159
พ่อแม่รู้จัก "ตอบสนองเด็กเล็ก" ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ

พ่อแม่รู้จัก "ตอบสนองเด็กเล็ก" ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ

โพสต์เมื่อวันที่ : July 4, 2023

 

คุณแม่จำเดือนแรกที่เลี้ยงลูกได้ไหมครับ ?

 

เดือนแรกที่ไม่ค่อยได้นอน เดือนแรกที่ต้องทนกับเสียงร้องไห้ของลูก เดือนแรกที่ครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากมีเจ้าตัวเล็กเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของบ้าน เดือนที่เราและลูกได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันในทุกเรื่องทั้งการกิน การนอน การร้องไห้ และทุกอาการของร่างกายไม่ว่าจะเป็นการเรอ การขับถ่ายและอื่น ๆ เดือนแห่งการเรียนรู้และสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกัน 

 

หากบอกว่าหน้าที่ของเด็กเล็ก คือ กิน นอน ร้องไห้ และขับถ่าย หน้าที่ของพ่อแม่ลูกอ่อนก็คือ การอุ้ม กอด บอกรัก และให้นม โดยคำแนะนำจากผู้เขียนสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่อย่างแรกก็คือ “อุ้มวนไป” เพราะการอุ้มเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่และลูก

 

 

ในขณะเดียวกันก็สร้างความรู้สึกปลอดภัยผ่านความอบอุ่นจากการสัมผัสและกลิ่นกายของกันและกัน นอกจากนั้นยังสามารถกระตุ้นฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือฮอร์โมนแห่งความรักที่ทำให้เรารู้สึกผูกพันและยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการหลั่งของน้ำนมแม่อีกด้วย

 

ภายใต้ช่วงเวลาของการอุ้ม คุณพ่อคุณแม่จะได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของลูกผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ ของวันในเชิงกายภาพไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องไห้ การขยับปาก จุ๊บปาก ขยับลิ้น เสียงครืดคราดของท้อง การเรอ การหันหน้าหนีเต้านม การยิ้ม การหาวนอน ยิ่งอุ้มกอด ยิ่งผูกพัน และยิ่งทำให้เราสังเกตอากัปกิริยาต่าง ๆ ของลูกอย่างใกล้ชิด และทำให้คุณพ่อคุณแม่ตอบสนองกับความต้องการของลูกได้ด้วยสัญชาตญาณอย่างเหมาะสมอีกด้วย

 

 

เราจะเริ่มเรียนรู้ว่า ‘การร้องไห้’ แบบนี้หมายถึง ‘หิว’ แบบนี้หมายถึง ‘ง่วง’ แบบนี้หมายถึง ‘ผ้าอ้อมเปียก’ นั่นคือ การที่คุณพ่อคุณแม่ได้เรียนรู้ ‘สัญญาณ’ ของร่างกายในเชิงชีวภาพอย่างสัญญาณหิว (Hunger Cue) สัญญาณอิ่ม (Satiety Cue) การนอนกลางวันในช่วงกลางวันและกลางคืน และอื่น ๆ เพื่อเราจะตอบสนองกับสัญญาณทั้งหลายเหล่านี้อย่างเหมาะสมเพื่อทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘กิจวัตร’ ผ่านการทำงานของสิ่งที่เรียกว่า ‘นาฬิกาชีวภาพ’ (Biological Clock) ที่มีศูนย์การทำงานอยู่ที่ต่อมไฮโปทาลามัสในสมองนั่นเอง และยิ่งตอบสนองได้เหมาะสม ยิ่งทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและผูกพันกับเรามากขึ้น ๆ ตามวันเวลาที่ผ่านไป

 

 

...ดังนั้นเรื่องที่สองที่ผู้เขียนจะแนะนำคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็คือ “การเฝ้ามองและสังเกต”...

 

 

แน่นอนว่า การดูแลเด็กแรกเกิดและเด็กเล็กมิใช่เรื่องง่าย กระทั่งลูกคนที่หนึ่งและลูกคนที่สอง สาม หรือสี่ก็มีความแตกต่างกันไปในสัญญาณต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้นการเฝ้ามองและสังเกตจึงมีความสำคัญมากสำหรับการเลี้ยงเด็กเล็ก เพื่อเข้าใจลูก และเพื่อตอบสนองลูกได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง มิใช่เดาไปเรื่อยเปื่อย มิใช่ทุกการร้องไห้คือความหิว

 

 

เมื่อเราสามารถตอบสนองของสัญญาณของร่างกายได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะสัญญาณหิว-อิ่ม เด็กจะเริ่มดื่มนมเป็นมื้ออย่างชัดเจนและคาดเดาได้มากขึ้นแตกต่างจากช่วงแรกเกิดที่หิวถี่ ร้องไห้บ่อย กินบ่อย โดยเอื้อให้เราได้ใช้เวลาเล่นกับลูกระหว่างมื้อนมได้มากขึ้น (รวมถึงคุณพ่อคุณแม่จะเริ่มวางแผนกิจวัตรของตนเองได้ด้วย เพราะลูกเริ่มกินและนอนเป็นเวลามากขึ้นหลังอายุราว 1 เดือนเป็นต้นไป)

 

ในขณะเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ควรต้องปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงานของนาฬิกาชีวภาพจนทำให้เกิด ‘กิจวัตร’ ของลูกด้วย แนะนำให้ปรับให้ตรงกับกิจวัตรของครอบครัวเป็นหลัก อย่างน้อยก็คือเรื่องของ “กลางวัน-กลางคืน” เพื่อฝึกให้เด็กเล็กนอนกลางคืนได้นานขึ้น และตื่นมากขึ้นในช่วงกลางวัน โดยทำได้ง่าย ๆ ด้วยการจัด “แสงสว่าง” ให้เหมาะสม กลางวันเปิดให้มีแสงธรรมชาติจากดวงอาทิตย์เข้ามาในบ้าน (หรือเปิดไฟให้สว่างก็ได้)

 

 

ในขณะที่กลางคืนก็ต้องมืดและเงียบ เพราะแสงสว่างเป็นตัวกระตุ้นนาฬิกาชีวภาพที่ดีที่สุดในการกำหนดการหลับ-ตื่นของมนุษย์ โดยเด็กจะเรียนรู้กิจวัตรผ่านความสม่ำเสมอของกิจวัตรของคนในครอบครัว เราจะพบว่าเมื่อเด็กมีอายุ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไปจะเริ่มนอนกลางคืนนานขึ้นและตื่นในช่วงกลางวันมากขึ้นนั่นเอง

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง