282
มุมสงบ (Calm-down corner) พื้นที่ปลอดภัยในการแสดงอารมณ์

มุมสงบ (Calm-down corner) พื้นที่ปลอดภัยในการแสดงอารมณ์

โพสต์เมื่อวันที่ : July 10, 2022

 

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินเรื่อง “การจัดการอารมณ์ (Emotional regulation)” แต่การจัดการอารมณ์ที่เหมาะสมนั้นเป็นอย่างไร ?

 

“เราห้ามไม่ให้อารมณ์เกิดขึ้นไม่ได้ แต่เราจัดการและแสดงออกอย่างเหมาะสมได้” ดังนั้นผู้ใหญ่ควรให้การแนะนำทางเลือก และการสอนให้กับเด็ก ๆ ก่อนที่พวกเขาต้องเผชิญอารมณ์ทางลบ ซึ่งแนวทางที่สามารถทำได้ มีดังนี้

  1. การขอเวลานอกไปพักก่อน
  2. การพูดคุยระบายให้คนที่ไว้ใจฟัง
  3. การขอไปอยู่ในมุมสงบ

 

“มุมสงบ" ไม่เท่ากับ มุมทำโทษเด็กดื้อ แต่ "มุมสงบ” เท่ากับ พื้นที่ปลอดภัยในการแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม ดังนั้นเวลาที่เด็ก ๆ ไปที่มุมสงบ ผู้ใหญ่จะให้การเคียงข้าง ไม่ทิ้งเขาให้จัดการอารมณ์เพียงลำพัง

 

 

สร้างมุมสงบ (Calm-down corner)

ขั้นที่ 1 “หามุมสงบของตัวเอง”

ไม่ใช่แค่เพียงเด็ก ๆ แต่ทุกคนในบ้านสามารถมีมุมสงบของตัวเองได้ ความแตกต่างระหว่างมุมสงบของผู้ใหญ่กับเด็ก คือ มุมสงบของเด็กจำเป็นต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งทางด้านกายภาพและจิตใจ เพื่อให้ผู้ใหญ่สามารถเคียงข้างในยามที่เขารู้สึกไม่ดีได้ ในขณะที่มุมสงบของผู้ใหญ่อาจจะมีเพียงเราที่ขอเวลานอกออกมาทบทวนและสงบสติอารมณ์เพียงลำพัง

 

มุมสงบที่ปลอดภัย ประกอบไปด้วย...

  1. ปราศจากสิ่งที่เป็นอันตราย เช่น รูปลั๊กไฟ ของที่ตกแตกได้ ของมีคม
  2. มีสิ่งที่สามารถรองรับอารมณ์ได้อย่างปลอดภัย เช่น หมอน เบาะ บีนแบ็ก พื้นโฟม และอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละวัย และความสะดวกของแต่ละบ้าน
  3. ไม่มีคนเดินผ่านไปผ่านมา เพื่อให้เด็ก ๆ รู้สึกปลอดภัยทางใจ และสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ในพื้นที่ดังกล่าว ถ้าบ้านไหนอาจจะมีพื้นที่จำกัด แนะนำให้ใช้เต็นท์เด็ก หรือ เลือกห้องที่ปลอดภัยสำหรับเด็กแทน ทั้งนี้ผู้ใหญ่จะอยู่เคียงข้าง เพื่อทำให้แน่ใจว่า เด็ก ๆ ปลอดภัย

 

 

ขั้นที่ 2 “ตัวช่วย”

ตัวช่วยในที่นี้อาจจะเป็นอุปกรณ์หรือสิ่งของบางอย่างที่ทำให้เด็ก ๆ สามารถระบายอารมณ์ออกมาได้ เพราะเวลาที่เด็ก ๆ เต็มไปด้วยอารมณ์ทางลบ ทางที่ดีที่สุด คือ การระบายอารมณ์เหล่านั้นออกมาอย่างเหมาะสม

 

ยกตัวอย่าง

  • ในเด็กบางคน อาจจะอยากกอดหมอนหรือตุ๊กตาสักตัวแน่น ๆ
  • ในเด็กบางคน อาจจะอยากชกเบาะ ต่อยหมอน หรือ บีบของบางอย่างเพื่อระบายความคับข้องใจออกมาก่อน
  • ในเด็กบางคน อาจจะต้องการเพียงพื้นที่ปลอดภัยที่เขาจะสามารถร้องไห้ออกมาอย่างไม่อายใครเท่านั้นเอง

