777
สอนลูกให้‘ขอโทษ’เป็น‘ขอบคุณ’ได้

สอนลูกให้‘ขอโทษ’เป็น‘ขอบคุณ’ได้

โพสต์เมื่อวันที่ : May 16, 2022

ภาพจำหนึ่งที่ค่อนข้างเด่นในสังคมญี่ปุ่นคือ ผู้คนส่วนใหญ่มักจะพูดคำว่า “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ” จนติดปาก พร้อมกับกิริยาก้มหัวโค้งตัวบ่อยครั้งจนติดตา 

 

เนื่องจากคนญี่ปุ่นมักจะสอนลูกหลานให้รู้จักพูดทั้งสองคำนี้กันตั้งแต่เล็ก ๆ เวลามีใครให้อะไรแก่เด็กแล้วต้องกล่าวคำว่าขอบคุณ ถ้าเด็กไม่กล่าว แม่ที่ยืนอยู่ข้าง ๆ จะสอนให้ลูกพูดขอบคุณทุกครั้ง หรือเวลาเด็กทำอะไรผิดพลาด ก็จะให้เด็กกล่าวคำว่าขอโทษเสมอ

 

 

ความสำคัญของคำว่า “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ” เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม พ่อแม่ต้องเป็นคนที่ใช้คำพูดเหล่านี้ด้วยเช่นกัน กล่าว “ขอบคุณ” เมื่อได้รับสิ่งของหรือได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่นก็กล่าวขอบคุณด้วยความจริงใจ และกล่าวคำว่า “ขอโทษ” เพราะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่ดีหรือผิดพลาด และไม่กระทำสิ่งนั้น ๆ ให้ลูกเห็นอีก เพื่อเป็นการยืนยันให้ลูกเข้าใจว่า สิ่งนั้นไม่ดีไม่ควรทำ ซึ่งต้องไม่ใช่การขอโทษแบบขอไปที 

 

เชื่อเถอะค่ะว่าเด็กสามารถเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้จากสิ่งที่เขาได้เห็น ได้ยิน และได้ฟัง 

 

สำหรับเด็กเล็กอาจยังไม่สามารถเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งถึงความหมายและคุณค่าของคำว่า “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ” แต่เมื่อเขาเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว สิ่งเหล่านี้จะติดตัวเขาไปจนโต และหล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่สุภาพติดตัวไปด้วย

คำว่า “ขอโทษ” และ “ขอบคุณ” สอนอะไรเด็ก ?

 

☺︎ สอนให้เด็กใส่ใจความรู้สึกคนอื่น ☺︎

การใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่นต้องเริ่มจากพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเด็กจะเรียนรู้และเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบไหน เด็กก็จะเป็นคนแบบนั้น การยอมรับความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ดี มนุษย์ทุกคนย่อมทำผิดพลาดกันได้เสมอ สำคัญที่ทำผิดแล้วรู้สึกผิดจากใจและขอโทษผู้อื่น โดยเฉพาะเวลาที่พ่อแม่ทำผิดต่อลูก อย่าอายที่จะขอโทษลูก เมื่อคนในครอบครัวขอโทษกันเป็นประจำ หากพูดหรือทำในสิ่งที่ไม่ดี ลูกก็จะเรียนรู้ได้เร็วขึ้น

 

พ่อแม่อาจจะใช้วิธีหมั่นสอบถามความรู้สึกของลูกด้วยว่า ลูกรู้สึกอย่างไรเมื่อทำบางสิ่งผิดพลาด หรือรู้สึกอย่างไรเมื่อมีผู้อื่นทำสิ่งดี ๆ ให้กับเขา เพื่อที่จะให้เขารู้จักสะท้อนความรู้สึกของตัวเอง และกระตุ้นให้เขามีวิธีแสดงออกที่เหมาะสม เช่น เมื่อลูกทำผิดพลาดควรทำอย่างไร หรือเมื่อคนอื่นทำอะไรให้ เขาควรจะทำอย่างไร 

 

