2593
เมื่อลูกทำผิด อย่าปกป้องลูกในทางที่ผิด

เมื่อลูกทำผิด อย่าปกป้องลูกในทางที่ผิด

โพสต์เมื่อวันที่ : July 28, 2020

 

เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกของตัวเองเป็นที่ยอมรับ เป็นที่รักของเพื่อน และเป็นเด็กที่ดีในสายตาของทุกคน

 

แต่ในบางครั้ง เด็กอาจจะทำพฤติกรรมที่ไม่ดีบ้าง เช่น หยิกเพื่อน แกล้งเพื่อน พูดจาทำร้าย และตีคนอื่น เป็นต้น ถ้าพ่อแม่รับรู้ว่า ลูกทำเช่นนั้นสำหรับพ่อแม่บางคนยอมรับว่าลูกทำจริงแล้วพยายามปรับเปลี่ยนแก้ไข และสอนเขา

 

เมื่อลูกทำผิด สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำ คือ การลงโทษด้วยความรุนแรง เพราะเด็กจะหวาดกลัว และไม่ได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญ แม้การลงโทษจะทำให้เด็กหยุดทำพฤติกรรมนั้นทันที แต่เขาหยุดทำเพียงชั่วคราว เขาอาจจะไม่ทำพฤติกรรมนั้นต่อหน้าเรา พอลับหลังอาจจะแอบทำเมื่อมีโอกาส ที่สำคัญการลงโทษที่รุนแรงนำไปสู่การเลียนแบบพฤติกรรมที่รุนแรงได้

 

เมื่อลูกทำผิด สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ การตั้งสติ อย่าเพิ่งตัดสินหรือบุ่มบ่ามทำอะไร รับฟังลูกและคนในเหตุการณ์ เพื่อนำมาพิจารณาอย่างยุติธรรม และเพื่อให้ลูกรับรู้ว่า พ่อแม่รับฟังเขา และไตร่ตรองดีแล้ว จากนั้นสอนให้เขารับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง

 

 

เมื่อไม่ปกป้องเด็กเมื่อเขาทำผิด และสอนเด็กให้ทำพฤติกรรมที่เหมาะสมแล้ว พ่อแม่ควรกลับไปทบทวนสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้

 

▶︎ 1. พ่อแม่มีเวลาคุณภาพให้ลูกเพียงพอไหม ? เพราะเด็กที่ไม่ได้รับความรัก ความสนใจที่พอเพียง เด็กจะพยายามเรียกร้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งยิ่งเวลาเด็กที่ทำพฤติกรรมดีแต่ไม่มีใครมองเห็น เขาจะเลือกทำพฤติกรรมที่ได้รับความ สนใจมากกว่า หรือ สนุกมากกว่า เช่น การเเกล้งเพื่อน การทำพฤติกรรมไม่ดีต่าง ๆ ดังนั้นพ่อแม่ควรให้ความสนใจเมื่อลูกทำสิ่งที่ดี และมีเวลาคุณภาพให้กับเขา แม้จะมีเวลาเพียงวันละนิด แต่ถ้าให้สม่ำเสมอ ก็สามารถให้ลูกรู้สึกเต็มอิ่มได้เช่นกัน

 

 

▶︎ 2. ที่บ้านมีตารางเวลา กฎกติกา และวินัยที่ชัดเจนไหม ? เพราะเด็กที่ขาดวินัย จะนอน จะกิน จะเล่น จะทำอะไรเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อเข้าไปสู่สังคมที่มีกฎกติกาที่ชัดเจน แล้วเขาต้องควบคุมตัวเอง ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ผนวกกับการที่ที่บ้านขาดวินัย ไม่ปล่อยให้ลูกช่วยเหลือตัวเองตามวัย ส่งผลให้เด็กต้องพึ่งพาคนอื่น ทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตัวเอง ทำให้เขาเมื่อเข้าสู่สังคม เขาเรียกร้องให้คนอื่นช่วยเขา ปกป้องเขา โดยไม่คดช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งเรามักเห็นเด็กแบบนี้ในรูปแบบเด็กที่เอาแต่ใจนั่นเอง

 

 

▶︎ 3. ที่บ้านสอนเด็กไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ? เพราะถึงแม้ว่าพ่อแม่จะสั่งสอนเด็กตามหลักการที่เหมาะสมแล้ว หากมีใครคนใดในบ้าน ทำตรงข้ามกับเรา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กทำผิด กลับกลายเป็นปลอบใจและให้รางวัลเขา เพื่อให้หยุดร้องไห้ โอ๋เขาเมื่อเขาไม่ได้ดั่งใจ เด็กจะเรียนรู้ว่า “ไม่ว่าฉันทำผิดอะไร จะมีคนช่วยฉันแน่นอน” ดังนั้นเด็กจะทำพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อไป

 

 

▶︎ 4. พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีแล้วหรือยัง ? ในวันนี้ วันที่เราเป็น “พ่อแม่” ของเด็กคนหนึ่งที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในสังคม เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับเขา “ผิดต้องยอมรับและขอโทษ” ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วผิดไม่ได้ ถ้าพ่อแม่ทำผิดต่อลูกก็ควรขอโทษลูก เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่า ทุกคนทำผิดได้ แต่เมื่อทำผิดแล้วต้องยอมรับผิด และรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองด้วย ไม่ใช่ขอโทษแบบขอไปที

 

สุดท้ายวันนี้ที่ลูกเรายังเป็นเพียงเด็ก ความผิดที่เขาทำแม้จะเบาบาง แต่ถ้าพ่อแม่ไม่สอนเขาในทางที่ถูกในวันนี้ วันข้างหน้า ความผิดที่เคยเบาบาง จะกลายเป็นเรื่องที่หนักหนาในวันที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ วันนั้นสังคมจะเป็นผู้สอนเขาเอง

 

...“เมื่อลูกทำผิด อย่าปกป้องลูกในทางที่ผิด แต่ปกป้องเขาด้วยการสอนเขาให้รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง”...

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง