224
รู้หรือไม่ ? "หน้าจอมือถือ" ตัวฉุดรั้งพัฒนาการเด็ก

รู้หรือไม่ ? "หน้าจอมือถือ" ตัวฉุดรั้งพัฒนาการเด็ก

โพสต์เมื่อวันที่ : May 28, 2023

 

หากคุณพ่อคุณแม่ติดตามข้อมูลเกี่ยวข้องกับ 'การใช้หน้าจอ' ไม่ว่าจะเป็นทีวี ยูทูป หรือกระทั่งวีดีโอเพื่อการเรียนรู้ที่พูดด้วยศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Edutainment ชนิดต่าง ๆ ในเด็ก

 

คำแนะนำในระดับสากลจะระบุไปในทิศทางเดียวกันก็คือ "แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้หน้าจอในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี" โดยอาจมีคำแนะนำบางชิ้นให้ช่วงอายุที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้หน้าจอไว้ที่ก่อน "อายุ 18-24 เดือน" ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้แตกต่างกันมากกับคำแนะนำมาตรฐานทั่วไป 

 

 

▶︎ แล้วทำไมเราต้องเลี่ยงหน้าจอในเด็กเล็ก ?

คำตอบก็คือ เด็กเล็กต้องการ "มนุษย์" ตัวเป็น ๆ ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเขาเพื่อกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะพัฒนาการของสมองในด้านของ 'ภาษา' (Language) และ 'จิตสังคม' (Psychosocial) อันได้แก่ การรู้ภาษา การพูดภาษา การเรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อคนรอบข้าง การเรียนรู้อารมณ์ การจัดการอารมณ์ การสร้างความสัมพันธ์ ความรู้สึกผูกพัน ความรู้สึกปลอดภัย และอื่น ๆ อีกมากมาย

 

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เด็กเล็กจะเรียนรู้จาก 'คนเลี้ยงหลัก' จะเป็นพ่อ แม่ หรือใครก็ได้สักคนที่อยู่ตรงนั้นข้าง ๆ เขา อุ้ม กอด บอกรัก พูดคุย และตอบสนองกับเขาในทุกวันตั้งแต่ตื่นนอนไปจนนอนหลับในแต่ละวัน 

 

 

'ภาษา' คือ เครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร

ผู้คนในแต่ละประเทศต่างมีภาษาในการสื่อสารเป็นของตนเอง ทำให้เด็กในแต่ละประเทศพัฒนาความสามารถในการรับรู้ภาษานั้น ๆ ตั้งแต่แรกเกิดด้วยการฟังจังหวะจะโคน ความสูงต่ำท่วงทำนองของเสียง ความสั่นสะเทือนของเสียงที่ได้ยิน ร่วมกับการมองเห็นสีหน้า ท่าทาง สายตา และรูปปากของคนที่พูดคุยกับเขา ทำให้เด็กแต่ละคนเรียนรู้ 'ภาษาแม่' ของตนเองในที่สุด

 

จากการเรียนรู้-รู้จักภาษาของพ่อแม่ที่คุ้นหูคุ้นตา พัฒนาไปเป็นการเข้าใจภาษาจากบริบทที่พ่อแม่สื่อสาร เด็กจึงเริ่มทำตามคำสั่งได้ทั้งที่ยังไม่ได้เข้าใจศัพท์ที่ตัวเองได้ยินว่ามีความหมายว่าอย่างไรเสียด้วยซ้ำ จากภาษาที่คุ้นหูและเริ่มรู้เรื่อง นำไปสู่การเลียนเสียงสูงต่ำ อ้อแอ้ เกิดภาษาเด็ก (Jargon) หรือที่บางคนเรียกอย่างติดตลกว่า "ภาษาลูกเทพ" จนกระทั่งกลายเป็น "คำแรก" ที่สื่อความหมายพูดออกจาปากเจ้าตัวน้อยในที่สุด 

 

