607
เวลาคุณภาพกับการปรับพฤติกรรม

เวลาคุณภาพกับการปรับพฤติกรรม

โพสต์เมื่อวันที่ : December 20, 2022

วินัย (Discipline) คือ การฝึกให้คนเราสามารถทำความกฎ ระเบียบ และสามารถปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมตามขนบจารีตประเพณีหรือความเชื่อของแต่ละสถานที่ แต่ละสังคม และแต่ละประเทศได้

 

การฝึกวินัยให้กับลูก ก็คือการฝึกให้ลูกสามารถทำตามกฎ ระเบียบของบ้าน และสามารถปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมในฐานะลูก ฐานะสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวได้ โดยแต่ละบ้านก็มีกฎระเบียบและวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน

 

โดยทั่วไป ‘วินัยของลูก’ มักหมายถึงการดูแลและควบคุมตัวเองในการทำกิจวัตรต่าง ๆ ในแต่ละวันอย่างการรับประทานอาหาร การดูแลสิ่งของของตนเองได้ เช่น การเก็บรักษาของเล่นของตนเองเป็นที่เป็นทาง ถอดเสื้อผ้าแล้วเอาไปใส่ถังผ้า การดูแลความสะอาดของตนเอง การอาบน้ำแปรงฟัน ความรับผิดชอบในงานบ้านที่ได้รับมอบหมายตามช่วงวัยอย่างการช่วยแม่ตากผ้า รดน้ำต้นไม้ การพับผ้า การกรอกน้ำเข้าตู้เย็น เป็นต้น

 

 

ในแง่ของ ‘วินัยเชิงพฤติกรรม’ ก็มีอีกหลากหลายมุมมองอย่างกฎพื้นฐานของบ้านอย่างการไม่ร้ายตัวเอง การไม่ทำร้ายคนอื่น การไม่ทำลายข้าวของ รู้จักควบคุมตัวเองได้เมื่อมีพายุแห่งอารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์อย่างความโกรธ ความไม่ชอบ ความเสียใจ อยากได้อยากมี แสดงออกทางอารมณ์ได้แต่ก็ควบคุมตัวเองไม่ให้ใช้ความรุนแรงได้

 

ต่อมาคือแนวทางของพฤติกรรมที่ดีที่หลายครอบครัวให้ความสำคัญ และถือเป็นหนึ่งในวินัยที่พ่อแม่ต้องการปลูกฝังให้กับลูกเพื่อให้เขาดีต่อตนเองในแง่ของบุคลิกภาพและการปฏิบัติตนเพื่อการเข้าสังคมได้ง่ายในอนาคตอย่างการพูดจาไพเราะ น่ารัก น่าเอ็นดู เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเข้ากับผู้อื่นได้ เป็นต้น

 

 

แต่การจ้องแต่จะปรับพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวโดยไม่มี ‘เวลาคุณภาพ’ ที่ดีร่วมกัน มันจะนำมาซึ่ง ‘การต่อต้าน’ ทั้งแบบแสดงออก และแบบไม่แสดงออกอย่างการดื้อเงียบก็ได้ บางคนเปรียบเทียบพฤติกรรมที่ไม่ดีเปรียบเสมือนประตูที่เปิดไม่ออก เวลาคุณภาพก็เปรียบเหมือนลูกบิดประตู การปรับพฤติกรรมโดยที่ไม่มีเวลาคุณภาพที่ดีร่วมกันก็เหมือนการจะเปิดประตูที่ไม่มีลูกบิดประตู สุดท้ายแล้วการฝืนที่จะเปิดประตูก็คงหลีกเลี่ยงการพังประตูได้ยากนั่นเอง ดังนั้นเวลาคุณภาพที่ดีจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

‘เวลาคุณภาพ’ มีบทบาทที่สำคัญอย่างไรในการปรับพฤติกรรม

เพราะยามที่พ่อแม่ได้ใช้เวลาที่ดีร่วมกับลูก พ่อแม่สามารถเป็น ‘แบบอย่างที่ดี’ ในแบบที่พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นได้ทั้งในเรื่องของกิจวัตรและพฤติกรรมที่ดีโดยเฉพาะความอ่อนโยน ไม่รุนแรง โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาขึ้น พ่อแม่จะเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดที่จะแสดงให้ลูกเห็นว่าการจัดการกับปัญหาและอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างสงบและเหมาะสมเป็นอย่างไร และเมื่อเกิดเหตุในลักษณะที่คล้ายกันกับลูก พ่อแม่ก็สามารถเป็นคนหลักที่จะ ‘บอก’ และ ‘แสดง’ ให้ลูกเห็นว่าควรทำอย่างไร

 

ในขณะเดียวกัน การใช้เวลาที่ดีร่วมกันเป็นเวลาที่ดีเราจะได้เห็น ‘สาเหตุ’ และ ‘จุดประสงค์’ ของพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของลูกได้ชัดเจน เพื่อรู้และวางแผนจัดการกับปัญหาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้ง ‘กฎ’ ที่ชัดเจนและสม่ำเสมอที่เหมาะกับกับอายุของลูกได้ เช่น เมื่อถึงเวลานี้ต้องกลับบ้านแล้ว จากนั้นกินอาหารเย็น อาบน้ำ แปรงฟัน เล่นเบา ๆ และเข้านอน หรือถ้าไม่เก็บของเล่นก็อาจต้องงดการเล่นไปก่อนสักวันหนึ่งก็แล้วกัน เป็นต้น

 

 

นอกจากนี้ช่วงเวลาที่ได้อยู่กับลูกจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะได้ให้ ‘ความสนใจ’ กับลูก ลดปัญหาการเรียกร้องความสนใจ เพิ่มความสัมพันธ์และใกล้ชิดระหว่างกัน และยังเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่จะได้ ‘รับฟัง’ สิ่งที่ลูกไปพบเจอมา สิ่งที่ลูกคิด สนใจ และรู้สึกในชีวิตขณะนั้นซึ่งนำมาสู่ ‘ความเข้าใจ’ ตัวตนของลูกอย่างชัดเจน และขยายออกไปถึงกลุ่มเพื่อน ครูอาจารย์ สังคมในโรงเรียน และไอดอล บุคคลที่ลูกนิยมและบูชา โดยเฉพาะในวัยรุ่น ซึ่งทำให้เราเข้าถึงสัญญาณอันตรายต่าง ๆ ของชีวิตลูกได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมเสี่ยง เพศ ยาเสพติดและพฤติกรรมรุนแรง เป็นต้น

 

แล้วก็อย่ามัวแต่ซ่อมพฤติกรรมไม่ดีเพียงอย่างเดียวนะครับ จับพฤติกรรมดีและชื่นชมให้ดีด้วยเสมอ เพื่อให้ลูกได้รู้ว่าทำดีแล้วมีพ่อแม่ที่เห็น นั่นคือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เด็กอยากทำเรื่องราวดี ๆ มากขึ้นโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ก่อนที่การกระทำที่ดีนั้นจะฝังรากลึกกลายเป็นอุปนิสัยที่ดีที่เขาจะลงมือทำแม้ว่าจะไม่มีใครเห็นอีกในอนาคต เพราะตัวเขา ‘รู้’ ว่ามันคือเรื่องที่ดีที่ควรทำนั่นเอง