
เอางี้จริงเหรอ ? ยื่นโทรศัพท์ให้ลูกจะได้ไม่กวน ?
เด็กนั่งจ้องหน้าจอนิ่ง ๆ ไม่ได้แปลว่าเด็กมีสมาธิจดจ่อ !
คำถามลักษณะนี้มาบ่อยมากค่ะ หมอคิดว่าผู้ปกครองคงตกใจที่ลูกก้าวร้าวใส่พ่อแม่ และหลายคนอาจคิดไกลไปถึงขั้นลูกก้าวร้าวต่อเนื่องจนโต ซึ่งความจริงแล้วสมองของเด็ก ๆ กำลังพัฒนาทักษะการควบคุมตนเองอยู่ การที่เขาสติแตกจึงไม่ใช่เรื่องแปลก จนเมื่ออายุมากขึ้น ประมาณอายุ 25 ปี สมองส่วนนี้ (ที่เรารู้จักกันว่าทักษะสมองEF) ถึงจะพัฒนาเต็มที่
คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งกังวลไปว่าลูกก้าวร้าวตอนเด็กแล้วจะก้าวร้าวไปจนโต เพราะสมองลูกสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้แน่นอน แต่มีเงื่อนไขว่า พ่อแม่และผู้ใหญ่ใกล้ตัวเด็กจะต้องรับมือกับความก้าวร้าวให้เป็น และไม่เป็นตัวอย่างของความรุนแรงให้เด็กซึมซับทุกวันด้วย ถ้าทำได้เราจะพบเองว่า ลูกก้าวร้าวลดลง และสามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้น ๆ ตามอายุที่มากขึ้นค่ะ
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่รับมืออารมณ์ลูกไม่ค่อยได้ก็คือ ความคาดหวังผิด ๆ พ่อแม่มักคาดหวังว่า ลูกจะต้องหยุดเสียง หยุดงอแงได้เร็วดั่งใจเรา หากลูกโวยวายนาน พ่อแม่จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดเสียงนั้น บางคนตะคอกดังกว่าเด็กเพื่อให้ลูกกลัว แล้วเงียบ ถ้าลูกยังไม่หยุดอีก พ่อแม่ก็จะหวดให้ลูกเจ็บ เพื่อจะหยุดพฤติกรรมลูกให้ได้
ความคาดหวังที่จะหยุดเสียงโวยวายก้าวร้าวของเด็ก โดยไม่สนใจพัฒนาทักษะสมอง EF เป็นความคาดหวังที่ผิด พ่อแม่ไม่สามารถใช้ความกลัวหยุดเด็กได้จนโต เด็กจะกลัวพ่อแม่จนถึงอายุหนึ่งเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นช่วงวัยรุ่น เมื่อลูกเลิกกลัวเราจะมาพัฒนาทักษะสมอง EF ก็อาจช้าไปแล้ว หรืออาจยากมาก ๆ จนพ่อแม่ถอดใจ
ขอให้พ่อแม่ท่องไว้ว่า “คนเป็นเจ้าของอารมณ์จะต้องเป็นคนคุมตนเอง” แบบนี้จะมีความยั่งยืนกว่า ลูกควรควบคุมตัวเองได้ ไม่ใช่รอพ่อแม่โกรธถึงจะทำตัวดี นั่นก็แปลว่าพ่อแม่ต้องคาดหวังใหม่ อย่าคาดหวังไปที่ลูกให้เงียบเร็ว ๆ แต่หันมาคาดหวังกับตนเอง ให้สามารถพัฒนาทักษะสมอง EF ลูกได้ ขอให้เก่งขึ้นวันละนิด ๆ ก็ยังดีกว่าอยู่ที่เดิมนะคะ
🔻 1. ตั้งสติให้ได้ ไม่ใช้อารมณ์เด็ดขาด
🔻 2. ให้เวลาตนเองและลูก ไม่เร่งรัดรีบจบงาน
🔻 3. ควบคุมสีหน้า และน้ำเสียงให้สงบนิ่งจริง ๆ
🔻 4. โฟกัสไปที่สายตาลูก (เราต้องอยู่ระดับเดียวกับเด็ก)
🔻 5. หยุดเถียงลูก หยุดตะโกนใส่ลูก
🔻 6. พูดให้น้อยที่สุด เช่น “ตีแม่ไม่ได้” ถ้าพูดเยอะ คำพูดจะขาดน้ำหนัก
🔻 7. แสดงท่าทีเด็ดขาดให้มากที่สุด จับมือลูกข้างที่ตีไว้ จับให้แน่นในระดับที่สะบัดหลุดไม่ได้
🔻 8. ทำข้อ 6 และ 7 พร้อมกัน คือ พูดน้อยมีน้ำหนัก และท่าทางจับมือลูกเด็ดขาด
🔻 9. ปล่อยมือลูกหลังจากจับไว้ 5 - 10 วินาที อย่าจับค้างนานเกินไป เด็กโกรธไม่ชอบถูกจับ
🔻 10. กลับมาพูดน้อยอีกครั้ง ด้วยคำว่า “แม่จะรอลูกเงียบแล้วคุยกันนะ”
🔻 11. ใจเย็น ควบคุมสีหน้าและท่าทางให้สงบนิ่ง ไม่พูด และรอ (ไม่พูดอะไร)
🔻 12. กลับมาคุยกับลูก หลังจากลูกสงบแล้ว
พฤติกรรมไม่น่ารักของลูก ไม่ว่าจะดื้อ เถียง งอแง เอาแต่ใจ โกรธ เสียใจ ก้าวร้าว รุนแรง ขอให้พ่อแม่มองว่าเป็นโจทย์ชีวิตของลูก ที่ธรรมชาติให้มาพร้อมสมองส่วนหน้า เพื่อให้ลูกมีโอกาสฝึกฝนทักษะสมอง EF ทุก ๆ วัน
เมื่อพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นโค้ชรับมือความรุนแรงของลูกด้วยสติและความเด็ดขาดแบบไม่คุกคาม สมองส่วนหน้าของลูกจะได้รับการพัฒนาทุก ๆ วัน ตรงนี้แหละที่ลูกต้องการ ลูกจะก้าวร้าวลดลง และรับมือกับอารมณ์ตนเองได้ดีขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องตะวาด ตี ขู่ให้เงียบเลย
อย่างไรก็ตาม ทักษะสมอง EF จะพัฒนาเต็มเมื่ออายุ 25 ปี ลูกจะมีวันรั่วบ้างก็ไม่แปลกนะคะ แต่โดยรวมทิศทางควรไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เท่าเดิมหรือแย่ลงค่ะ
...“พ่อแม่ควรคาดหวังตนเองให้สงบ และไม่คาดหวังให้ลูกสงบโดยเร็ว”...