ทั้งหมดที่กล่าวมาเกี่ยวกับการพัฒนาของภาษานี้ได้มาอย่างเรียบง่ายและแนบเนียนที่สุดผ่านการเลี้ยงดู พูดคุย อ่านนิทาน และปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้เลี้ยง ถือเป็น 'การสื่อสารสองทาง' เพราะเด็กที่มีพ่อแม่หรือคนเลี้ยงพูดคุยด้วย อ่านนิทานให้ฟังอย่างสม่ำเสมอจะได้ฟัง "คำ" เก็บศัพท์เข้าคลังศัพท์ (Lexicron) ของเขาอย่างต่อเนื่องและอย่างเข้าใจ (มากขึ้นเรื่อย ๆ) จึงทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาที่ดี สมวัย

 

 

แตกต่างจากเด็กที่ถูกปล่อยไว้ให้อยู่กับหน้าจอเพียงลำพังนั้นเป็นเพียง 'การสื่อสารทางเดียว'

โดยเสียงที่ได้ยินนั้นไม่ได้เกิดจากปฏิสัมพันธ์ใด ๆ ดังนั้นจึงเป็นเสียงที่มักไม่เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ศัพท์ที่เด็กจะเก็บเข้าคลังศัพท์ของเขาได้ การศึกษาต่าง ๆ จึงพบว่า เด็กเล็กที่ดูหน้าจอเป็นระยะเวลานานจะมีพัฒนาการทางบภาษาล่าช้าอย่างมีนัยสำคัญนั่นเอง 

นอกจากนั้น 'รายการ' ที่อยู่บนหน้าจอนั้นมักถูกออกแบบให้ดึงดูดความสนใจอย่างมาก เสียงสูงต่ำที่น่าหลงใหล ภาพที่สีสันฉูดฉาด เปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็ว ทำให้เด็ก ๆ ถูกดูดเข้าสู่ภวังค์จากภาพและเสียงที่เป็นตัวกระตุ้นชั้นดี ส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนเข้าใจว่า หน้าจอทำให้ลูกมีสมาธิมากขึ้น ทั้งที่ความจริงนั้นสวนทางกับความเข้าใจนั้น เพราะตัวกระตุ้นภายนอกอย่างหน้าจอทำให้เด็กเล็กรอคอยไม่ได้ สมาธิสั้นลง และไม่สามารถจดจ่อใส่ใจกับ 'การเล่นตามวัย' จริง ๆ ของเขาได้

 

ยกตัวอย่าง การอ่านนิทาน ต้องใช้สมาธิจดจ่อให้เกิดจินตนาการให้ล่องลอยไปกับภาพ เสียงและเรื่องราวที่ได้ยิน มันยากกว่าการนั่งดูหน้าจอที่ภาพไหลไปเรื่อย ๆ โดยไม่เผื่อเหลือเวลาให้เด็กได้คิดหรือจินตนาการใด ๆ เลย เป็นต้น ยิ่งดูหน้าจอ ยิ่งสมาธิสั้น และอดทนรอคอยอะไรไม่ได้

 

 

เด็กควรได้เรียนรู้กับความเงียบ ความน่าเบื่อ และความล้มเหลวจากการเล่นของเขา เพื่อเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองให้จัดการกับความน่าหงุดหงิด ความยาก ความไม่สนุกและความล้มเหลวได้ ต่อบล็อกไม้สูง ๆ ก็ล้มกระจายลงมาได้ ก่อกองทรายสูง สร้างถนนในกระบะดินทรายก็พังทลายลงมาได้ ขีดเขียนแล้วดินสอหัก และทุกอุปสรรคที่เกิดขึ้นจะสอนให้เด็กรู้จักควบคุมตัวเองได้เก่งขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่หน้าจอดึงความคิดและความรู้สึกของเด็กออกไปจากตัวของเขาให้ไปอยู่ในหน้าจอ เด็ก ๆ จึงขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้และควบคุมตัวเองไป 

 

ยังมีอีกหลายเรื่องที่หน้าจอส่งผลทางลบกับพัฒนาการของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเบียดบังเวลาที่เด็กควรจะได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ และทำร้ายทักษะทางสังคมของเด็กอีกหลายด้านอย่างการเรียนรู้อารมณ์ของผู้อื่นที่จะนำไปสู่การเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) ได้และอาจนำไปสู่ปัญหาการเข้าสังคมต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย 

 

 

..."ดูหน้าจอให้น้อยที่สุด และหลีกเลี่ยงให้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วง 2 ปีแรกของชีวิตนะครับ"...

 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง