1146
ช่วยลูกก็ดี แต่ไม่ช่วยจะดีกว่า ?

ช่วยลูกก็ดี แต่ไม่ช่วยจะดีกว่า ?

โพสต์เมื่อวันที่ : September 11, 2023

 

เด็กน้อยพยายามจะเปิดฝาขวดน้ำ เขาพยายามบิดฝาไปทางซ้ายทีขวาที ดึงขึ้นดึงลง ยื้อยุดกับเจ้าฝาขวดน้ำอยู่สักพักใหญ่ เด็กน้อย : “ทำไมเปิดไม่ออก” ผู้ใหญ่ : (หันไปมอง) เด็กน้อย : “ฮึบ ๆ” (ยังคงพยายามต่อไปพร้อมส่งเสียงควบคู่กับการเปิดฝา) ผู้ใหญ่ : ...

 

คำถาม “ถ้าเป็นเราจะเข้าไปช่วยเปิดฝาขวดน้ำให้เด็กน้อยหรือไม่ ?”

 

หลายท่านคง(อยาก)ตอบว่า “เข้าไปช่วยเปิด เพราะเด็กก็พยายามมามากแล้ว แล้วสิ่งที่ช่วยทำให้ก็เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงผู้ใหญ่อย่างเรา” คำตอบดังกล่าวอาจจะไม่ผิด เพราะ “เราปรารถนาดีที่จะเข้าไปช่วยเขา”

 

แต่ลองฟังอีกคำตอบหนึ่งที่ตอบว่า "จะไม่เข้าไปช่วยเดี๋ยวนั้น เพราะเด็กแค่แสดงออกถึงความพยายามในการเปิดฝาขวดน้ำ แต่เขาไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากเราด้วยการบอกเราตรง ๆ ที่สำคัญ อยากให้เขาได้ลองทำจนสุดความสามารถก่อน”

 

 

เมื่อเด็กเผชิญกับปัญหาในชีวิตเขา เพียงแค่เขาแสดงท่าทางยากลำบากขณะแก้ไขปัญหาตรงหน้า ผู้ใหญ่อย่างเราจะอดไม่ได้ที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ นั่นก็ไม่ผิดเช่นกันแต่เราอาจไปทำลายโอกาสเหล่านี้

 

  • โอกาสที่จะได้เรียนรู้ขอบเขตความสามารถของตนเอง เพราะถ้าไม่ได้ลองพยายามจนสุดกำลังด้วยตัวเราเอง เราจะไม่มีทางรู้เลยว่า สุดทางที่เราสามารถไปถึง ณ วันนี้ เราไปได้ไกลสักแค่ไหน

 

  • โอกาสที่จะได้คิดแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เพราะถ้ามีคนยื่นมือมาช่วยเหลือเราก่อนที่จะคิดออกว่า เราจะจัดการปัญหานี้อย่างไร เมื่อเจอปัญหาเดิมนี้ในครั้งใหม่ เราก็ยังคงแก้ไม่เป็นเฉกเช่นทุกครั้ง

 

  • โอกาสที่จะได้เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตนเอง เพราะถ้าเราได้ทำอะไรสำเร็จด้วยตนเอง นอกจากผลลัพธ์ที่ได้มา ก็คือ 'ความเชื่อมั่น' ที่เพิ่มพูน

 

  • โอกาสที่จะได้ทดลอง เพราะเมื่อเราเจอปัญหาใหม่ เรามักจะลองผิดลองถูกด้วยตัวเราเอง จนกระทั่งเจอทางแก้ ระหว่างการทดลองนั้น นอกจากค้นพบวิธีที่ถูกต้อง

 

ดังนั้น “ถ้าเด็กเจอปัญหา” ที่ไม่ยากจนเกินไป ซึ่งเราพิจารณาจากหลักความปลอดภัย และความเหมาะสมกับวัยของเด็ก เราควรเปิดโอกาสให้เขาได้แก้ปัญหานั้นด้วยตัวเองจนสุดกำลัง โดยที่เราเฝ้าดูเขาอยู่ห่าง ๆ และรอเป็นผู้ช่วยเหลือเมื่อเขาทำต่อเองไม่ได้แล้ว

 

 

ซึ่งการช่วยเหลือควรเป็นไปในลักษณะของ 'การสอน' ไม่ใช่ 'การทำแทน' หรือ 'การทำให้' เพราะนั่นไม่ได้ช่วยให้เด็กเรียนรู้สิ่งใด และอาจจะทำให้เขารู้สึกต้องพึ่งพาเราเสียทุกครั้งที่ต้องเจอปัญหานี้อีกในอนาคต วันนี้เด็กน้อยอาจจะทำได้ไม่สำเร็จ แต่เรามีเวลามากมายที่ฝึกเขา ไม่ต้องเร่งรีบ หรือ นำเขาไปเปรียบเทียบกับใคร เด็กแต่ละคนมีจังหวะในการเดินของตนเอง ผู้ใหญ่เราก็เช่นกัน

 

สุดท้าย “ขอแค่โอกาสให้เด็กได้ลองทำอะไรด้วยตนเองก่อนจะเข้าไปช่วยเขา” คนภายนอกที่มองเข้ามาอาจจะมองว่า 'เราเป็นพ่อแม่หรือครูที่ใจร้าย' แต่ขอให้มั่นใจว่า "เราได้ช่วยเขาแล้ว ด้วยการให้เขาได้ยืนด้วยขาของตนเอง ในวันที่มีเราคอยเคียงข้าง ถึงการยืนครั้งนี้จะคลอนแคลน เขาอาจจะล้มลง แต่เราจะพร้อมเป็นกำลังใจให้เขาได้ลุกขึ้นใหม่ด้วยตนเอง"

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง