
เมื่อเทคโนโลยีคือ "ดาบสองคม" ผู้ปกครองต้องเข้าใจและพร้อมรับมือ
พ่อแม่ยุคใหม่ต้องปรับวิธีคิด เข้าใจพฤติกรรม พร้อมดูแลอย่างสมดุล
คำถาม ...“เราควรเริ่มอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่เมื่อไหร่ ?”...
คำตอบ ...“เริ่มได้เลยตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้องของคุณแม่ก็ได้ เพราะแม้ว่าลูกจะยังไม่รับรู้หรือยังไม่เข้าใจ แต่การอ่านนิทานช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกให้เกิดขึ้นแล้ว”...
คำถาม ...”แล้วถ้าลูก 1 ปีแล้วยังทันไหมคะที่จะเริ่ม ?”...
คำตอบ ...“ไม่มีคำว่าสาย หากเราทันที เริ่มเดี๋ยวนี้”...
เราอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง วัตถุประสงค์ไม่ใช่ต้องการให้ลูกเข้าใจ แต่เพื่อให้ลูกได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของ “พ่อแม่” ของเขา เพื่อให้เขารู้สึกมั่นคง ปลอดภัย และอุ่นใจ ผ่านการได้ยินเสียงพ่อแม่อ่านนิทานให้เขาฟัง สำหรับพ่อแม่ ช่วงเวลาที่เราอ่านหนังสือนิทานให้กับลูกทำให้เกิดความผูกพันกับลูกของเรา และทำให้เราตระหนักถึงบทบาทใหม่ที่เพิ่งเข้ามา คือ “การเป็นพ่อแม่” นั่นเอง
เด็กๆ จะมองเห็นภาพ “สีขาว” “สีดำ” และ “สีแดง” ที่เป็นรูปแบบตัดกันได้ดี เช่น ลายตารางหมากรุก ดวงตาของแม่ (ตาขาวสีตัดกับตาดำ) และภาพที่มีเส้นกรอบตัดกับสีด้านในกรอบอย่างชัดเจน เป็นต้น ดังนั้น หนังสือนิทานที่มีสีขาวดำ หรือ สีไม่มาก แต่เป็นสีที่ตัดกันอย่างชัดเจน จะทำให้เด็กสนใจได้ดีกว่าหนังสือที่มีสีมากมาย
นอกจากนี้ เนื้อหาไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่การเล่นเสียงสูงต่ำของผู้อ่านสำคัญกว่ามาก เด็กน้อยยังนอนฟัง ดังนั้น เน้นการฟัง และมีปฏิสัมพันธ์กับลูก โดยการจับมือเขา มองตาเขา เขาชอบมองตาเรามาก
เด็ก ๆ จะเริ่มมองเห็นภาพและสีต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น กล้ามเนื้อมัดใหญ่เริ่มทำงาน ฟันเริ่มขึ้น วัยนี้พวกเขามองหนังสือเป็นทั้งที่ลับฟัน อม และดูดดูว่ารสชาติกระดาษเป็นอย่างไร และทดสอบพละกำลังในการฉีก และขว้าง ดังนั้นหนังสือนิทานสำหรับเด็กวัยนี้อาจจะไม่ต้องมีความเนี๊ยบ และเนื้อหาน่าอ่าน สิ่งสำคัญสำหรับเขา คือ ต้องแข็งแรง คงทน และไม่เป็นอันตรายเมื่อเด็กขว้าง ชิม และกิน เช่น หนังสือแบบ Board book (เป็นแบบหนาและแข็งพิเศษ) ขนาดไม่ใหญ่มาก หนังสือผ้า หนังสือที่มีเสียง เป็นต้น
ถ้าลูกเรากัดหรือฉีก เราจะนำสิ่งอื่นที่เหมาะสมแก่การกัดหรือฉีกมาแทน เช่น ของสำหรับกัด ผ้า หรือ กระดาษมาให้ฉีก ทั้งนี้เราจะสอนเด็กว่า “เราไม่กัดหนังสือ” “เราไม่ฉีกหนังสือ” แต่ “เราอ่านหนังสือ” ก่อนเด็กจะกัดหรือฉีกอีก เราควรสังเกต และป้องกันไม่ให้เกิด โดยนำหนังสือออกจากมือทันที ก่อนที่เขาจะทำลายหนังสือ และให้อย่างอื่นที่เหมาะสมกับการฉีกหรือกัดแทน เพื่อให้เขาเรียนรู้ว่า “หนังสือกัดและฉีกไม่ได้”
เวลาอ่านหนังสือนิทานกับเด็กวัยนี้ เราจะเน้นความสนุกผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับภาพในหนังสือ หนังสือที่มีผิวสัมผัส ให้เด็กได้ลองลูบ จับ ดึง กดแล้วมีเสียง เหมาะมากกับเด็กวัยนี้ สุดท้าย อย่าลืมว่า สมาธิของเขายังมีไม่มากนัก การที่เขาสามารถอยู่นิ่งกับเราในระยะเวลาสั้นๆ ดูภาพในหนังสือที่เราอ่าน ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว
เด็ก ๆ จะเริ่มสนใจสีสันสดใส (เรียกได้ว่าค่อนไปทางฉูดฉาด) อาจจะไม่ต้องสีสันจัดเต็มทั้งหน้า แต่อย่างน้อยตัวเอกของพวกเขาต้องเด่นเหนือฉากหลัง หนังสือที่สัดส่วนภาพมากกว่าตัวอักษรเหมาะสมมาก
สำหรับเด็กวัยนี้ ยิ่งเป็นหนังสือที่อ่านเป็นกลอน เป็นเพลง มีจังหวะจะโคน พวกเขาจะชอบมาก เพราะเด็กที่เพิ่งเริ่มหัดพูด และอยู่ในช่วงพัฒนาทางภาษา การได้ยินเสียงพ่อแม่ที่อ่านนิทานเป็นกลอน เป็นเพลง จะทำให้พวกเขาฟังเพลิน และจดจำคำใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น ลองสังเกตเด็ก ๆ ที่บ้านได้ เวลาเขาได้ยินเพลงที่มีท่อนฮุคซ้ำ ๆ และทำนองที่ติดหู พวกเขาจะฮัมเพลงนั้นทั้งวัน ยกตัวอย่างเช่น “เพลง Baby shark” “คำกลอน จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอเเกง” “เพลง เป็นอาบน้ำในคลอง” “เพลงเต่ามีสี่ขา” เป็นต้น
ส่วนเนื้อเรื่องนิทาน เราเน้นเหตุการณ์ที่ไม่ซับซ้อน แค่ใครทำอะไร ที่ไหน กับใคร ก็เพียงพอ วัยนี้เราเน้นเพิ่มคลังคำศัพท์ใหม่ เช่น...
⌦ คำนาม - ผ่านการใช้เด็กชี้เมื่อเราพูดถึงคำนามนั้น เช่น รถอยู่ไหน นกอยู่ไหน
⌦ คำกริยา - ให้เด็กทำท่าขับรถ กินข้าว แปรงฟัน อาบน้ำ ว่ายน้ำ เป็นต้น
⌦ คำคุณศัพท์ เช่น ใหญ่ เล็ก ร้อน เย็น นุ่ม แข็ง สูง ต่ำ เป็นต้น
และเราเน้นให้เด็กสนุกกับการฟังนิทานก็เพียงพอแล้ว
เด็ก ๆ จะเริ่มเข้าสู่โรงเรียน ได้เจอเพื่อน ๆ การอ่านหนังสือนิทานในช่วงวัยนี้นอกจากเพื่อสร้างความสัมพันธ์และสร้างความรักในการอ่าน เราจะเน้น 3 เรื่องหลัก
⌦ 1. การฟังและจำเรื่องราวได้
ฟังแล้ว เด็ก ๆ จำได้บ้างไหมว่าเกิดอะไรขึ้น มีตัวเอกเป็นใคร เพราะอย่างน้อยพวกเขาควรเรียนรู้การจับใจความสำคัญของเรื่องได้บ้าง เพื่อให้เขานำไปทักษะนี้ไปใช้เวลาเขาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
⌦ 2. การอดทนรอคอยและคงความสนใจได้จนจบ
สมาธิของพวกเขาควรมีมากพอที่จะฟังนิทานสั้น ๆ ได้จนจบเล่ม และถึงแม้เขาจะไม่ชอบเนื้อหาในหนังสือเล่นนั้น พวกเขาควรรอจนจบ ก่อนจะลุกขึ้นไปทำอย่างอื่น หรือ หยิบเล่มใหม่มาให้เราอ่าน เพราะเด็กวัยนี้ “การอดทนรอคอย” เป็นเรื่องสำคัญมากในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ถ้าเขาไม่ชอบอะไร และล้มเลิกเสียตั้งแต่ตอนนั้น ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่า ตอนจบจะเป็นอย่างไร พวกเขาอาจจะไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เลย
⌦ 3. การตอบคำถามและตั้งคำถาม
ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้ฟังอีกต่อไป เราสามารถถามคำถามเด็ก ๆ ได้ เพื่อกระตุ้นให้เขาคิดต่อยอด คำถามอาจจะเริ่มจากง่ายที่สุด คือ “หนูชอบอะไรในเรื่องนี้” ไปจนถึง “ถ้าเป็นหนูจะทำอย่างไรดี” เน้นเป็นคำถามปลายเปิด จะช่วยให้เด็ก ๆ คิด และสื่อสารมากกว่าคำถามปลายปิด
เด็ก ๆ กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากการเป็น “ผู้ฟัง” สู่การเป็น “ผู้อ่าน” เต็มตัว การอ่านหนังสือกับวัยนี้ เราจะเน้น “การสร้างทัศนคติในเชิงบวกเกี่ยวกับการอ่าน” เพราะ “การอ่านออกไม่สำคัญเท่ากับเด็กรักการอ่าน”
ณ จุดนี้ ผู้ใหญ่ต้องท่องประโยคสำคัญเอาไว้ให้ขึ้นใจ “ลูกอ่านออกช้า ไม่ได้แปลว่า ลูกอ่านไม่ได้”เด็กแต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากัน ซึ่งเด็กบางคนอาจจะอ่านออกก่อนหน้านี้หรือบางคนอาจจะช้ากว่าวัยนี้ สิ่งสำคัญคือให้เวลาเขาอ่าน และอย่าทำให้เขากลัวการอ่าน เพราะเด็กบางคนพออ่านออก ก็ไม่อ่านอีกเลยไปตลอดชีวิต ส่วนเด็กที่รักการอ่าน แม้จะอ่านได้ช้า แต่เขาจะรักหนังสือ และอ่านไปทั้งชีวิต
หนังสือที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ คือ หนังสือที่ตัวอักษรใหญ่พอสมควร ใช้มาตราตัวสะกดอย่างง่าย อย่างเช่น แม่ ก. กา ส่วนเนื้อเรื่อง เด็ก ๆ จะเริ่มชอบตัวละครที่มีวัยใกล้เคียงกับตัวเอง มีเรื่องราวใกล้เคียงกับชีวิตจริงของเขา และมีภาพสีสันสดใสน่าอ่าน เวลาอ่านหนังสือกับเด็กวัยนี้ เราอ่านให้เขาฟังรอบแรก รอบถัดมาเราอาจจะให้เขาอ่านไปพร้อมกับเรา และสุดท้ายลองให้เขาอ่านให้เราฟัง
เด็ก ๆ เข้าสู่วัยเลือกหนังสืออ่านเองอย่างเต็มตัว พวกเขาอยากอ่านในสิ่งที่เพื่อนของเขาอ่าน ซึ่งโดยมากเด็กวัยนี้อาจจะชอบอ่าน “การ์ตูน” หรือ “วรรณกรรมเยาวชน” ที่มีเนื้อหาตื่นเต้น ผจญภัย มีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้เด็กแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน ให้เราลองสังเกตลูกของเราดู
พ่อแม่มีหน้าที่สนับสนุนเขาในเรื่องของทุนทรัพย์ พาเขาไปร้านหนังสือหรืองานหนังสือ และเป็นเพื่อนคู่อ่านกับเด็ก ระหว่างที่เขาอ่านหนังสือของเขา เราก็อ่านหนังสือของเราไปด้วย ทำให้เด็กรู้ว่า พ่อแม่เป็นเพื่อนของเขา บางครั้งเขาอยากอ่านหนังสือที่ไม่เหมาะสมกับวัยของเขา เราอาจจะบอกเขาว่า ไว้รอถึงวัยของหนูก่อนค่อยอ่านนะ แต่ถ้าเขายังยืนกรานที่จะอ่านหนังสือเล่มนั้น พ่อแม่อาจจะให้ทางเลือกสองทาง คือ อ่านไปพร้อมกัน และขอพ่อแม่อ่านก่อนเพื่อคัดกรองก่อน (และเป็นการทำความเข้าใจลูกเราด้วยว่า เขาสนใจอะไรอยู่) ถ้าเนื้อหานั้นผ่าน ลูกจะได้อ่าน
วัยนี้เขาคงไม่ต้องพึ่งพาเราให้อ่านหนังสือให้เขาฟังอีกต่อไป แต่เขาต้องการเพื่อนที่คุยเรื่องหนังสือที่เขาอ่านด้วยได้ ดังนั้นถ้าพ่อแม่อ่านหนังสือเล่มที่เขาอ่าน เด็ก ๆ จะรู้สึกว่า พ่อแม่คือเพื่อนคู่คิดของเขาได้ (เขายอมรับเราเป็นพวกเดียวกับเขานั่นเอง)
สุดท้าย พ่อแม่บางท่านถามว่า “แล้วเราจะต้องอ่านหนังสือนิทานกับลูกไปจนถึงเมื่อไหร่ ?” คำตอบ คือ “เมื่อลูกบอกให้เราหยุดอ่านให้เขาฟังได้แล้ว เพราะเขาอ่านหนังสือเองได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคนเลย การอ่านหนังสือนิทาน หรือ หนังสืออื่น ๆ กับลูกไม่ได้มีผลเสียประการใด อ่านไปจนเขาโต ก็ไม่เป็นไร
..."อย่างไรก็ตามพ่อแม่ควรตระหนักอยู่เสมอว่า ลูกไม่ได้เป็นเด็กไปตลอดกาล เขาไม่ได้ต้องการพึ่งพาพ่อแม่ตลอดไปหากลูกยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ที่รอคอยพ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังทุกคืน ขอให้พ่อแม่ทำหน้าที่นี้อย่างเต็มที่เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างลูกกับเราในวันนี้ให้ดีที่สุด”...