383
เด็กถูกห้ามบ่อย ๆ สายใยสมองถูกตัด

เด็กถูกห้ามบ่อย ๆ สายใยสมองถูกตัด

โพสต์เมื่อวันที่ : June 1, 2022

"การเล่น" ทำให้เด็กได้พัฒนาสมอง เด็กจะเรียนรู้ผ่านการสำรวจ ลงมือทำ และสังเกตการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการโยนของลงจากโต๊ะ การเอาของเข้าปาก ฯลฯ จึงเป็นขั้นตอนหนึ่งของการเรียนรู้ปกติค่ะ

 

คำว่า "ปกติ" ในที่นี้ หมายถึง เด็กมักเริ่มต้นทำไม่ถูกต้องก่อน และเมื่อพ่อแม่สอนเด็ก เด็กจะทำถูกต้องในที่สุด ไม่ได้หมายถึงปล่อยให้เด็กทำตามสบาย

ยกตัวอย่าง เด็กเอาของเล่นเข้าปาก เด็กทำเพราะไม่รู้จักว่าคืออะไร มักเริ่มสำรวจแบบนี้ตั้งแต่อายุหลักเดือนไปจนถึงเดินได้ก็ประมาณขวบ จนพ่อแม่สอนสิ่งที่เหมาะสม เด็กก็จะเลิกเอาของเข้าปากเอง พ่อแม่สอนสิ่งที่เหมาะสมคือกุญแจของเรื่องนี้ค่ะ

 

หากสอนถูกวิธี การเอาของเข้าปากจะหายก่อน 2 ขวบ แต่ถ้าสอนผิดวิธี เด็กจะมีปัญหาหลายอย่างตามมา ทั้งอารมณ์ต่อต้าน ขี้กังวล ดูดนิ้ว แกะเล็บ เป็นยาวนานจนโตก็มี สิ่งที่เหมาะสมของพ่อแม่เมื่อพบลูกเอาของเข้าปากคือ “สอนทำให้ถูก” ไม่ใช่ “สั่งให้หยุดทำ” 

 

 

การสอนลูกทำให้ถูก หมายถึง สอนลูกใช้มือให้เป็นงานหลาย ๆ อย่างตามวัย โดยพ่อแม่ต้องจับมือช่วย หากลูกทำไม่ได้ เช่น...

  • จับมือเอาของเล่นใส่ช่องที่ควรเป็น
  • จับมือเก็บของเล่น
  • จับมือบิดช้อนเอาเข้าปาก
  • จับมือใส่ถุงเท้า
  • จับมือปิดประตู
  • จับมือแปะสติกเกอร์

การสอนลูกทำเป็นหลาย ๆ อย่าง จะกระตุ้นเซลสมองลูกให้สร้างเครือข่ายมากมาย ลูกจะพัฒนาการใช้มือทำงานและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ จนไม่สนใจอยากเอาของเล่นเข้าปากอีกเลย และเมื่อสมองพัฒนาขึ้น เด็กก็ฉลาดขึ้น ความมั่นใจก็ตามมา

 

 

การสั่งให้หยุดทำ หมายถึง คำสั่ง ห้าม ! อย่า ! หยุด ! และคำขู่ ! โดยพ่อแม่มีเป้าหมายให้ลูกหยุดพฤติกรรมนั้น การห้ามบ่อย ๆ หรืออย่าตลอดทั้งวัน จะทำลายการสร้างเครือข่ายของใยสมอง ก็เพราะเด็กไม่ได้ลงมือทำสิ่งที่ควรทำ พ่อแม่กลุ่มนี้ก็มักไม่จับมือสอนเด็กทำสิ่งเหมาะสม เด็กไม่ได้ใช้มือแก้ปัญหาและทำงานจนเสร็จ

 

เด็กที่โดนห้ามบ่อย ๆ ก็มักเดินสำรวจไปมาทั้งวัน หรือใช้มือรื้อของมากกว่าทำงานเป็นชิ้นเป็นอันแบบบ้านแรก ใยสมองที่ควรจะสร้างเครือข่ายอย่างเชื่อมโยง ก็จะถูกตัดออกหรือไม่เชื่อมโยงมากพอ นอกจากนี้ใจของเด็กที่ถูกห้ามตลอดเวลา จะเกิดความกังวล ต่อต้าน ไม่พอใจ ไม่มั่นใจ และการเอาเข้าปากก็จะกลายเป็น “นิสัย” ไม่ใช่ลองสำรวจอีกต่อไป

พ่อแม่ไม่จำเป็นต้อง "อย่า" ก่อนแล้ว "สอน" ทีหลัง เราเริ่มที่ "สอน" เลย โดยไม่ต้องมีคำว่าอย่าเริ่มต้น เข้าใจแล้วนะคะว่า สมองยิ่งสร้างเครือข่ายคือยิ่งฉลาด และเครือข่ายจะมากก็เมื่อเด็กมีงานทำเป็นชิ้นเป็นอัน 

 

พ่อแม่ต้องเปลี่ยนกระบวนท่ามา “จับมือสอนให้เป็น” แทน “การห้ามทำ” ไม่ใช่แค่ลูกฉลาด ความมั่นใจก็มา ความภูมิใจก็มีด้วย ลูกจะไม่สนใจเอาของหรือเอานิ้วเข้าปากอีกต่อไปเลย อนาคตพ่อแม่ก็ไม่ต้องมาตามแก้ปัญหาลูกดูดนิ้ว แกะเล็บ ไม่มั่นใจ ขี้กังวล

 

ปล. เก็บคำห้ามมาใช้ตอนจำเป็นจริง ๆ เช่น ห้ามเล่นปลั๊ก แล้วคุณจะพบว่าคำห้ามที่น้านนานมาที ศักดิ์สิทธิมากจริง