 

 

ขั้นที่ 3 “มุมสงบที่ดีที่สุด คือ การมีใครสักคนที่เขาไว้ใจอยู่เคียงข้างอย่างยอมรับและเข้าใจ”

ทั้งนี้ตัวช่วยที่สามารถเป็นภาชนะรองรับอารมณ์เด็ก ๆ ได้ดีที่สุด คือ ใครสักคนที่เขาไว้ใจ และใครคนนั้นพร้อมที่จะเคียงข้างเขาอย่างเข้าใจ เด็ก ๆ จะสามารถระบายความรู้สึกออกมาอย่างหมดใจ ที่สำคัญเมื่อเด็ก ๆ ค่อย ๆ สงบมากพอจะคุยกับเราแล้ว เราสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้อารมณ์ที่ตัวเองเผชิญอยู่ และเข้าใจตัวเองมากขึ้นได้ผ่านการใช้คำถามเหล่านี้

 

Q1 : “ลูกรู้สึกอย่างไร ?” เช่น โกรธ เศร้า เสียใจ กลัว
Q2 : “อะไร/ใครทำให้ลูกรู้สึกอย่างนี้/เพราะอะไรลูกถึงรู้สึกอย่างนี้ ?”
Q3 : “เราจะทำอย่างไรดีเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น ?”
Q4 : “อยากให้พ่อ/แม่ช่วยอะไรลูกได้บ้าง ?”
Q5 : “ครั้งหน้าถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้อีก ลูกจะทำอย่างไรดี ?”

 

สุดท้ายแม้ครั้งถัดไปเขายังไม่สามารถจัดการอารมณ์หรือแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ผู้ใหญ่ก็ควรให้การสอนและทบทวนด้วยคำถามเหล่านี้ต่อไป

 

 

ขั้นที่ 4 “การฝึกใช้มุมสงบ”

ในขึ้นนี้ คือ การซ้อมใช้มุมสงบก่อนจะเกิดเหตุการณ์อารมณ์ทางลบ ซึ่งผู้ใหญ่สามารถชักชวนเด็ก ๆ มานั่งพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งเรื่องราวดี ๆ และไม่ดีในมุมนี้ได้เสมอ เพื่อให้เด็ก ๆ คุ้นเคยกับมุมสงบ และรู้สึกปลอดภัยที่จะมาใช้งานจริง

 

ข้อสำคัญ ผู้ใหญ่ไม่ควรตัดสินหรือลงโทษเด็ก ๆ อย่างรุนแรงในมุมนี้ แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่สามารถทำได้ คือ การพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา และการสอนให้เขารับผิดชอบต่อการกระทำอย่างเหมาะสม เช่น ถ้าลูกทำผิด และเขามาสารภาพผิดกับเราในมุมนี้ สิ่งที่พ่อแม่สามารถพูดและสะท้อนกับเขาได้ คือ...

  1. ขอบคุณเขาที่ยอมรับความจริง
  2. สิ่งที่ลูกทำไม่เหมาะสมอย่างไร
  3. สิ่งที่ลูกควรทำคืออะไร
  4. พ่อแม่จะทำไปพร้อมกับลูก จนเขาสามารถทำได้ด้วยตัวเองอย่างเหมาะสม
  5. ขอบคุณลูกที่บอกความจริงอีกครั้ง ครั้งหน้าอยากให้ลูกรู้ว่า ปรึกษาพ่อแม่ได้เสมอ และเรายินดีที่จะ เคียงข้างลูกจนเขาสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง

 

 

ขั้นที่ 5 ฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝน

ในขั้นสุดท้ายของการใช้มุมสงบให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ต้องเกิดจากการใช้เป็นประจำนั่นเอง โรงเรียนควรมีมุมสงบในห้องเรียนสำหรับเด็ก ๆ เช่นกัน เพราะไม่ว่าอย่างไร เด็ก ๆ ควรจะมีพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถพักใจและรอตัวเองสงบเพื่อพร้อมกับไปเรียนรู้ได้อีกครั้ง

 

 

...“เราไม่สามารถควบคุมอารมณ์ไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถจัดการอารมณ์ด้วยการแสดงออกอย่างเหมาะสมได้”...

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง