112
ลูกวัยเตาะแตะตีพ่อแม่ ทำยังไงดี ?

ลูกวัยเตาะแตะตีพ่อแม่ ทำยังไงดี ?

โพสต์เมื่อวันที่ : June 20, 2022

ทำไมเด็กวัยเตะแตะตีคุณพ่อคุณแม่ มีหลายเหตุผลค่ะ ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวของลูกและสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ด้วย

  • ลูกยังไม่สามารถควบคุมความวู่วามได้
  • ลูกกำลังรู้สึกกลัว 
  • ลูกกำลังรู้สึกโกรธ 
  • ลูกกำลังต่อต้านสิ่งที่คุณห้าม
  • ลูกไม่สามารถแสดงออกด้วยวิธีอื่น 
  • สมองของเด็กวัยนี้ ยังไม่รู้จักคำว่า “เห็นอกเห็นใจ” 
  • เป็นวิธีการเล่นแบบหนึ่งของลูก 

 

จริง ๆ แล้ว ลูกไม่ได้มีความตั้งใจที่จะทำให้คุณเจ็บเลยนะคะ เพียงแต่ลูกยังไม่สามารถแสดงออกด้วยวิธีอื่นได้ค่ะ

 

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเพื่อช่วยลูก

✚ 1. ช่วงลูกกำลังตี ✚

ควรเข้าใจว่าพฤติกรรมการตี คือการสื่อสารชนิดหนึ่ง จงพยายามช่วยให้ลูกแสดงออกด้วยวิธีอื่นแทน สังเกตร่างกายและอารมณ์ของคุณก่อน เพราะเด็กจะไม่สามารถสงบลงได้ ถ้าตัวคุณยังไม่สงบเลย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามจัดการกับอารมณ์ของตัวเองเป็นอันดับแรก 

 

ลูกจะไม่สามารถฟังคุณ หากยังไม่ได้ระบายอารมณ์โกรธออกมาก่อน คุณจึงต้องอนุญาตให้ลูกมีความรู้สึกโกรธ (ท่องเอาไว้ว่า ยอมรับความรู้สึกแต่ไม่ยอมรับพฤติกรรม) อย่าสั่งลูกเงียบ อย่าตีให้ลูกเงียบ อย่าคอยบอกลูกซ้ำ ๆ ให้เงียบ ซึ่งในข่วงนี้อาจออกมาเป็นแบบนี้ 

 

❤︎ คุณกำลังหายใจเข้าออกลึก ๆ เพื่อช่วยให้ตนเองสงบ และตั้งสติให้ได้

❤︎ พูดกับลูก (น้อยที่สุด) เช่น ...“แม่ช่วยลูกนะ”... เพื่อให้ลูกรู้ว่าเขาปลอดภัย หรืออาจไม่ต้องพูดเลย ถ้าลูกโกรธจัดและไม่ฟัง 

❤︎ จับมือของลูกให้แน่นเพื่อหยุดการตีนั้น และพูดสั้น ๆ “ไม่ตี” คุณต้องพูดหนักแน่นแต่ไม่คุกคาม แต่ถ้าลูกตีผ่านไปแล้ว ก็ไม่ต้องจับมือและไม่ต้องพูด 

 

✚ 2. ช่วงที่ลูกไม่มีการตี แต่ร้องไห้อาละวาดอยู่ คุณควรจะ... ✚

เบี่ยงเบนความสนใจให้ลูกไปเล่นอย่างอื่นกับคุณ ควรพยายามทำให้สนุกสนาน เพื่อช่วยลูกเปลี่ยนโฟกัสมาที่ตัวคุณแทนอารมณ์โกรธ คุณกอดด้วยความรักจนกว่าลูกสงบ 

 

ถ้าลูกไม่ให้กอด นั่งอยู่ข้าง ๆ รอลูกอาละวาดลดลง แล้วค่อยหาจังหวะกอด แต่ถ้าลูกไม่ยอมให้กอดเลย ก็นั่งข้าง ๆ จนกว่าลูกสงบ (เด็กหลายคน ไม่ให้กอด เพราะยังต้องการระบายความโกรธพ่อแม่ออกให้หมด)

 

✚ 3. หลังจากตีและการอาละวาดจบลง ✚

เมื่อลูกสงบได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ทราบมั้ยว่า ตัวเด็กเองก็รู้สึกกลัว.. เขาเองก็ตกใจกับพฤติกรรมตัวเองเหมือนกัน กลัวพ่อแม่จะทิ้ง กลัวไม่รัก.. คุณจึงควรอยู่กับลูกต่อ #เพื่อให้ลูกรู้สึกสบายใจและปลอดภัย การอยู่กับลูกในช่วงนี้ จะเล่นหรือทำกิจกรรมกับลูกก็ได้ค่ะ หาจังหวะสอดแทรกการสอนลูกสั้น ๆ ว่า ...“เวลาลูกโกรธ ลูกร้องไห้ได้ เสียงดังได้ แต่ลูกตีคนไม่ได้”...

 

หากเป็นกรณีเด็กชอบเตะ เราบอกว่า ...“เวลาลูกโกรธ ลูกร้องไห้ได้ เสียงดังได้ จะกระทืบเท้าก็ได้ แต่ไม่เตะคนนะคะ”... เน้นสอนตรงนี้ อย่าสอนเยอะแยะเพราะวัยเตะแตะฟังได้สั้น ๆ ค่ะ 

 

 

โดยสรุป "การจับมือลูกไม่ให้ตีคน" นั้นสำคัญมาก พ่อแม่จะต้องจับมือลูกให้ทันเพื่อเปลี่ยนทิศทางการทำงานของสมองทันที ส่วนการเชื่อมโยงในช่วงที่ลูกสงบแล้วก็สำคัญไม่แพ้กันค่ะ คุณพ่อคุณแม่ต้องอย่าลืมทำต่อด้วยนะคะ ลูกจะรู้สึกปลอดภัยและเข้าใจว่าต้องทำตัวอย่างไรในแบบที่พ่อแม่ยอมรับได้

 

ส่วนกรณีลูกตีเพราะเล่นสนุก เราก็จับมือลูกแล้วรีบเบี่ยงเบนลูกไปเล่นอย่างอื่นแทน อย่าสนุกกลับนะคะ ถ้าเด็กสนุกกับพ่อแม่แบบอื่นได้จริง ๆ เรื่องตีเพราะสนุกจะหายไปเอง และอย่าโฟกัสการจับมือลูก+สอนไม่ตี บ่อยเกินไป เดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องสนุกของลูกอีกแบบ แล้วจะตามมาด้วยปัญหาอื่น ๆ แทน

 

สุดท้ายอย่าลืมหาสาเหตุที่เป็นต้นเรื่องให้ลูกโกรธ และแก้ไขด้วยนะคะ เช่น ถ้าเราห้ามบ่อยไปก็ต้องลดการห้าม ถ้าเราขัดใจลูกบ่อยก็ต้องเล่นกับลูกและสอนลูกทำกิจกรรมหรือช่วยเหลือตนเองบ่อย ๆ เพื่อให้ลูกชินกับการฟังพ่อแม่และเคารพพ่อแม่ด้วย ดังนั้นเรื่องลูกตีพ่อแม่ เราจะต้องแก้ไขทั้งตอนลูกกำลังตี หลังจากตีไปแล้ว และก่อนตี(หาสาเหตุ)นะคะ