
รู้จัก "เต่าไทย” 21 ชนิด ผู้พิทักษ์ระบบนิเวศ
รู้จักเต่าไทย 21 ชนิด สัตว์น่าทึ่งที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติไทย
ปัญหาการนอน เป็นปัญหาที่พบบ่อยสำหรับหลายบ้าน โดยเฉพาะเมื่อลูกถึงวัยที่สามารถนอนยาวได้แล้วอย่างช่วงอายุ 6 เดือนเป็นต้นไปแต่ลูกก็ยังตื่นบ่อยช่วงกลางดึกมาร้องไห้ มากินนม
หลายคนยังไม่รู้จะเริ่มต้นจัดการกับปัญหาการนอนของลูกให้ลูกสามารถนอนยาวได้อย่างไร วันนี้มาทำความเข้าใจพื้นฐานของการฝึกลูกให้นอนยาวกันครับ
Baby Sleep Training เป็นกระบวนการการฝึกให้เด็กสามารถปรับตัวนอนได้ยาวในช่วงกลางคืนโดยแม้ตื่นนอนกลางดึกก็เรียนรู้ที่จะกลับไปนอนหลับต่อได้โดยไม่มีปัญหา และแน่นอนว่าเด็กบางคนก็สามารถนอนยาวได้ด้วยตนเอง ในขณะที่หลายคนก็มีปัญหาการเริ่มนอน หรือตื่นกลางดึกแล้วกลับไปนอนไม่ได้ที่อาจต้องการการดูแลและปรับพฤติกรรมการนอนที่เหมาะสม โดยวิธีที่นิยมในปัจจุบันมีด้วยกัน 3 วิธี ได้แก่
✚ 1. วิธี Cry it out ✚
คือวิธีที่นิยมในต่างประเทศ เป็นวิธีที่ให้โอกาสเด็กได้กล่อมตัวเองให้หลับได้โดยมีความเชื่อว่า เด็กสามารถกล่อมตัวเองให้นอนหลับได้ในที่สุด หากลูกร้องไห้ก็ต้องยอมให้ลูกร้องไห้จนหลับไปได้โดยที่พ่อแม่จะต้องไม่เข้าไปในห้องอีกสักระยะหนึ่งและค่อย ๆ ยืดเวลาที่กลับเข้าไปในห้องออกไปเรื่อย ๆ (จะมากล่าวเกี่ยวกับรายละเอียดของวิธี cry it out อีกครั้งหนึ่งในบทความต่อไป)
✚ 2. วิธี No tear ✚
คือวิธีที่คนไทยส่วนใหญ่นิยม เป็นวิธีที่พยายามโอบกอดให้ความปลอดภัยและอบอุ่นกับลูกทุกครั้งที่ลูกร้องไห้ โดยเขาเชื่อว่าเวลานอนก็เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่ใช้ในการสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างแม่-ลูก สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน สร้างแม่ที่มีอยู่จริงในยามที่ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่สบายตัวตอนกลางคืน แต่ไม่ใช่อุ้มโอ๋ อุ้มเดิน เข็นรถเข็น หรือเอาไปนั่งกล่อมกันบนคาร์ซีตตอนกลางคืนนะครับ แต่เป็นวิธีที่ปรับได้อย่างเหมาะสมและละมุนละม่อมตามแต่ความเหมาะสมของแต่ละบ้าน การกอดลูก การอุ้มเบา ๆ การเข้าเต้าให้นม เพื่อให้ลูกสามารถกลับไปนอนหลับต่อได้ ถือเป็นหนึ่งในวิธี No tear ที่ใช้ได้
✚ 3. วิธี Controlled crying ✚
หรือ Fading หรือวิธีตรงกลางระหว่างวิธี Cry it out และ No tear โดยพ่อแม่จะค่อย ๆ ลดบทบาทหน้าที่ในการกล่อมนอนลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งลูกสามารถกล่อมตัวเองให้หลับได้ อยู่ใกล้แต่ไม่กล่อม และออกห่างขึ้นเรื่อย ๆ
แน่นอนว่าการเลี้ยงลูกไม่มีผิดไม่มีถูก ดังนั้นเรื่องของการฝึกลูกให้นอนยาวนั้นยังไม่มีข้อสรุปว่าวิธีใดมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีใด โดยมีการศึกษาถึงผลของการฝึกพฤติกรรมการนอนยาวถึงสุขลักษณะการนอนในระยะยาวของเด็กพบว่า ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ฝึกและไม่ฝึกเมื่อประเมินที่เด็กอายุ 6 ปี ย้ำว่า “ไม่แตกต่าง”
คุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวลเรื่องของ Growth Hormone (GH) หรือฮอร์โมนเจริญเติบโตที่จะหลั่งในช่วงร่างกายหลับลึกว่าหากนอนไม่ยาว อาจทำให้ GH หลั่งได้ไม่ดีและส่งผลให้ลูกเตี้ยได้ ตามการศึกษาระยะยาวทางคลินิก ในปัจจุบันยังไม่พบว่าการนอนไม่ยาว (Fractioned Sleep) จะส่งผลต่อความสูงสุดท้าย (Final Adult Height) แต่อย่างไร ยังใช้คำว่า “อาจจะ” หากนอนไม่พอติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยการนอนไม่เพียงพอ ในวัยเด็กจะสัมพันธ์กับความอ้วนและน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มากกว่า
ส่วนใหญ่ปัญหาการนอนของเด็กไม่ได้ทำให้เด็กนอนหลับไม่เพียงพอ เพราะปัญหาที่พ่อแม่เกือบทั้งหมดประสบ คือ ลูกร้องไห้กลางคืน ตื่นบ่อย แต่สามารถกลับไปนอนได้ด้วยเวลาไม่นานด้วยการเข้าเต้า ดื่มนม หรือการอุ้มของพ่อแม่ ดังนั้นจึงไม่ค่อยส่งผลให้อดนอนจนกระทบกับกิจวัตรและการเล่นในช่วงกลางวันนัก ส่วนใหญ่มักบอกว่า ตื่นมากินนมกลางคืน 2-3 ครั้ง ตอนช่วงกลางวันก็ร่าเริงดี เล่นได้ดี กินได้ดี แบบนี้ก็ไม่น่ามีผลต่อการเจริญเติบโตในระยะสั้นและระยะยาวนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตามการที่ลูกสามารถนอนยาวได้ด้วยตนเองตั้งแต่วัยที่เหมาะสมก็น่าจะดีต่อคุณภาพการนอนของคนทั้งครอบครัว และทำให้ตื่นเช้ามาอย่างสดชื่นพร้อมกันทุกคน พ่อแม่พร้อมทำงาน ลูกพร้อมเล่นและเรียนรู้ไปด้วยกัน แล้ววิธีไหนล่ะที่หมอแนะนำในการสร้างสุขลักษณะที่ดีในการนอนที่เอื้อต่อการนอนยาวของลูกก่อนหน้าที่เราจะคิดมาฝึกลูกให้นอนยาวกัน เพราะบางทีเราอาจไม่ต้อง ‘ฝึก’ ลูกให้นอนยาวก็ได้