349
เมื่อลูกเขียนผิด และคำว่า “ไม่เป็นไร” ช่วยไม่ได้

เมื่อลูกเขียนผิด และคำว่า “ไม่เป็นไร” ช่วยไม่ได้

โพสต์เมื่อวันที่ : September 29, 2022

..."ลูกสาวอายุ 7 ขวบ ตอนนี้เริ่มเรียนพิเศษ แต่ด้วยที่น้องมาเข้าคลาสหลังเพื่อน ๆ ร่วมห้องช้า 1 เดือน ทำให้น้องตามเพื่อน ๆ ไม่ค่อยทัน เวลาคุณครูให้เขียนตามคำบอกแล้วเขาได้คะแนนน้อย ลูกสาวก็ไม่อยากมาเรียน"...


..."พอสอบถามน้องก็แจ้งว่าทำไม่ทัน คุณแม่เลยไปสอบถามทางที่เรียนพิเศษคุณครูก็แจ้งว่าน้องเป็นคนกะตือรือร้นที่จะตอบคำถามและค่อนข้างเรียนรู้ได้ดี แต่เวลาเขียนตามคำบอกน้องจะค่อนข้างช้า ปกติการเขียนตามคำบอกที่โรงเรียนถ้าเขียนผิดคุณครูจะไม่แก้ไขให้ตอนนั้นเลยเพราะคุณครูต้องการในเด็ก ๆ กล้าที่จะเขียนคำตอบ กล้าตัดสินใจ หลังจากเด็ก ๆ ทำเสร็จคุณครูจะเฉลย"...

 

..."ซึ่งแม่ก็เห็นด้วยกับวิธีนี้ แต่น้องเองกลับไม่อยากไปเรียน วันไหนได้คะแนนเยอะน้องจะดีใจภูมิใจมาก ๆ แต่วันไหนได้คะแนนน้อยน้องก็จะเศร้าไม่อยากไปเรียน ที่บ้านไม่มีใครกดดันน้องว่าต้องได้คะแนนเยอะ น้องได้ 0 คะแนนก็มี แต่ควรให้กำลังใจว่าไม่เป็นไร วันนี้ฝึกกันใหม่อีกรอบพรุ่งนี้ไปทดสอบใหม่"...

 

..."จนมาถึงวันนี้พอไปส่งถึงที่เรียนน้องร้องไห้กอดคุณแม่ไว้แน่น คุณแม่ก็พาคุยกับคุณครูว่า ถ้าทำไม่ถูกทำไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร น้องก็ไม่ยอมเรียน น้องขอหยุด1วัน น้องบอกน้องเหนื่อย แต่คุณแม่ก็ให้น้องเรียน คุณแม่ทำถูกต้องหรือผิดไปคะ ทั้ง ๆ ที่น้องขอหยุดแค่ 1 วัน"...

ตรงประโยคนี้นะคะ “ถ้าเขียนผิดคุณครูจะไม่แก้ไขให้ตอนนั้นเลย เพราะคุณครูต้องการในเด็ก ๆ กล้าที่จะเขียนคำตอบ กล้าตัดสินใจ”

 

หมอเชื่อว่า เด็กจะกล้าตัดสินใจ กล้าเขียนคำตอบโดยไม่ถอดใจ จนไม่อยากไปโรงเรียนหากเขียนผิด ก็เมื่อผู้ใหญ่ทำให้ชัดเจนว่า #การเขียนผิดคือเรื่องธรรมดา เป็นขั้นตอนการเรียนรู้ และครูชื่นชมในความกล้าตัดสินใจเขียนผิด ๆ นั้นออกมาด้วย

 

 

เด็กส่วนใหญ่เข้าใจค่ะว่า เขียนผิดก็แก้ไขใหม่ได้ และเข้าใจด้วยว่าทุกคนให้กำลังใจ แต่ความรู้สึกแย่ที่เกิดขึ้นทุกวัน ๆ ลูกไม่สามารถจัดการให้มันออกไปได้ การพกความล้มเหลวกลับมาบ้านทุกวัน ทำให้ใจเด็กฝ่อ หมดแรงจนไม่อยากสู้ ลูกไม่อยากไปโรงเรียนเพราะไม่อยากตอกย้ำว่าตัวเองทำไม่ได้ อีกแล้ว !

 

การให้กำลังใจของคุณครูและผู้ปกครองว่า “ไม่เป็นไรนะ ทำใหม่ได้นะ” ก็ช่วยลูกได้บ้าง แต่ถือว่าน้อยมาก ๆ ค่ะ เราจะต้องแสดงออกชัดเจนกว่านี้

ต้องทำให้ลูกรู้สึกว่า ลูกไม่ได้ล้มเหลว ลูกไม่ใช่เด็กไม่เก่ง และลูกต้องเชื่อมั่นด้วยว่า ความอดทนของลูกมีค่ามาก พ่อแม่ให้คุณค่าตรงนั้น ไม่ใช่คะแนนสอบ ดังนั้น คำว่าไม่เป็นไร และการไม่กดดันให้ทำคะแนนดี ไม่สามารถสร้างความชัดเจนว่าพ่อแม่ภูมิใจอะไรเขา

 

ลูกต้องการคำชื่นชมใน “ความกล้าหาญ และความพยายาม” มากกว่า การยอมรับของพ่อแม่ว่า ศูนย์ก็ไม่เป็นไร เช่น “แม่ชื่นชมลูกมากเลย หนูกล้าไปโรงเรียนแล้วเขียนหนังสือตามครูบอก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะผิดเยอะ” หากเราชื่นชมลูก ลูกจะได้กำลังใจจากแม่ มากกว่าคำว่า ไม่เป็นไร

 

ตัวหมอเองชอบคอนเซ็ปคุณครูที่ให้เด็กเขียนจนเสร็จ โดยไม่เข้าไปแก้ทุกคำที่ผิด เพราะหากทำแบบนั้น นอกจากเด็กจะไม่อยากเขียนอีก (เพราะโดนแก้บ่อย ๆ) ยังเป็นการรบกวนสมาธิเด็กโดยไม่จำเป็นด้วย แต่คุณครูต้องเตรียมตัวเอง ในการตอบสนองเชิงบวกเมื่อเด็กเขียนผิดด้วยค่ะ อย่าพูดแค่ว่า “ไม่เป็นไร” เพราะจริง ๆ มันเป็นไรสำหรับเด็กค่ะ

 

หมอแนะนำว่า คุณครูและผู้ปกครองควรจะ...

 

❤︎ ทำให้เด็กรู้ว่า เขียนผิดคือเรื่องปกติของเด็ก ไม่ใช่ไม่เก่ง ❤︎

..."หนูมาเรียนช้ากว่าเพื่อน แล้วมีการเขียนผิด ครูคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดานะคะ ไม่ใช่หนูไม่เก่งนะลูก"...
..."เพื่อน ๆ ทุกคนก่อนจะเขียนถูก ก็เขียนผิดมาก่อนทั้งนั้นค่ะ เป็นปกติของการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ค่ะลูก"...
..."ก่อนที่ครูจะเขียนเก่ง ครูก็เขียนผิดมาเยอะเหมือนหนูเลย เป็นธรรมดามากเลยนะลูก"...

 

เมื่อผู้ใหญ่มองว่าเด็กกำลังทำสิ่งปกติ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของการเรียนรู้ เด็กจะไม่รู้สึกแปลกแยกจากเพื่อน เมื่อเด็กคงความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อนเดียวกับเพื่อน ก็จะเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อนลดลง ความรู้สึกจะดีขึ้น

 

❤︎ ชื่นชมเด็กที่กระบวนการ ลักษณะนิสัยที่ยอดเยี่ยม เพื่อให้เด็กโฟกัสที่คุณค่าตนเอง มากกว่าผลสอบ ❤︎

..."ครูชื่นชมหนูนะคะ หนูมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และกระตือรือร้นสูงมาก เป็นนิสัยที่ยอดเยี่ยมมากเลย"...
..."หนูมีความอดทน และความพยายามในการฝึกคำยาก ๆ อย่างคำว่า (ยกตัวอย่าง) ครูภูมิใจหนูนะคะ"...
..."หนูเขียนเก่งกว่าวันแรก ๆ หนูมีความก้าวหน้าที่ดีมากเลย เก่งมากเลยบลูก"...

 

การชื่นชมที่กระบวนการทำ ชื่นชมลักษณะนิสัยที่ยอดเยี่ยมของลูก มีความหมายกับลูกมาก และให้พลังใจมากกว่าคำว่า “ไม่เป็นไร” เยอะเลยค่ะ และยังบ่งบอกสิ่งที่มีคุณค่าในครอบครัวของเราด้วย

 

ดังนั้น เมื่อเปิดโอกาสให้เด็กตัดสินใจเองแล้ว ก็ต้องตอบสนองในเชิงบวกเมื่อเด็กทำผิดด้วย เด็กถึงจะมั่นใจ ไม่กลัวทำผิด และไม่ถอดใจระหว่างทาง ส่วนคำว่า “ไม่เป็นไร” นั้นส่วนใหญ่ ช่วยไม่ได้