3134
บันไดขั้นแรกของเจ้าตัวเล็ก

บันไดขั้นแรกของเจ้าตัวเล็ก

โพสต์เมื่อวันที่ : September 4, 2023

 

การฝึกลูกช่วยเหลือตัวเองตามวัย ไม่ใช่แค่ทำให้พ่อแม่สบายใจ แต่เป็นการสร้างความมั่นใจและความเป็นตัวของตัวเองให้ลูกในระยะยาว

 

บันไดขั้นแรกในชีวิตของลูกจะมั่นคงได้ เมื่อพ่อแม่ “มีอยู่จริง” ผ่านการสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูก บันไดขั้นต่อมา คือการที่ลูก รับรู้ความสามารถทางร่างกายของตนเอง และตระหนักว่า ตนเองสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง

 

ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม (Psychosocial Development) ของ อีริค อีริคสัน นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน ได้กล่าวไว้ว่า“พัฒนาการขั้นที่สองของมนุษย์ (วัย 2–3 ปี) คือ ความเป็นตัวของตัวเอง (Autonomy)”

 

เด็กวัยนี้เริ่มมีอิสรภาพทางร่างกายมากขึ้น เขาสามารถคลาน เดิน วิ่ง และหยิบจับสิ่งของได้อย่างรวดเร็ว เพราะกล้ามเนื้อเริ่มแข็งแรงพอจะเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม... เด็กในวัยนี้ยัง กะน้ำหนักมือไม่แม่น และยัง ไม่คล่องแคล่วมากนัก จึงอาจเผลอทำน้ำหก ของตกหล่น จับของแล้วบีบแรงจนเละคามือ หรือหกล้มบ่อย ๆ

 

ดังนั้น ความสามารถทางร่างกายที่พัฒนาแล้ว จำเป็นต้องมีสิ่งที่พัฒนาเคียงคู่กันไป คือ “การควบคุมร่างกายของตนเอง” ซึ่งทักษะนี้จะค่อย ๆ เติบโตขึ้น เมื่อเด็กได้ลงมือทำจริง และฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ

 

 

ภารกิจที่สำคัญของพ่อแม่และผู้ใหญ่ในช่วงวัยนี้ คือ "การสอนเด็กให้ช่วยเหลือตัวเองตามวัย (Self-care)" เพื่อให้เขาได้ฝึกฝนการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง กิจกรรมที่เด็กสามารถเริ่มเรียนรู้ ได้แก่

  1. การกินอาหาร
  2. การล้างหน้า แปรงฟัน
  3. การอาบน้ำ
  4. การถอด - ใส่เสื้อผ้า
  5. การถอด - ใส่รองเท้า
  6. การเก็บของเล่น
  7. การเข้าห้องน้ำ

 

แน่นอนว่าเรา ไม่คาดหวังให้เด็กวัย 2 - 3 ปีทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะจุดประสงค์ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ไร้ที่ติ แต่คือ การเรียนรู้และลงมือทำทุกขั้นตอนด้วยตัวเขาเอง เมื่อเด็กทำเสร็จ พ่อแม่หรือผู้ใหญ่มีหน้าที่ ดูแล ตรวจสอบ และช่วยย้ำในจุดที่ยังไม่ครบถ้วน (พ่อแม่สามารถช่วยย้ำในบริเวณที่เขาทำไม่ถึงได้อีกครั้ง) เช่น

  • ให้เด็กแปรงฟันด้วยตนเอง 1 นาที แล้วพ่อแม่แปรงย้ำอีกครั้ง
  • ให้เด็กอาบน้ำเอง เด็กอาจราดน้ำหรือถูสบู่เฉพาะจุดที่เอื้อมถึง

 

 

...“เมื่อลูกทำได้ด้วยตนเอง อย่าลืมชื่นชมทุกก้าวเล็ก ๆ ของเขา เพราะทุกกำลังใจจากพ่อแม่ มีความหมายเสมอ”...

 

 

สิ่งสำคัญอีกประการสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกวัยนี้ คือ "ความอดทนรอคอย" หากเรารีบเข้าไปช่วยลูกเร็วเกินไป เด็กจะขาดโอกาสในการฝึกฝนตนเอง และอาจเลือกที่จะ ไม่พยายามทำอีก

เพราะเขารู้ว่า “พ่อแม่พร้อมจะทำให้เขาเสมอ” และยิ่งไปกว่านั้น เด็กจะรับรู้ว่า “พ่อแม่ไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะรอเขา”

 

 

เคล็ด(ไม่)ลับสำหรับพ่อแม่ คือ “การเผื่อเวลาให้กับลูกเสมอ” และ “ใช้กฎ 5 นาที”

กฎ 5 นาที คือ การชะลอเวลาก่อนเข้าไปช่วยเหลือลูกโดยให้เวลาลูก ลงมือทำด้วยตัวเองก่อน 5 นาที หากเมื่อครบเวลาแล้วลูกยังทำไม่ได้ ค่อยเข้าไป “สอน” หรือ “ช่วยแนะนำ”

 

ในกรณีที่ลูกไม่อยากทำหรือไม่ยอมลงมือทำเลย เราสามารถพูดกับลูกอย่างชัดเจนว่า “ลูกลองพยายามทำเองก่อน 5 นาทีนะ ถ้าลูกทำไม่ได้ พ่อ/แม่จะเข้าไปช่วย ‘สอน’" (ย้ำว่าเข้าไปสอน ไม่ใช่ทำให้เขาเลย)

 

ขั้นตอนการสอนที่ดีที่สุด

  • ขั้นที่ 1: ทำให้ดูเป็นแบบอย่าง และให้เขาลองทำตาม (หากเด็กทำไม่ได้ ➜ ไปขั้นที่ 2)
  • ขั้นที่ 2: จับมือทำไปด้วยกัน เพื่อให้เขาจดจำการเคลื่อนไหว แล้วลองทำด้วยตัวเองอีกครั้ง
  • ขั้นที่ 3: ฝึกฝนจนทำได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีพ่อแม่ช่วย

 

เมื่อเด็กรับรู้ว่า “ตนเองสามารถทำสิ่งใดได้ด้วยตนเอง” เขาจะเกิด ความภาคภูมิใจ รับรู้ถึง ความสามารถของตนเอง ซึ่งนำไปสู่ ความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง (Sense of Autonomy) และการควบคุมตนเอง (Self-control)

 

ในทางตรงกันข้าม หากพ่อแม่ ปกป้องลูกมากเกินไป ห้ามลูกทำโน่นทำนี่ หรือไม่ให้ลูกได้ลองทำอะไรเองตามวัย หรือพ่อแม่ ตำหนิทุกครั้ง ที่ลูกทำผิดพลาด จนทำให้ลูกไม่กล้าทำอะไรด้วยตนเอง และรอคำสั่งจากผู้ใหญ่ตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เด็กจะเริ่ม “สงสัยในตัวเอง” ว่าแท้จริงแล้ว... เขาทำอะไรได้บ้าง ? ความสงสัยเหล่านี้จะค่อย ๆ ก่อร่างเป็น ความวิตกกังวล และความไม่มั่นใจในตนเอง (Shame and Doubt) ในเวลาต่อมา

 

 

เด็กที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตามวัย มักแสดงออกได้ 2 รูปแบบหลัก

  1. เด็กที่เอาแต่ใจ เพราะเขาคุ้นชินกับการรอให้ผู้อื่นทำสิ่งต่าง ๆ ให้ตลอดเวลา การต้องพึ่งพาผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขารู้สึกหงุดหงิดง่ายโดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่ผู้อื่นทำให้นั้น ไม่เป็นไปตามที่เขาต้องการ
  2. เด็กที่ไม่กล้าทำอะไรเอง มักต้องรอให้ผู้ใหญ่มาบอก หรือตัดสินใจให้ว่า “เขาควรทำอะไร” หรือ “ควรเริ่มต้นอย่างไร”

 

ปัญหาที่ตามมาของเด็กทั้งสองรูปแบบ คือ เด็กอาจปรับตัวยาก เมื่อเข้าสู่โรงเรียนหรือสังคมภายนอก เขาอาจไม่กล้าลองสิ่งใหม่ เพราะ ไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง ไม่เชื่อว่าตนเองสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ หรือทำได้ โดยไม่ต้องมีใครมาช่วยตลอดเวลา

 

แม้ว่าการฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองในช่วงแรก อาจทำให้บ้านเลอะเทอะบ้าง หรือร่างกายลูกอาจจะไม่สะอาดเอี่ยมอย่างที่คาดหวัง ขอให้พ่อแม่และผู้ใหญ่ “มองข้ามจุดนี้ไป” และเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองทำด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ หลังจากนั้น ค่อยชวนเขามาช่วยกันเก็บกวาด หรือสอนเพิ่มเติมในเรื่องการดูแลความสะอาดร่างกายอย่างเหมาะสม เมื่อเด็กได้ ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เขาจะทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็น ความชำนาญ และ ความมั่นใจในตนเอง ที่จะติดตัวเขาไปในอนาคต

 

 

ให้เด็ก ๆ ได้เล่นโดยใช้ร่างกายให้มากที่สุด เพื่อส่งเสริมการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก - มัดใหญ่ให้แข็งแรง พร้อมสำหรับการใช้งานในช่วงวัยถัดไป อย่าเพิ่งรีบเร่งเรื่องการอ่านเขียนเป็นสิ่งสำคัญ

 

ตัวอย่างกิจกรรมที่แนะนำ

  • เล่นปีนป่าย เช่น ปีนเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น ปีนต้นไม้
  • เล่นกับธรรมชาติ เช่น เล่นน้ำ เล่นดิน เล่นทราย เล่นโคลน ใบไม้ ใบหญ้า เรียงหิน ฯลฯ
  • เล่นเลอะเทอะ (Messy Play) เช่น เล่นกับอาหาร ข้าวสารแห้ง เส้นมักกะโรนี เส้นสปาเก็ตตี้ หั่นผักผลไม้ แป้งข้าวโพดผสมน้ำ ฯลฯ
  • เล่นทำงานบ้าน เช่น ช่วยแม่ทำอาหาร ช่วยพ่อล้างรถ กวาดพื้น ถูพื้น ซักผ้า ฯลฯ

 

 

การเล่นเหล่านี้ทำให้เด็กได้ ทดสอบและเรียนรู้การใช้ร่างกายของตนเอง ส่งเสริมให้กล้ามเนื้อทำงานเต็มที่ และเกิดความแข็งแรงจากการใช้งานจริง เด็กที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่เพียงแต่จะทำให้พ่อแม่สบายใจเมื่อลูกต้องก้าวไปสู่โลกภายนอก แต่ยังเป็นการ สร้างความมั่นใจภายในตัวเด็กเองว่า “เขาสามารถทำได้” เด็กจะพร้อมเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ อย่างมีความสุข เพราะ “ฐานรากทางร่างกายและจิตใจของเขามั่นคงและแข็งแรง” แล้วนั่นเอง

 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official

 

อ้างอิง : Widick, C., Parker, C. A., & Knefelkamp, L. (1978). Erik Erikson and psychosocial development. New directions for student services, 1978(4), 1-17.

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง