื่อวันที่ : June 15, 2022

เมื่อเด็ก ๆ แสดงความรู้สึก พ่อแม่ควรฝึกพูดสะท้อนความรู้สึกลูก และแนะนำให้พูดชื่อความรู้สึกเป็นประโยคบอกเล่าด้วยค่ะ เช่น...

...“ลูกกระโดดไปมา รู้เลยว่าตื่นเต้นมาก”...
...“ยิ้มกว้างแบบนี้ ลูกกำลังมีความสุขสุด ๆ”...
...“ลูกตกใจ ลูกตกใจ (พร้อมลูบไปที่อกลูก)”... ตอนลูกล้ม
...“แม่เห็นแล้ว ลูกกำลังโกรธเยอะเลย”...
...“แม่เข้าใจจ้ะ ลูกเสียใจที่เพื่อนเดินหนี"...

 

ทำไมต้องพูดสะท้อนความรู้สึกลูก ?

งานวิจัยบอกว่า เมื่อคนเราพูดชื่อความรู้สึกออกมาได้ สมองส่วนการจัดการอารมณ์จะพร้อมทำงาน ดังนั้นพ่อแม่ต้องช่วยลูกเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้น ๆ ซึ่งไม่ง่ายเลยสำหรับเด็ก แต่จริง ๆ แล้ว ก็ค่อนข้างยากสำหรับผู้ใหญ่เหมือนกัน เพราะเราจะชินกับการแก้ปัญหามากกว่าสนใจนึกชื่อความรู้สึกตอนนั้น

 

เมื่อลูกฟังพ่อแม่สะท้อนความรู้สึกเขาบ่อย ๆ ลูกจะเข้าใจอารมณ์ตนเอง (ซึ่งดีมากเลย ที่คน ๆ หนึ่งจะเข้าใจตนเอง) เมื่อเข้าใจแล้ว ก็สามารถนำมาสื่อสารให้พ่อแม่รับรู้ได้ เช่น เมื่อแม่ถามพี่คนโตว่ารู้สึกยังไง พี่ก็ตอบได้ว่า ...“หนูน้อยใจที่เห็นแม่กอดน้อง”... ส่วนเด็กที่นึกชื่อความรู้สึกไม่เป็นหรือไม่ทันนึก ก็มักจะตอบว่า ...“ไม่อยากมีน้อง”... 

“ไม่อยากมีน้อง” นี้เป็นความคิด ไม่ใช่ความรู้สึก จะทำให้พ่อแม่หลงทาง พยายามอธิบายกับลูกว่ามีน้องแล้วดียังไง ทั้ง ๆ ที่พี่ต้องการพ่อแม่เข้าใจความรู้สึกมากกว่ามาฟังเหตุผลของพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่ให้เหตุผลมาก่อนความรู้สึกลูก เหตุการณ์จะไม่ดีขึ้น และยังทำให้พี่หงุดหงิดมากขึ้นด้วย

 

ดังนั้นเด็กที่สามารถสื่อความรู้สึกอกมาได้ จะทำให้พ่อแม่ช่วยลูกได้ง่าย เมื่อพ่อแม่ได้ยินความรู้สึกของลูก ก็ควรจะตอบสนองลูกด้วยความเข้าใจ เราอาจบอกว่า ...“แม่เข้าใจแล้วจ้ะลูกรัก มา ๆ แม่ขอกอดหนูหน่อยนะ แม่ขอกอดแน่น ๆ นาน ๆ เลยน้า แม่ก็รักหนูมาก ๆ เหมือนกันจ้ะ"... จะช่วยให้ลูกคลายความน้อยใจลงได้ ไม่มากก็น้อยค่ะ

 

(พี่น้องอิจฉากัน แกล้งกัน บ่อยครั้งเกิดจากเด็กไม่เข้าใจความรู้สึกตนเอง พ่อแม่ก็ไม่แสดงความเข้าใจออกมา เมื่อเด็กระบายความอึดอัดออกมาไม่ได้ ก็จะแสดงออกเป็นพฤติกรรมแกล้งกัน ด่ากัน ฟ้องกันแทน)

