507
“เทคนิคเพิกเฉย” ทำอย่างไรลูกไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง

“เทคนิคเพิกเฉย” ทำอย่างไรลูกไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง

โพสต์เมื่อวันที่ : December 27, 2021

เป้าหมายในการทำเทคนิคเพิกเฉย ก็เพื่อสร้างพื้นที่ให้ลูกที่ร้องไห้โวยวาย คุยไม่รู้เรื่อง ได้มีโอกาสสงบลงด้วยตนเอง พ่อแม่จึงต้องนิ่งเฉยไม่ให้ความสนใจลูกในช่วงนั้น 

 

✚ การนิ่งเฉย ไม่ใช่การทอดทิ้งลูก ✚

ลูกจะรับรู้ได้จากน้ำเสียงและสีหน้าของพ่อแม่ในประโยคสุดท้ายก่อนเงียบและตอนรอ พ่อแม่ควรจัดการอารมณ์ตนเองให้สงบ ไม่พูดประชดหรือเดินหนีแบบโกรธ

 

 

พ่อแม่อาจฉวยเวลาช่วงที่รอลูกเงียบมาจัดการอารมณ์ตนเอง เราสามารถเบี่ยงเบนตนเองไปทำงานอื่น เช่น เดินไปล้างจาน, เช็ดโต๊ะ, พับผ้า โดยบอกว่า ...“แม่ทำงานระหว่างรอลูกเงียบนะ”... เมื่อพ่อแม่มีจุดโฟกัสอื่น เราจะสงบง่ายขึ้น พยายามอย่าไปทำงานไกลสายตาลูก หากจำเป็นก็อุ้มลูกไปรอบริเวณนั้นด้วย 

ขั้นตอนเทคนิคเพิกเฉย

 

☺︎ สงบสติอารมณ์ (Be calm) ☺︎

เริ่มจากตัวเราเอง ต้องพยายามคุมอารมณ์ให้ได้ (เทคนิคนี้ห้ามทำตอนเรามีอารมณ์ เพราะน้ำเสียงและท่าทีจะกลายเป็นทอดทิ้งลูก)

 

☺︎ สบตาลูก (Eye contact) ☺︎

เราต้องพยายามมองหน้าและสบตาลูกให้ได้ พูดด้วยเสียงนิ่ง สีหน้าเรียบจริงจัง ...“แม่จะรอหนูเงียบ เราถึงจะคุยกัน”...

 

 

☺︎ เพิกเฉยลูก (Disconnect) ☺︎

ให้เราเพิกเฉยลูก ทั้งคำพูด ท่าที สายตา ไม่พูดซ้ำ ๆ ว่าลูกต้องเงียบ เงียบได้แล้วแม่ถึงจะคุย เพราะจะเป็นการให้ความสนใจ ทำให้การร้องของลูกนานขึ้น รวมทั้งไม่เช็ดน้ำตาหรืออุ้ม เพราะภาษากายทำให้ลูกสงบแบบพึ่งพิงพ่อแม่ ไม่ได้ฝึกจัดการด้วยตนเอง 

 

ถ้าลูกพยายามเข้ามาให้กอดหรือให้อุ้ม เราควรลุกขึ้นยืนและหันไปทำอย่างอื่น เช่น ไปเช็ดโต๊ะ, พับผ้า (อย่าเดินไปเลย บอกลูกก่อนว่าเราทำงานรอ)  

 

กรณีที่ลูกทำร้ายร่างกายตัวเองหรือทำร้ายคนอื่น เช่น เดินมาตีเรา, ตีพี่เลี้ยง หรือตีตัวเอง รวมทั้งทำลายข้าวของ เช่น ปาของเล่น อนุญาตให้หยุดเพิกเฉยชั่วคราว ให้เราหันกลับไปจับมือลูกแน่น ๆ ประมาณ 5-10 วินาที สบตาลูกพร้อมพูดด้วยเสียงเรียบสงบว่า ...“ไม่ตีแม่/ไม่โยนของ”...

 

 

จากนั้นปล่อยมือลูก ขยับของใกล้มือลูกไปไกล ๆ เพื่อไม่ให้ปาได้ และให้พี่เลี้ยงเดินออกห่าง อย่าอยู่เฉยเป็นเป้านิ่ง เฝ้าดูอีกสักครู่ หากลูกลุกขึ้นมาตีหรือโยนของอีก ให้ทำซ้ำแบบเดิมจนกว่าลูกจะหยุด ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2-3 ครั้ง ลูกก็หยุดทำ เหลือแต่ร้องไห้แทน เราก็กลับมาเพิกเฉยต่อ

 

หากลูกพยายามทำร้ายเรามากกว่า 2-3 ครั้ง ดูไม่มีท่าทีหยุด ให้เราเปลี่ยนมากอดแบบรวบมือลูกแทน บอกลูกว่า …”แม่จะช่วยลูกสงบ”... จากนั้นกอดไว้จนกว่าลูกสงบ   

 

☺︎ กลับมาเชื่อมโยงกับลูก (Reconnect) ☺︎

เมื่อลูกเงียบหรือพอจะคุยได้ ให้เรากลับมาเชื่อมโยง จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าหาลูกเพื่อตอกย้ำว่า ลูกจะได้รับความสนใจก็เมื่อมีลูกสงบ และจะถูกเพิกเฉยเมื่อลูกร้องไห้โวยวาย

ขั้นตอน Reconnect กับลูก

● ชม : ชมลูกแบบบรรยายพฤติกรรม เช่น ...“หนูเงียบเองได้แล้ว หนูเก่งมากลูก”... หรือ ...“แม่เห็นลูกพยายามเงียบเองแล้วล่ะ ภูมิใจมาก”...
● คุย : ถามลูกว่า ...“เมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น”... เราถามเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กทบทวนเรื่องราวด้วยตนเอง ดีกว่ารอคำสอนจากพ่อแม่อย่างเดียว เมื่อลูกเข้าใจเหตุการณ์แล้ว ถามความเห็นลูกในการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำ เช่น ...“แม่รู้ว่าหนูไม่ชอบให้แม่ทำแบบนี้ แม่เองก็ไม่อยากทำ เรามาช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหายังไง ครั้งหน้าจะได้ไม่ต้องเป็นอีก”... ถ้าลูกนึกไม่ออก พ่อแม่ค่อย ๆ ช่วยลูกคิด จนกว่าจะแก้ปัญหานั้นได้ 
● ตบบวก : หากิจกรรมที่ลูกชอบมาเล่นกัน ถือเป็นการปลอบใจ เช่น เล่านิทานให้ฟัง เล่นบทบาทสมมติกัน ไม่แนะนำให้ตบท้ายด้วยขนม หรือของเล่นใหม่ เพราะเด็กอาจเชื่อมโยงการหยุดร้องไห้กับการได้สิ่งของตอบแทน

 

 

โดยทั่วไปเมื่อเริ่มทำเทคนิคการเพิกเฉยในครั้งแรก การร้องไห้จะรุนแรงและยาวนานกว่าปกติที่ลูกเคยงอแง อย่าเข้าใจผิดว่าเราทำอะไรไม่ถูกต้อง ที่เป็นเช่นนี้เพราะเด็กรู้สึกได้ว่าพ่อแม่ไม่ง่ายแบบเดิม จึงแสดงอาการมากขึ้นเพื่อเรียกร้องให้เรากลับไปตอบสนองแบบเดิม คุณพ่อคุณแม่ต้องอดทนไว้ก่อน อย่าใจอ่อนง่าย ๆ เพราะครั้งต่อ ๆ ไปอาการจะเบาลงไปเรื่อย ๆ

 

หมอพบว่า “ครอบครัวที่ทำไม่สำเร็จ” มักเกิดจากสาเหตุดังนี้

- พ่อแม่มีอารมณ์หงุดหงิด โกรธ ทอดทิ้ง งอน ขณะที่ทำการเพิกเฉย

- พ่อแม่ไม่เพิกเฉยจริง ยังพูดกับลูกอยู่ พยายามพูดให้ลูกเงียบ

- ไม่กลับมาเชื่อมโยงกับลูก (Reconnect)

 

สุดท้ายสำคัญมาก ครอบครัวไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์ที่ชื่นมื่นต่อกันหรือพูดง่าย ๆ ว่า มีเวลาคุณภาพน้อย ลูกจะร้องไห้มากและนาน และไม่มีวันทำสำเร็จด้วยค่ะ อย่าลืมนะคะ ทุกเทคนิคจะสำเร็จ พ่อแม่ต้องมีฐานของปฏิสัมพันธ์เชิงบวกที่มากพอ

 

:: หมายเหตุ :: เด็กอายุน้อยกว่า 18 เดือน ไม่แนะนำให้ทำเพิกเฉย อ่านตอน “รับมือลูกกรี๊ด ในวัยสื่อสารไม่ได้”