1491
การช่วยเหลือตัวเอง (Self-care) พื้นฐานสำคัญของการใช้ชีวิต

การช่วยเหลือตัวเอง (Self-care) พื้นฐานสำคัญของการใช้ชีวิต

โพสต์เมื่อวันที่ : June 21, 2022

ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม (Psychosocial Development) ของ อีริก อีริกสัน กล่าวว่า ในเด็กวัย 1 ปีครึ่ง ถึง 3 ปี หากพ่อแม่ให้อิสระในการใช้ร่างกายเพื่อช่วยเหลือตัวเองและสำรวจโลก เด็กจะพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองและการพึ่งพาตนเอง ในทางกลับกัน หากพ่อแม่ควบคุมหรือตำหนิมากเกินไป เด็กจะขาดความรู้สึกว่าตนเองสามารถเป็นผู้ควบคุมตนเองได้ และเกิดความสงสัยในความสามารถของตนเอง

ภารกิจที่สำคัญของพ่อแม่และผู้ใหญ่ของเด็กวัยนี้ คือ “การสอนเด็กช่วยเหลือตัวเองตามวัย (Self-care) เพื่อให้เขาได้ฝึกทำอะไรด้วยตนเอง”

 

ได้แก่ การกิน การล้างหน้าแปรงฟัน การอาบน้ำ การถอด-ใส่เสื้อผ้า การถอด-ใส่รองเท้า การเก็บของเล่น และการเข้าห้องน้ำ ทั้งนี้เราไม่ได้คาดหวังว่า เด็กเล็กต้องทำทุกอย่างนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเราไม่ได้คาดหวังผลลัพธ์ แต่เราคาดหวังให้เขาเรียนรู้การลงมือทำทุกขั้นตอนด้วยตัวเขาเอง และเมื่อทำเสร็จพ่อแม่และผู้ใหญ่มีหน้าที่ดูแลตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้ง โดยอาจจะทำย้ำให้ในครั้งที่สอง เช่น...

 

  • ให้เด็กได้แปรงฟันด้วยตนเอง 1 นาที เมื่อแปรงเองแล้ว พ่อแม่มาแปรงย้ำอีกครั้ง
  • ให้เด็กอาบน้ำเอง เขาอาจจะทำได้เพียงราดน้ำ และถูสบู่แค่บริเวณที่เขาเอื้อมถึง พ่อแม่มาช่วยย้ำและถู ในบริเวณที่เขาทำไม่ถึงได้อีกครั้ง เป็นต้น

 

 

เมื่อลูกทำได้ด้วยตนเอง อย่าลืมชื่นชมทุกก้าวเล็ก ๆ ของลูก เพราะทุกกำลังใจจากพ่อแม่มีความหมายสำหรับเขาเสมอ สิ่งสำคัญอีกประการของพ่อแม่ที่มีลูกวัยนี้ คือ “ความอดทนรอคอย” หากเราเข้าไปช่วยเหลือลูกเร็วเกินไป เด็กจะขาดโอกาสในการฝึกฝนการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และทำให้เขาเลือกที่จะไม่ทำสิ่งนั้น เพราะเขารู้ว่า “พ่อแม่พร้อมจะทำให้เขา” และเด็กจะรับรู้ว่า “พ่อแม่ไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะรอเขา”

 

ในบทความนี้ขออนุญาตยกตัวอย่างการช่วยเหลือตัวเอง ได้แก่ การกินข้าวเอง และการแต่งตัวเอง เพื่อเป็นแนวทางสำหรับคุณพ่อคุณแม่เพื่อนำไปปรับใช้ในการสอนเด็ก ๆ ช่วยเหลือตัวเองในด้านอื่น ๆ ต่อไป

◆ 1. “การกินข้าวเอง” ◆

ทักษะการช่วยเหลือตัวเองแรก ๆ ในชีวิตของเด็ก ๆ คือ “การกินข้าว” ด้วยตัวเอง แม้จะยังใช้อุปกรณ์ไม่เป็น แต่เด็ก ๆ สามารถใช้สายตามองอาหาร และใช้มือของเขาจับอาหาร ป้อนเข้าปากตัวเองได้ตั้งแต่วัยประมาณ 9 เดือน ระยะเวลาในการกินสำหรับเด็ก ๆ ต่อมื้อ คือ 30 นาที 

เมื่อเด็กๆ เคยชินกับการหยิบ จับอาหาร และมือของเขาทำงานประสานกับตา (Eye-hand coordination) แล้ว เด็กๆ จะสามารถมองอาหารที่ต้องการ แล้วใช้ช้อน-ส้อม ตัก-จิ้มอาหารเข้าปากตัวเองได้ในพัฒนาการขั้นต่อมา

 

เมื่อเด็กๆ กินข้าวเอง พวกเขาได้พัฒนาเพียงทักษะการช่วยเหลือตัวเอง แต่เด็ก ๆ พัฒนาการรับรู้ถึงความสามารถในตัวเองอีกด้วย ซึ่งนำไปสู่ความั่นใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต

 

◆2. "การถอด-ใส่เสื้อผ้า" ◆

ตามพัฒนาการของเด็กแล้ว เด็กอายุ 2-3 ปี สามารถฝึกถอด-ใส่เสื้อผ้า แบบลักษณะเสื้อผ้าที่ง่ายที่สุดในการฝึกให้เด็ก ๆ สามารถไล่ระดับจากง่ายไปยาก คือ

 

  • เด็กวัย 1-2 ปี สามารถถอดถุงเท้า รองเท้าแบบสวมเข้าอย่างง่ายหรือมีเวลโครได้ (ไม่มีเชือกผูก) รูดซิปขึ้น-ลง
  • เด็กวัย 2.6-3 ปี สามารถถอดเสื้อยืด เสื้อผ่าหน้า (โดยมีผู้ใหญ่ช่วยปลดกระดุมให้) กระโปรงยางยืด กางเกงยางยืดขาสั้น และสามารถใส่กางเกงยางยืดได้เอง โดยต้องการความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้าง
  • เด็กวัย 3-4 ปี ถอดเสื้อผ้าได้เองทั้งหมด โดยต้องการความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย และสามารถใส่เสื้อผ้าที่มีกระดุมที่มีขนาดใหญ่ (2 เซนติเมตรขึ้นไป ประมาณ 3 เม็ด) ได้
  • เด็กวัย 4-5 ปี แต่งตัวเองได้ ใส่เสื้อสวมหัว โดยดูหน้า-หลังเป็น และสามารถติดกระดุมที่มีขนาดเล็กได้

 

การถอดเสื้อผ้า จึงเป็นขั้นแรกที่ง่ายที่สุด เพราะเด็ก ๆ ไม่จำเป็นต้องคิดว่า ต้องถอดจากด้านหน้า-หลังก่อน เหมือนตอนใส่ ขอแค่ถอดออกมาได้ก็เพียงพอแล้ว เมื่อพวกเขาถอดได้คล่องแล้ว การฝึกใส่เสื้อผ้าจะเป็นขั้นต่อมาที่เขาสามารถเรียนรู้และฝึกฝนไปพร้อมกับการถอดได้

 

“กฎ 5 นาที”

เคล็ดลับสำหรับพ่อแม่ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น

 

เด็กทุกคนต้องการโอกาสในการจะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเขาเอง เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะและการช่วยเหลือตัวเอง ในครั้งแรก ๆ เด็ก ๆ อาจจะทำไม่ได้หรือทำได้ไม่สมบูรณ์ พ่อแม่ไม่ควรผลีผลามเข้าไปช่วยเหลือ แต่เราควรให้เวลาเด็กได้ทำด้วยตัวเองสัก 5 นาที

 

ถ้าเขาทำได้สำเร็จ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในตัวของเด็กๆ คือ "ความภาคภูมิใจ" และ "ความมั่นใจในตัวเอง" ครั้งหน้าถ้าเขาเจอสถานการณ์เช่นนี้อีก เขาจะมั่นใจมากขึ้นว่า เขาจะสามารถแก้ปัญหานั้นได้ด้วยตัวเอง

แต่ถ้าหากเลย 5 นาทีไปแล้วเด็ก ๆ ยังทำไม่ได้ หรือ เมื่อเด็ก ๆ พยายามจนถึงที่สุดแล้ว พวกเขาไม่สามารถทำได้ พ่อแม่จึงควรเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ในที่นี้ คือ สอนเขาทำและแก้ปัญหานั้น

 

การเปิดโอกาสให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเอง และทำสิ่งต่าง ๆ ที่เขาทำได้ด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เด็ก ๆ จะเกิดเป็นความชำนาญในทักษะดังกล่าว ในขณะเดียวกันพวกความมั่นใจในตัวของเขาก็ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับทักษะที่เกิดขึ้นด้วย ทักษะพื้นฐานผนวกกับการรับรู้ถึงศักยภาพภายในตัวเองสามารถแผ่ขยายไปสู่การเรียนรู้และลองทำสิ่งใหม่ ๆ ต่อไป

 

อ้างอิง : Department of Health, Ministry of Public Health. (2018). Parenting Guidelines Promote Development and Learning of Children Under 3 Years Old. Nontaburi: Ministry of Public Health.