57
ลูก 4 ปีมีแนวโน้มใช้ความรุนแรง

ลูก 4 ปีมีแนวโน้มใช้ความรุนแรง

โพสต์เมื่อวันที่ : July 6, 2022

..."คุณหมอคะ ลูกอายุ 4 ขวบมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรง ต้องแก้ไขยังไงได้บ้างคะ"...

 

👩🏻‍⚕️ หมอมองเรื่องนี้เป็น 2 ส่วน

☺︎ 1. ส่วนของพ่อแม่ ☺︎

พ่อแม่ต้องหมั่นสำรวจ “ความคิดและความรู้สึก” ของตนเอง ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง เพราะเราอาจเคยเป็นเด็กที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงมาก่อน อาจเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่เราเองที่เลี้ยงดูมาแบบนี้ หรืออาจเป็นผู้ใหญ่ใกล้ตัว เช่น ครู, ญาติสนิท หรืออยู่ในสังคมที่ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ปกติไปแล้ว (จริง ๆ ไม่ควรปกติ แต่เกิดบ่อย ๆ จนเคยชินและสังคมเข้าใจว่านี่คือปกติ)

 

การเติบโตภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีความก้าวร้าว สามารถหล่อหลอมความรุนแรงในตัวเราได้ (แม้เราจะไม่ต้องการ) จนเมื่อถึงวันที่เป็นพ่อแม่ วิธีการเลี้ยงลูกบางอย่างอาจเหมือนวิธีที่ได้รับมา (แม้จะไม่ตั้งใจหรือไม่อยากให้เกิดขึ้นก็ตาม)

คนเป็นพ่อแม่จึงควรหมั่นสำรวจความคิดและความเข้าใจตนเอง โดยเฉพาะช่วงที่สงบ ๆ ค่อย ๆ พิจารณาว่า อะไรที่ทำให้เราโกรธลูกมากที่สุด เช่น โกรธมากสุดเมื่อลูกทำสกปรก เพราะพ่อแม่เราเข้มงวดเรื่องนี้มาก บางคนโกรธมากที่สุดเมื่อลูกไม่เชื่อฟัง ซึ่งก็มาจากที่พ่อแม่ดุมากเมื่อเราไม่เชื่อฟัง 

 

เมื่อเราค่อย ๆ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง เราจะมีโอกาสตระหนักรู้เท่าทันอารมณ์ และยังช่วยให้สามารถวางแผนเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่กระตุ้นความโกรธสุด ๆ ของเราได้ เช่นเมื่อรู้ว่าตัวเองจะปรี๊ดเมื่อลูกทำสกปรก ก็จัดพื้นที่แยกออกมา เพื่อให้ลูกทำเลอะเทอะได้ หรือ เราจะโมโหเมื่อเรียกลูกเกิน 3 ครั้ง ก็ควรวางแผนกับตนเองว่าจะเรียกไม่เกินสาม โดยบอกลูกไว้ก่อนว่าเรียกครบสาม พ่อจะใช้วิธีจูงไปแทน ไม่งั้นพ่อจะโมโหได้ เป็นต้น 

 

💕 2. ส่วนของเด็ก 💕

💛 พื้นอารมณ์ของเด็ก ∷ ปกติแล้ว ในทางชีวภาพพื้นอารมณ์ของเด็กแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน มี 4 แบบ คือ เด็กเลี้ยงง่าย, เด็กเลี้ยงยาก, เด็กต้องใช้เวลาปรับตัว, และแบบผสม ซึ่งเด็กเลี้ยงยาก ตอนเบบี๋มักร้องไห้เสียงดังและร้องนาน ความสม่ำเสมอของตารางชีวิตก็กะไม่ค่อยได้ กิน-นอนไม่ค่อยเป็นเวลา ประมาณว่าเลี้ยงยากกว่ากลุ่มอื่น ๆ 

 

เด็กกลุ่มนี้จึงเป็นโจทย์ยากสำหรับพ่อแม่ ซึ่งต้องอาศัยพ่อแม่ที่ใจเย็น ๆ เลยค่ะ และพื้นอารมณ์ของเด็กจะอยู่ติดตัวไปตลอด โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้บ้างจากการเลี้ยงดู ถ้าพ่อแม่ใจเย็น ๆ จัดตารางชีวิตให้สม่ำเสมอและค่อย ๆ ปลอบใจลูกเวลาร้องไห้ ไม่โกรธใส่ เด็กก็จะรุนแรงลดลงได้  

🧡 เป็นพัฒนาการตามวัย ∷ วัยเล็ก ๆ เด็กยังไม่สามารถควบคุมตนเองได้ดี ทั้งการควบคุมร่างกายให้เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว การใช้มือตักอาหาร แต่งตัว และอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือตัวเอง การควบคุมอารมณ์ก็ย่อมทำไม่ได้แน่ ๆ ที่สำคัญเด็กยังยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง มองแต่ความต้องการของตัวเองเป็นหลัก การจะมองมุมคนอื่น (เช่น มองว่าแม่กำลังมาช่วยเรานะ) จะพัฒนาได้ก็เมื่ออายุประมาณ 6-7 ขวบเลย 

 

ดังนั้นอย่าคาดหวังว่าลูกจะเข้าใจคำอธิบายที่ไกลจากความต้องการของเขา และอย่าคาดหวังว่าลูกจะเงียบได้ ถ้าเราใช้เหตุผล จริงแล้ว ลูกจะสามารถจัดการตัวเองได้ นอกจากการเลี้ยงลูกด้วยเหตุผลแล้ว เขายังต้องผ่านกระบวนการช่วยเหลือจากพ่อแม่ด้วย อย่าคิดว่า คำพูดดี ๆ หรือมีเหตุผลแล้วลูกจะเชื่อฟังเลย

 

 

💚 การเลี้ยงดู ∷ ตรงไปตรงมาเลยค่ะ ถ้าเราเลี้ยงลูกด้วยความรุนแรง ลูกก็จะซึมซับจากเรา เหมือนที่เราได้รับมา แต่หากเราใจเย็น ๆ มีกระบวนการช่วยลูกจัดการตนเอง ลูกก็จะไม่รุนแรงแบบที่เราเป็น ซึ่งแน่นอนว่า โจทย์นี้ยากมาก อย่างแรกพ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบที่ดี นั่นก็หมายถึงว่า พ่อแม่ต้องไม่ใช้อารมณ์ในการเลี้ยงลูก ให้ใช้วิธีเชิงบวก ทั้งการมีเวลาคุณภาพ และการเพิกเฉยอย่างใจเย็น

 

  • กับคู่ชีวิตของเราก็ไม่ควรทะเลาะกันให้ลูกเห็น 
  • งดสื่อทุกอย่างที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหรือข่าวที่ไม่เหมาะกับวัย
  • ชุมชนก็ควรเป็นสังคมที่ปลอดภัยเช่นกันค่ะ
  • และหากลูกแสดงความรุนแรงออกมา ต้องรับมือด้วยความอ่อนโยน เช่น...

✚ ถ้าลูกตะโกน เราต้องไม่ตะโกนกลับ ให้เราพยายามสงบแทน
✚ ถ้าลูกไม่เชื่อฟัง ก็ใช้วิธีเดินเข้าไปใกล้ ๆ ลูกและสบตาก่อนออกคำสั่งแบบใจเย็น เรียกไม่เกิน 3 ครั้งและบอกลูกว่า แม่ช่วยจูงไปนะคะ 
✚ ถ้าลูกร้องไห้อาละวาด ให้ถามลูกว่า อยากให้แม่กอดมั้ย ถ้าลูกไม่ต้องการก็นั่งอยู่ใกล้ ๆ รอลูกสงบ อย่าเดินหนีแบบโกรธ ๆ และอย่าดุหรือตีให้หยุดเด็ดขาด
✚ ถ้าลูกทำร้ายคนหรือโยนของ ให้จับมือลูกแน่น ๆ สัก 5 วินาทีประกอบคำพูด "ไม่ตีแม่" (เสียงหนักแน่นแต่ไม่คุกคามนะคะ) ถ้าปล่อยมือแล้วลูกร้องไห้ ให้อ่านข้อข้างบนค่ะ

 

กระบวนการช่วยลูกดังกล่าว ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น ขอให้พ่อแม่ใจเย็น ๆ ไม่มีใครบนโลกใบนี้ที่ใจร้อนแล้วลูกสามารถสงบเงียบได้ด้วยความรู้สึกปลอดภัย และอย่าลืมนะคะ ต้องมีเวลาคุณภาพกับลูก ใช้เวลาเล่นหรือทำกิจกรรมกับลูกให้มากขึ้น, ชื่นชมในนิสัยน่ารัก ๆ ของเขา หรือ สิ่งที่เขาทำได้ หรือที่เขาพยายามทำด้วย 

 

..."ถ้าไม่มีเวลาคุณภาพกับลูก ทุกอย่างที่หมอแนะนำให้ทำ ก็จะไม่สำเร็จแน่นอน เป็นกำลังใจให้ค่ะ"...