139
สัญญาณบ่งบอกว่า "ลูกถูกกลั่นแกล้ง"

สัญญาณบ่งบอกว่า "ลูกถูกกลั่นแกล้ง"

โพสต์เมื่อวันที่ : February 12, 2025

 

เด็กทุกคนล้วนต้องการเป็นที่ยอมรับในสายตาของพ่อแม่ เพื่อน ๆ และคนรอบตัวเขา โดยเฉพาะ “เด็กวัยรุ่น” ซึ่งเป็นวัยที่กำลังค้นหาและค้นพบตัวตนของตัวเอง

 

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับวัยรุ่นบางคน คือ “ตัวตน” หรือ “รูปลักษณ์” ของพวกเขาอาจไม่เป็นที่ยอมรับในสายตาของพ่อแม่ เพื่อน ๆ และคนรอบตัว ทำให้พวกเขาไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

“ไม่มีใครเลือกเกิดได้” เด็กบางคนมีรูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่ตรงตามความคาดหวังของสังคม เช่น สีผิว รูปร่าง เตี้ย อ้วน หรือใส่แว่นหนา เด็กบางคนอาจเรียนไม่เก่ง ทำงานฝีมือไม่ได้ดีเหมือนเพื่อน ๆ บางคนอาจรับรู้ว่าตนเองมีเพศสภาพที่แตกต่างจากเพศกายภาพ (เช่น เด็กที่ระบุว่าตนเองเป็น LGBTQ+) เด็กบางคนอาจเกิดมาพร้อมกับความพิเศษบางอย่าง หรือมีอุปนิสัยที่แตกต่างจากคนอื่น

 

แม้เด็ก ๆ จะเลือกไม่ได้ว่า "พวกเขาจะเกิดมาพร้อมกับอะไร" แต่พ่อแม่คือบุคคลแรกที่สามารถให้การยอมรับและมองเห็นคุณค่าในตัวเขา ส่วนเพื่อน ๆ และสังคมคือปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข หากเพื่อน ๆ และสังคมให้การยอมรับในความแตกต่างของเขา

 

ในทางกลับกัน หากความแตกต่างนำไปสู่การไม่ยอมรับ เด็ก ๆ อาจเติบโตมาพร้อมกับความยากลำบากที่ต้องเผชิญเพื่อจะเป็นตัวของตัวเอง หรือบางคนอาจยอมแพ้และเลือกที่จะเป็นใครสักคนที่ไม่ใช่ตัวเองเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม

 

 

ปัญหาที่มักจะตามมาเมื่อเด็ก ๆ มีความแตกต่างจากความคาดหวังของสังคม

 

⎯ 1. การไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้

เพื่อให้พ่อแม่สบายใจ เด็ก ๆ อาจเลือกที่จะปิดบังตัวตนของตนเองเมื่ออยู่ที่บ้าน แต่ความสบายใจของพ่อแม่ต้องแลกมาด้วยความทุกข์ของลูก ซึ่งอาจเปรียบเสมือนระเบิดเวลา เด็กอาจวิตกกังวลตลอดเวลาว่า “พ่อแม่จะรู้ความจริงเมื่อไหร่” และยิ่งรักพ่อแม่มากเท่าใด พวกเขาก็ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้นเท่านั้น บางครั้งพวกเขาอยากจะรักตัวเองในแบบที่เป็น แต่เมื่อพ่อแม่ไม่ยอมรับ จึงทำให้พวกเขาไม่สามารถรักตัวเองได้

 

 

⎯ 2. การถูกกลั่นแกล้งและการทำร้าย

การกลั่นแกล้งภายในครอบครัว เด็กที่แตกต่างจากพ่อแม่หรือพี่น้อง อาจถูกกลั่นแกล้งด้วยการแซวเล่น ล้อเลียน หรือเหน็บแนม บางกรณีอาจนำไปสู่การทำร้ายร่างกายและจิตใจ เช่น การดุด่า ทุบตี หรือขับไล่ออกจากบ้าน