☺︎ สอนให้เด็กมี Empathy ☺︎

พ่อแม่ควรแสดงความรักลูกที่เหมาะสม เพราะจะทำให้เขารักตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง และเมื่อเขารักตัวเองเป็น สิ่งที่ตามมาจะทำให้ลูกรู้จัก "การให้" และส่งต่อความรักให้คนอื่นเป็น เขาจะคิดถึงคนรอบข้าง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำให้เด็กมี Empathy เพราะการคิดถึงคนอื่นจะทำให้เกิดการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เมื่อลูกเห็นพ่อแม่แสดง Empathy เด็ก ๆ จะซึมซับสิ่งเหล่านั้นของพ่อแม่ และเรียนรู้ที่จะทำตาม 

 

ยกตัวอย่าง ก่อนจะกล่าวคำว่าขอโทษ ลูกควรรู้สึกถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเสียก่อน ด้วยการสะท้อนความรู้สึกหรือผลของการกระทำให้ลูกเห็น เช่น ถ้าลูกไปทำสิ่งใดที่ทำให้เพื่อนเสียใจ ก็ควรกระตุ้นให้ลูกได้เอาใจเขามาใส่ใจเราและเรียนรู้ว่า การพูดหรือกระทำบางอย่าง ส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร ทำแล้วผู้อื่นเป็นทุกข์ แล้วลูกก็จะเข้าใจถึงความหมายของการขอโทษ พร้อมกับแสดงออกถึงการขอโทษที่เกิดจากใจ

 

☺︎ สอนให้เด็กยอมรับความผิดพลาดและพร้อมแก้ไข ☺︎

ถ้าลูกทำผิดพลาด ผลสะท้อนกลับของคนเป็นพ่อแม่มีความสำคัญมาก เพราะหากพ่อแม่ดุด่าว่ากล่าวลูกมากจนเกินไป จะทำให้ครั้งต่อไปลูกจะไม่กล้าพูดความจริง กลัวความผิด การที่ลูกไม่ขอโทษอาจเป็นเพราะว่ากลัวการยอมรับผิดก็เป็นได้ สิ่งที่ควรสอนควบคู่กันไปคือ การสอนให้เด็กกล้าทำกล้ารับผิดชอบในสิ่งที่พูดหรือกระทำลงไป ถึงจะผิดพลาดก็ตาม แล้วขอโทษด้วยความรู้สึกเสียใจ เมื่อลูกกล่าวคำขอโทษแล้ว พ่อแม่ควรชมเชยลูกที่กล้ายอมรับความผิด พร้อมกับแนะนำวิธีแก้ไขจากความผิดพลาดนั้น ๆ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะเผชิญปัญหาและพร้อมหาทางปรับปรุงแก้ไข 

 

☺︎ สอนให้เด็กรู้สึกดีและอยากแบ่งปันคนอื่น ☺︎

 

เช่นเดียวกับการสอนให้ลูกเมื่อทำผิดพลาดแล้วรู้จักขอโทษ ก็คือเมื่อมีใครทำสิ่งใดให้ลูก แม้เพียงเล็กน้อยก็ควรกล่าวคำว่าขอบคุณด้วยทุกครั้ง และสะท้อนให้ลูกรับความรู้สึกดี ๆ ที่มีคนทำอะไรให้แล้วรู้สึกอย่างไร เพื่อที่จะให้เขาเรียนรู้การขอบคุณจากใจ และผลของความรู้สึกดี ๆ ก็จะส่งผลให้เด็กอยากจะทำสิ่งดี ๆ ให้คนอื่นต่อไปด้วยเช่นกัน 

 

นอกเหนือจากสอนให้ลูกพูด 2 คำนี้ให้ติดแล้ว ยังต้องสอนให้เขาพูดออกมาด้วย “ใจ” จริง ๆ ไม่ใช่พูดออกมาเพียงเพื่อ “มารยาท” เท่านั้น ถ้าทำได้เช่นนี้ก็จะเป็นรากฐานที่ดียิ่งให้แก่ลูก