13
"เด็กติดจอ" ส่งผลเสียมากกว่าที่คิด พ่อแม่ต้องรู้ทันและจัดการให้เป็น

"เด็กติดจอ" ส่งผลเสียมากกว่าที่คิด พ่อแม่ต้องรู้ทันและจัดการให้เป็น

โพสต์เมื่อวันที่ : May 11, 2025

 

เด็กที่ใช้หน้าจอมากเกินไป เสี่ยงต่อโรคอ้วน พัฒนาการล่าช้า สมาธิสั้น และภาษาช้า พ่อแม่ต้องตั้งกฎ คัดสื่อ และดูไปพร้อมกัน

 

เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงเทคโนโลยีได้ในยุคนี้ แต่การปล่อยให้ลูกดูหน้าจอโดยไม่มีการควบคุม อาจนำไปสู่ปัญหาหนักในอนาคต หลายครอบครัวให้ลูกใช้หน้าจอเพื่อความสะดวก แต่หากไม่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดผลเสียทั้งทางร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการ

 

● สุขภาพกาย: เด็กที่ใช้หน้าจอมาก มักออกกำลังกายน้อย เสี่ยงต่อโรคอ้วน กล้ามเนื้อมัดใหญ่และเล็กอ่อนแรง เพราะขาดการเคลื่อนไหวและกิจกรรมที่ใช้มือจริง

● พัฒนาการล่าช้า: การเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัสโดยตรงลดลง เช่น การหยิบจับ การเล่นจริง ส่งผลต่อกล้ามเนื้อ สมอง และการคิดอย่างเป็นระบบ

● พัฒนาการทางภาษา: เด็กหลายคนพูดช้า เพราะขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เสพสื่อมากเกินไปจนอาจกลายเป็น “ออทิสติกเทียม”

● สมาธิสั้น: การกระตุ้นทางสายตาตลอดเวลาทำให้เด็กติดความบันเทิงฉับไว ไม่มีความอดทน ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดได้นาน

 

 

● รับชมรายการ Talk About Kids : Digital Parenting พาลูกเติบโตในยุคดิจิทัล

 

 

Trick: 3C จัดการสื่อหน้าจอในครอบครัว

  • C - Clear Rules: ตั้งกฎการใช้หน้าจออย่างชัดเจน เช่น เวลาการใช้งานที่เหมาะสมในแต่ละวัน แยกวันธรรมดาและวันหยุด
  • C - Content: เลือกสื่อที่มีประโยชน์ เหมาะสมกับวัย ส่งเสริมการเรียนรู้และจินตนาการ
  • C - Context: ดูสื่อไปพร้อมกับลูก พูดคุยอธิบายเสริมความเข้าใจ ไม่ปล่อยให้เด็กดูคนเดียว

 

 

● บทความที่เกี่ยวข้อง : หยุดยื่นหน้าจอให้ลูกได้แล้ว !

 

 

⏰ เวลาใช้หน้าจอที่เหมาะสม

  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: หลีกเลี่ยงสื่อทุกชนิด ยกเว้นวิดีโอคอล
  • อายุ 2-5 ปี: ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน
  • อายุ 6 ปีขึ้นไป: ควรจำกัดที่ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน (รวมทุกหน้าจอ)

 

 

🛌 พื้นที่และเวลา “ห้ามมีหน้าจอ”

  • พื้นที่ต้องห้าม: ห้องอาหาร และห้องนอน
  • เวลาต้องห้าม: ระหว่างมื้ออาหาร และเวลาก่อนนอน

 

คุณพ่อคุณแม่ควรระวังแม้กระทั่ง “Background Media” ภัยเงียบที่ทำร้ายพัฒนาการเด็ก เช่น เปิดทีวีทิ้งไว้โดยไม่ได้ดู ก็ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กโดยตรง เพราะรบกวนสมาธิและการโต้ตอบทางภาษา

 

 

หน้าจอไม่ใช่ผู้ร้าย แต่หากใช้อย่างไร้ขอบเขตอาจทำร้ายลูกทางอ้อม การจัดการหน้าจอด้วยกฎ กรอง และการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ คือทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย ไม่ใช่อุปสรรคของพัฒนาการเด็ก

 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official