การกลั่นแกล้งภายในโรงเรียน มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การพูดล้อเลียน แซว ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย เช่น หยิก ตบหัว ชกต่อย หรือซ่อนของเพื่อน และที่คาดไม่ถึงคือ การปฏิบัติต่อเพื่อนราวกับเขาไม่มีตัวตน เช่น ไม่พูดด้วย กีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม ซึ่งส่งผลให้เกิดบาดแผลทางจิตใจร้ายแรง และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า

 

 

⎯ 3. การทำร้ายตัวเอง

เมื่อบ้านไม่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัย และโรงเรียนก็กลายเป็นพื้นที่กลั่นแกล้ง เท่ากับว่าเด็กไม่มีที่พึ่งทางใจ

เมื่อเด็กไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวตนได้ และไม่มีใครยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็น ความทุกข์ใจก็เกิดขึ้นทุกวัน บางคนอาจรู้สึกโหวงเหวงและหมดแรงที่จะมีชีวิตอยู่ วันหนึ่งเมื่อพวกเขาทนไม่ไหว พวกเขาอาจเลือกที่จะหายไปจากโลกใบนี้

 

 

สัญญาณบ่งบอกว่าเด็กถูกกลั่นแกล้งหรือทำร้าย

  1. มีร่องรอยบาดแผลตามร่างกาย
  2. ไม่อยากไปโรงเรียน หรือกลัวสถานที่หรือบุคคลใดเป็นพิเศษ
  3. มีอาการละเมอจากฝันร้าย
  4. มีอาการปวดท้อง ปวดหัว อาเจียน เมื่อถึงเวลาต้องไปโรงเรียน
  5. พัฒนาการถดถอย เช่น ปัสสาวะรดที่นอน ร้องไห้เมื่อจากพ่อแม่ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในสิ่งที่เคยทำได้

 

 

สัญญาณที่บ่งบอกว่าเด็กอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า

  1. อารมณ์ไม่คงที่ เศร้า ร้องไห้บ่อย หรือหงุดหงิดง่าย
  2. พูดตัดพ้อเกี่ยวกับตัวเองหรือชีวิต เช่น “ตนเองไม่ดี” “ไม่น่าเกิดมา” “ไม่อยากมีชีวิตอยู่”
  3. ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลดลง หรือกินมากผิดปกติ
  4. ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง
  5. เฉื่อยชา ไม่อยากทำอะไร แม้แต่สิ่งที่เคยชอบ
  6. ตั้งใจทำร้ายตัวเอง

 

หากมีอาการเหล่านี้ติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์

 

● บทความที่เกี่ยวข้อง : ในวันที่ลูกถูกเพื่อนแกล้ง พ่อแม่ ควรรับมืออย่างไรดี

 

 

สิ่งที่พ่อแม่สามารถทำได้เพื่อเยียวยาจิตใจลูกในเบื้องต้น

 

  1. เป็นบ้านที่ปลอดภัยให้กับลูก ให้ความรัก การยอมรับ และการรับฟัง
  2. อย่าซักไซ้ ให้ลูกมั่นใจว่า "พ่อ/แม่ อยู่ตรงนี้กับลูก ลูกไม่ต้องกลัว"
  3. รับฟังโดยไม่ใช้อารมณ์ พูดให้ลูกมั่นใจว่า "พ่อ/แม่จะปกป้องลูกเอง"
  4. หาที่ระบายความโกรธอย่างเหมาะสม อย่าระเบิดอารมณ์ต่อหน้าลูก
  5. หากลูกไม่พร้อมเล่าเรื่องราว อาจต้องพาไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา
  6. พร้อมรับมือทุกช่วงวัย และหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน
  7. ใช้เวลาและความรักเพื่อเยียวยาจิตใจเด็ก ๆ

 

 

สุดท้าย "ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ" และ "ทุกคนล้วนมีคุณค่าเสมอ" เพราะความแตกต่างทำให้โลกของเราสมบูรณ์มากขึ้น

 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง