754
บทเรียนจาก “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างบ้าน”

บทเรียนจาก “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างบ้าน”

โพสต์เมื่อวันที่ : June 26, 2022

"เด็กที่มีปัญหานั้น ที่แท้เป็นปัญหาของผู้ใหญ่" - คุโรนางิ เท็ตสึโกะ ผู้เขียน โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง 

 

นี่คือ หนึ่งในนักเขียนที่ทำให้ผู้เขียนเป็นคนรักการอ่าน และนี่คือหนังสือเล่มโปรดตลอดกาลของหลายคน หนังสือขนาดเล็ก ๆ ที่สามารถเยียวยาจิตใจของเราได้ยามที่จิตใจห่อเหี่ยว และทำให้เราสามารถเข้าใจจิตใจของเด็กได้อย่างแยบยล ผ่านตัวละครหลักอย่างโต๊ะโตะจัง ครูโคบายาชิ ในสถานที่ที่มีชื่อว่า “โรงเรียนโทโมเอ” ในห้องเรียนรถไฟ 

"โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง" 

"โต๊ะโตะจัง" เป็นเด็กผู้หญิงที่มองโลกง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน มองโลกแบบเด็ก ๆ ที่มองโลกในแง่ดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เธอคือเด็กผู้หญิงตัวจิ๋วโดนไล่ออกจากโรงเรียนเพราะป่วนห้องเรียนจนคนอื่นเรียนไม่ได้ โต๊ะโตะชอบเปิด-ปิดฝาโต๊ะเรียนอย่างมาก เพียงเพราะที่บ้านของเธอไม่มีโต๊ะแบบนี้ และมันก็สามารถเก็บของได้อีกด้วย

 

โดยคุณครูบอกแม่ของโต๊ะโตะว่า ..."เวลาเรียน แกจะเปิดปิดฝาโต๊ะสักร้อยครั้ง พอดิฉันบอกว่า ถ้าไม่มีธุระอะไรอย่าเปิดหรือปิดฝาโต๊ะ ลูกสาวของคุณก็จะเอาของทุกอย่าง ตั้งแต่สมุดจดงาน กล่องดินสอ และหนังสือเรียน เก็บในโต๊ะแล้วเปิดฝาโต๊ะ หยิบออกมาทีละอย่าง สมมุติว่าจะเขียนตามคำบอกนะคะ ลูกของคุณก็จะเปิดโต๊ะหยิบสมุดออกมา แล้วรีบปิดโต๊ะโครม แล้วเปิดโต๊ะมุดหัวลงไปหยิบดินสอขึ้นมา ปิดโต๊ะโครม"...

 

เด็กผู้หญิงคนหนึ่งก็แค่ชอบการเปิด-ปิดโต๊ะเท่านั้นเอง หากถามว่าเด็กผู้หญิงคนนี้กระทำผิดหรือไม่ที่เธอมองโลกในแบบของเธอ และเรียนรู้สิ่งของที่อยู่รอบตัวอย่างตั้งอกตั้งใจโดยไม่ได้มีความต้องการที่จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียด้วยซ้ำ ผิดหรือไม่คงขึ้นกับว่า "เราใช้ไม้บรรทัดอันไหนในการตัดสินถูกผิดดีชั่ว" และแน่นอนว่าที่โรงเรียนแห่งแรกนั้นใช้ ‘กฎของโรงเรียน’ เป็นมาตรฐานการตัดสินว่า โต๊ะโตะจังขาดคุณสมบัติในการเรียนร่วมกับเด็กนักเรียนคนอื่น 

 

ในขณะที่โรงเรียนโทโมเอที่มีคุณครูโคบายาชินั้นใช้วิธีการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คุณครูโคบายาชิ นั่งฟังในสิ่งที่โต๊ะโตะจังพูดอย่างตั้งใจ และยาวนานถึง 4 ชั่วโมง ! ฟังและเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่โต๊ะโตะจังชอบและสนใจ และแน่นอนให้เด็ก ๆ ได้เล่นและเรียนรู้อย่างเต็มที่ให้สมกับวัยที่ต้องเล่นเพื่อเรียนรู้ คุณครูจะบอกเด็กเสมอว่าให้ใส่เสื้อตัวเก่ามาเรียน จะได้เล่นอย่างเต็มที่โดยที่จะไม่โดนคุณแม่ดุ

 

นักเรียนของโรงเรียนโทโมเอสามารถเลือกเรียนวิชาได้ตามใจชอบ นักเรียนทุกคนมีอิสระในการเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจจะเรียนรู้ในขณะนั้น อยากเขียนเรียงความ ทดลองวิทยาศาสตร์ หรืออะไรก็ทำได้เลยโดยมีคุณครูเป็นที่ปรึกษาให้หากมีข้อสงสัย เด็ก ๆ ได้ผลัดกันเล่าเรื่องราวและแสดงความคิดเห็นต่อกันอย่างอิสระทุกเที่ยงในช่วงเวลารับประทานอาหาร หรือเลือกจะไม่พูดก็ได้เช่นกัน ถือเป็นการฝึกการกล้าแสดงออก ฝึกทักษะการฟัง การเคารพผู้อื่นได้อย่างแยบยล  

ทั้งยังมี ‘ชั่วโมงเดินเล่น’ ที่พานักเรียนทุกคนออกไปสำรวจและเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัวโดยสุดท้ายแล้วกลับพบว่าทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวนั้นเองแฝงสิ่งที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้มากมายทั้งประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการใช้ชีวิต รวมถึง “ดนตรี” ที่เป็นสื่อการเรียนรู้ที่โรงเรียนโทโมเอให้ความสำคัญมากโดยคุณครูโคบายาชิใช้คำว่า “การเรียนประกอบจังหวะ” ซึ่งนอกจากจะได้ความสนุกสนานแล้วยังกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้เคลื่อนไหวร่างกาย และฝึกความสัมพันธ์ของร่างกายในส่วนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี 

 

นักเรียนที่โรงเรียนโทโมเอสามารถเลือกเรียนวิชาไหนก่อนก็ได้ตามใจชอบ หากนักเรียนคนไหนชอบเขียนเรียงความก็นั่งเขียนเรียงความ หรือหากนักเรียนคนไหนชอบวิทยาศาสตร์ก็เอาตะเกียงขึ้นมาจุดทดลองได้ การเรียนที่นี่จะเป็นการเรียนแบบฝึกฝนเอง หากไม่เข้าใจตรงไหนก็สามารถเดินไปถามครูหรือให้ครูมาอธิบายที่โต๊ะได้จนกว่าจะเข้าใจ การเลือกเรียนวิชาที่ชอบก่อนหลังทำให้คุณครูรู้ว่าเด็กคนไหนสนใจอะไรเป็นพิเศษ เพราะโรงเรียนโทโมเอมุ่งเน้นการพัฒนาเอกลักษณ์เฉพาะของนักเรียนทุกคน

ส่งเสริมในสิ่งที่เด็กน้อยเป็น เราจะได้เด็กที่น่ารักสดใส สมวัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบบโต๊ะโตะจัง 

 

หากใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะรู้ว่า เด็กนักเรียนแต่ละคนล้วนแตกต่างกัน ไม่มีใครที่เหมือนใครเลย และที่สำคัญ ทุกคนรักการมาโรงเรียนและรักการเรียนอย่างมาก 

 

หากไม่มีใครรับฟัง หรือปะหน้า (ตีตรา) เขาว่าเป็น "เด็กดื้อ" "ตัวป่วน" หรือ "เด็กประหลาด" ท้ายที่สุดเด็กหญิงโต๊ะโตะอาจเติบโตมาอย่างมีปัญหาจนอาจกลายเป็น ‘วัยรุ่นที่มีปัญหา’ และ ‘ผู้ใหญ่ที่มีปัญหา’ ก็ได้ ดังนั้นพ่อแม่อย่างเราก็ควรรับมือกับลูก ๆ ของเราที่มีลักษณะเฉพาะตัวของเขาอย่างเหมาะสม รัก รับฟัง และให้เขาได้เล่นเพื่อเรียนรู้อย่างเต็มที่อย่างที่คุณครูโคบายาชิให้โอกาสเด็กแต่ละคนเติบโตในแบบของตนเองนั่นเอง 

 

อย่าตัดสินใคร....... เพียงรู้จักเขาเพียงผิวเผิน

อย่าตัดสินใคร....... เพียงแค่เขาทำผิดสักครั้งสองครั้ง

อย่าตัดสินใคร....... เพียงแต่เขาเห็นไม่เหมือนเรา (ยกเว้นก่อให้เกิดอันตราย)

จงรับฟังเขาแบบเปิดใจ แล้วเราจะรู้จักเขามากขึ้น เราจะพูดเหมือน "คุณครูโคบายาชิ" ที่พูดกับโต๊ะโตะว่า "ความจริงหนูเป็นเด็กดี รู้ไหม?"