 

ดังนั้นพ่อแม่ควรสร้างลูกให้สามารถเข้าใจความรู้สึกตนเอง ด้วยการสะท้อนความรู้สึกลูกให้ตัวเด็กได้ยินบ่อย ๆ นะคะ ได้ทั้งสนุก สุข ดีใจ ตื่นเต้น แปลกใจ ไม่จำเป็นต้องสะท้อนเฉพาะอารมณ์เชิงลบ อย่างเสียใจหรือโกรธเท่านั้น 

 

ทำไมต้องเป็นประโยคบอกเล่า ?

เพราะประโยคบอกเล่า ช่วยให้คนฟังสามารถฟังและคิดตาม รู้สึกตามได้ดีกว่าประโยคคำถาม ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ชินกับการสะท้อนความรู้สึกแบบถาม เช่น ...”ลูกเสียใจใช่มั้ย”... คำถามทำให้สมองเด็กเปลี่ยนโฟกัสไปที่การค้นหาคำตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่”แทนที่จะได้จดจ่ออยู่ที่สมองส่วนความรู้สึกให้นานพอ และหากพ่อแม่ใช้วิธีถามทุกครั้ง เด็กจะชินกับการตอบ ...“ใช่-ไม่ใช่”... แทนที่จะบรรยายความรู้สึกตนเองออกมา

 

ทางที่ดี หมอแนะนำให้สะท้อนความรู้สึกลูกเป็นประโยคบอกเล่า เช่น ...“ลูกเสียใจที่พี่ไม่ให้ขนม”... แล้วปล่อยเวลาให้เด็กค่อย ๆ คิดตาม รู้สึกตาม เมื่อเห็นว่าลูกรับรู้แล้วว่าแม่เข้าใจ ก็ค่อยเสนอวิธีการจัดการอารมณ์ เช่น ...“ลูกอยากอยู่คนเดียวก่อน หรือ อยากจะเล่าอะไรให้แม่ฟังมั้ยคะ”... แล้วก็รอการตัดสินใจของลูกค่ะ

ส่วนการแก้ปัญหา พี่ไม่ให้ขนม ค่อยคุยกันในตอนสุดท้าย (เลือกทำงานกับอารมณ์ลูกก่อนแก้ไขปัญหา) เช่นเดียวกับเหตุการณ์ข้างบนที่พี่น้อยใจแม่ เมื่อแม่กอดลูกจนคลายความเศร้าไปแล้ว ก็ต้องหาเวลาคิดกับสามีว่า เราจะแก้ปัญหาพี่น้อยใจน้องยังไงดี (เลือกทำงานกับอารมณ์ลูกก่อนแก้ไขปัญหา)

 

มีคนถามว่า ..."แล้วสะท้อนความรู้สึกเป็นคำถามไม่ได้เลยหรือเปล่า ?"... จริง ๆ แล้วไม่มีข้อห้ามค่ะ เราจะใช้บ้างก็ได้ แต่สำคัญคือ ระวังลูกจะชินกับการตอบ ...“ใช่-ไม่ใช่”...

 

การสะท้อนความรู้สึกเป็นประโยคบอกเล่า สมองลูกไม่ต้องหาคำตอบ แต่จะจดจ่อกับความรู้สึกและบันทึกประโยคบอกเล่าที่แม่พูด ซึ่งจะนำมาบรรยายได้เองในอนาคตค่ะ เมื่อลูกเริ่มมีคำศัพท์ความรู้สึกมากขึ้น แทนการสะท้อนความรู้สึก คุณพ่อคุณแม่สามารถถามได้ว่า ...“ลูกกำลังรู้สึกอะไรคะ”... ลูกจะมีคำตอบให้ค่ะ