1900
ตำหนิเด็กที่ 'พฤติกรรม' ไม่ใช่ 'ตัวตน' ที่เขาเป็น

ตำหนิเด็กที่ 'พฤติกรรม' ไม่ใช่ 'ตัวตน' ที่เขาเป็น

โพสต์เมื่อวันที่ : May 19, 2020

 

“เด็ก ๆ เวลานอนหลับหรือเป็นเด็กดี พวกเขาเหมือนเทวดานางฟ้าตัวน้อย ๆ แต่ถ้าซนขึ้นมา เด็ก ๆ ก็ซนเหมือนลิง” คำเปรียบเหล่านี้ ไม่ได้เกินจริงแต่ประการใด

 

เพราะเด็ก ๆ ทุกคน ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย เวลาจะเป็นเด็กดีก็ดีแสนดี จนทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราอดหลงรักไม่ได้ แต่ถ้าซนหรือดื้อขึ้นมา ก็สามารถทำให้ผู้ใหญ่อย่างเรา ‘ปรี๊ดแตก’ ได้เช่นกัน บ่อยครั้งที่เด็ก ๆ จะทดสอบความอดทนของผู้ใหญ่อย่างเรา ด้วยสารพัดวิธีที่เขาสามารถสรรหามาได้

 

ผู้ใหญ่อย่างเรา ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง คุณครู หรือคนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ๆ ไม่มีทางหลีกเลี่ยง “วันแย่ ๆ” ได้ แต่คำถามคือ... จะทำอย่างไรเพื่อให้เราผ่านพ้นวันแย่ ๆ นี้ไป โดยไม่เผลอไปทำร้ายเขา ? เพราะเมื่อเด็ก ๆ ทำพฤติกรรมไม่ดี ผู้ใหญ่หลายคนมักจะเผลอตำหนิเด็ก ถึง “ตัวตน” ของเขา

 

 

‘ตัวตน’ ของเด็ก

‘ตัวตน’ ของเด็กไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ ‘ร่างกาย’ หรือ ‘รูปร่างหน้าตา’ ของเขาเท่านั้น แต่หมายรวมถึง ‘อัตตา’ (Self) คือสิ่งที่เด็กเป็น สิ่งที่เด็กรัก สิ่งที่เด็กให้ความสำคัญ และสิ่งที่ประกอบรวมกันเป็น “เขา” ขึ้นมา

 

ดังนั้น คำว่า ‘ตัวตนของแต่ละคน’ จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ไม่มีใครสามารถรู้ได้แน่ชัดว่าขอบเขตของตัวตนของแต่ละคนสิ้นสุดลงที่เรื่องใด ยกเว้นบุคคลเจ้าของตัวตนนั้นเอง “ตัวตน” ใช้เวลาอันยาวนานในการก่อร่างสร้างขึ้น จึงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากยิ่ง (แต่ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้)

 

 

❌ หยุดตำหนิ “ตัวตน” ของเด็ก ❌

ลักษณะรูปร่างของเด็ก

“ผมบางอย่างงี้ เลยขี้ใจน้อยเนอะ ว่านิดว่าหน่อยไม่ได้”
“ตัวดำงี้ไง เลยใจดำ แกล้งเพื่อน”

 

 

❷ สิ่งที่เด็กเป็น (โดยการเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาไม่ได้เป็น)

“ทำไมทำแบบที่พี่น้องคนอื่นทำบ้างไม่ได้เหรอ ?”
“ลูกบ้านอื่นเขาสอบติดกันหมดแล้ว ทำไมแกยังไม่ติดอีก ?”

 

 

สิ่งที่เด็กรัก

“พ่อแม่ไม่สั่งสอนมาเลย ถึงได้ทำนิสัยแบบนี้”
(ในกรณีเด็กที่รักพ่อ) “พ่อแกนิสัยแบบนี้ แกเลยทำตามใช่ไหม ?”
(ในกรณีเด็กที่รักแม่) “ถ้าทำไม่ได้ อย่าพูดแบบนี้เลย เหมือนแม่แก ดีแต่พูด !”

 

 

สิ่งที่เด็กให้ความสำคัญ

“การบ้านไม่ยอมทำ ตั้งแต่เล่นดนตรีมานี่ ทำตัวเหลวไหลตลอด”
“คบเพื่อนแบบนี้ นิสัยเลยติดเพื่อนไปหมดเลยใช่ไหม ?”

 

ตัวอย่างทั้งหมดนี้ คือ การตำหนิที่กระทบกับ ‘ตัวตน’ ของเด็กโดยตรง

 

ผลที่ตามมา : เด็กจะรู้สึกว่า “สิ่งที่ฉันเป็น... ยังไม่ดีพอ” เมื่อเวลาผ่านไป ความเชื่อมั่นในตนเองจะค่อย ๆ ถดถอย คุณค่าที่เคยมีให้กับตัวเองก็จะเสื่อมคลาย และยากที่จะเรียกกลับคืนมา สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำจริง ๆ คือ ตำหนิ “พฤติกรรม” หรือ “การกระทำ” ไม่ใช่ตำหนิสิ่งที่เด็ก เป็น

 

 

'พฤติกรรม' คือ การกระทำที่แสดงออกมาเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์บางอย่าง

 

คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนจากภายนอก เช่น การส่งเสียงดัง การทำลายข้าวของ การพูดจาทำร้ายคนอื่น การทำร้ายคนอื่น เป็นต้น ดังนั้นถ้าเด็กไม่ยอมทำการบ้าน ให้ตำหนิที่พฤติกรรมการไม่ทำการบ้าน ซึ่งการตำหนิที่ดีควรเป็นไปในลักษณะประโยคบอกเล่ามากกว่าประโยคคำถาม (ที่ไม่ได้ต้องการคำตอบ) เช่น...

 

✅ "ได้เวลาทำการบ้านแล้ว"

✅ "หยุดเล่นแล้วมาทำการบ้านก่อน"

 

ไม่ใช่ประโยคคำถามเชิงประชดประชัน เพราะนอกจากไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว อาจจะทำให้แย่ลงไปอีก ต่างฝ่ายต่างมีอารมณ์

 

❌ "วันนี้การบ้านยังจะทำอยู่อีกมั้ย ?"

❌ "การบ้านนะไม่ใช่การโรงเรียน"

 

..."การตำหนิที่ดีจึงเป็นไปเพื่อ 'การสอนสั่ง' ไม่ใช่ 'การเอาชนะ'"...

 

 

อารมณ์และสีหน้าท่าทางอาจจะไม่จำเป็นเท่าการบอกสิ่งที่ต้องการจากเด็ก และสิ่งที่ต้องการให้เด็กทำ ไม่อยากให้เกิดความคิดนี้ในหัวของผู้ใหญ่คนใด "เพราะเธอทำกับฉันแบบนี้ เธอต้องโดนฉันจัดการเสียแล้ว อยากลองของนักใช่มั้ย ?” ขอให้ตำหนิ สั่งสอนเขา ด้วยความรัก ไม่ใช่เพื่อการทำร้าย

 

ถ้าเด็กไม่พร้อมหรือทั้งเราและเขาไม่พร้อม ให้หยุด และเอาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ตรงหน้า มาสูดหายใจลึก ๆ สงบสติอารมณ์ แล้วค่อยไปพูดกันใหม่ ไม่มีอะไรสายเกินไป จะมีก็แต่หุนหันพลันแล่นเกินไปจนอาจจะทำร้ายกัน

 

ดังนั้น "การตำหนิ สั่งสอน ไม่ได้เป็นไปเพื่อการทำร้ายจิตใจเด็ก แต่เป็นไปเพื่อให้เด็กพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น บางครั้งเด็กทำไปด้วยความไม่รู้ หน้าที่ของผู้ใหญ่ คือ การสอนเขา ไม่ใช่ทำโทษเขาอย่างรุนแรง แต่เมื่อรู้แล้ว เด็กยั่งทำสิ่งเดิมซ้ำอีก ก็สอนเขาอีก เด็กทุกคนไม่ได้เรียนรู้ในเวลาที่เท่ากัน บางคนสอนเพียงครั้งเดียว เขาจำได้ บางคนสอนเป็นร้อยครั้งยังจำไม่ได้ ก็ต้องสอนต่อไป"

 

อย่าลืมว่า "เราโตกว่าเด็กตั้งกี่ปี เราผ่านอะไรมามากมาย ทั้งประสบการณ์ และการเรียนรู้" ดังนั้นอย่าใช้อารมณ์แบบเดียวกับที่เด็กกระทำกับเรา เพราะเด็กยังเป็นเด็ก แต่เด็กจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีไม่ได้ ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ดี ๆ สั่งสอนเขา

 

..."เด็กหลายคนทำให้เราเป็นผู้ใหญ่ที่ดีขึ้น เพราะพวกเขาได้สอนเราในเรื่องของความอดทน ความรักและเมตตา"...

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง